‘อินเดีย’ Go Green! เตรียมแบน ‘พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ ในปีหน้า หวังแก้ปัญหามลพิษ

หลังจากมีมติในปี 2019 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกในประเทศ ในที่สุดรัฐบาลกลางของอินเดียก็เตรียมประกาศห้ามไม่ให้ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plasstic) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2022 โดยมาตรการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดมลภาวะ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าไม่ง่ายและอาจจะได้ผลมากพอ

อินเดียเตรียมแบนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาทิ ถุงหูหิ้ว, ถุงบรรจุภัณฑ์อาหาร ขวดและหลอดที่ใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง แต่นักวิเคราะห์มองว่า การบังคับใช้ จะเป็นกุญแจสำคัญ และมองว่าอินเดียยังต้องแก้ไข ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ เช่น นโยบายในการควบคุมการใช้พลาสติกทางเลือก, การปรับปรุงการรีไซเคิล และการจัดการการแยกขยะที่ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจจะได้ผลไม่ดีพอ

“พวกเขาต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบในพื้นที่เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตาม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการบังคับใช้การแจ้งเตือนนี้ทั่วทั้งอุตสาหกรรม” Swati Singh Sambyal ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะอิสระในนิวเดลีกล่าวกับ CNBC  

Anoop Srivastava ผู้อำนวยการ Foundation for Campaign Against Plastic Pollution องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อจัดการกับขยะพลาสติกในอินเดีย เปิดเผยว่า ขยะพลาสติกประมาณ 60% ในอินเดียถูกรวบรวมไปกำจัดหรือรีไซเคิล ส่วนอีก 40% หรือ 10,376 ตัน ยังคงไม่ถูกเก็บ

ประเทศต่าง ๆ รวมถึงอินเดียกำลังดำเนินการเพื่อลดการใช้พลาสติก โดยส่งเสริมการใช้วัสดุทางเลือกที่ย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ อาทิ ผู้ขายอาหาร เครือร้านอาหาร และธุรกิจในท้องถิ่นบางแห่งเริ่มนำ ช้อนส้อมที่ย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ มาใช้งาน หรือนำ ถุงผ้า มาใช้ แต่ในอินเดีย ยังไม่มีแนวทางสำหรับการใช้พลาสติกทดแทน และนั่นอาจเป็นปัญหาเมื่อการห้ามใช้พลาสติกมีผล

ดังนั้น อินเดียจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อส่งเสริมทางเลือกอื่น นอกจากนี้ กฎระเบียบใหม่ยังขาดแนวทางในการรีไซเคิล แม้ว่าขยะพลาสติกในอินเดียประมาณ 60% จะถูกนำไปรีไซเคิล แต่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าขยะพลาสติกที่มากเกินไปนั้นเกิดจากการ ‘ดาวน์ไซเคิล’ ซึ่งหมายถึง กระบวนการที่พลาสติกคุณภาพสูง ถูกรีไซเคิลเป็นพลาสติกใหม่ที่มีคุณภาพต่ำกว่าเดิม เช่น การเปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นโพลีเอสเตอร์สำหรับเสื้อผ้า

“ตามปกติแล้ว พลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 7-8 ครั้งก่อนที่จะส่งไปยังโรงเผาขยะ แต่ถ้าคุณดาวน์ไซเคิล พลาสติกที่ได้จะใช้ได้ 1-2 ครั้งก็ต้องกำจัดทิ้ง นอกจากนี้ การแยกขยะก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

นักสิ่งแวดล้อมมักเห็นพ้องกันว่าการห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งนั้นไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากความคิดริเริ่มอื่น ๆ ขณะที่ข้อบังคับของรัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการรวบรวมและรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น เช่น การควบคุมผู้ผลิตและขอให้พวกเขาทำเครื่องหมายประเภทของพลาสติกที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ควรลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางเลือกที่ใช้แทนพลาสติกด้วย

“อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่อ่อนไหวต่อราคา ซึ่งพลาสติกทางเลือกสามารถผลิตได้จำนวนมากและขายได้ในราคาที่เหมาะสม ในอดีตรัฐต่าง ๆ ของอินเดียได้ออกข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับถุงพลาสติกและช้อนส้อม แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้บังคับใช้อย่างเคร่งครัด”

อย่างไรก็ตาม การสั่งห้ามครั้งล่าสุดถือเป็นก้าวสำคัญสู่การต่อสู้ของอินเดียในการลดขยะทางทะเล และช่วยฟื้นฟูสภาพอากาศ และสอดคล้องกับวาระด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยอินเดียกำลังอยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงของปารีส และเสริมว่ามีความมุ่งมั่นที่จะลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 33% เป็น 35% ภายในปี 2030

Source