ไอบีเอ็มประกาศเดินหน้าพัฒนาทักษะ 30 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573

  • ประกาศ 170 ความร่วมมือและและโครงการใหม่ในกว่า 30 ประเทศทั่วทั้งอเมริกา เอเชียแปซิฟิค ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
  • ประกาศความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 4 แห่งในประเทศไทย

วันนี้ ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศความมุ่งมั่นและแผนสำคัญระดับโลกในการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับงานในอนาคตให้คน 30 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573 พร้อมประกาศโร้ดแมพที่ชัดเจนในการร่วมมือกับพันธมิตรภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมรายใหม่กว่า 170 รายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยไอบีเอ็มจะใช้ประโยชน์จากโครงการและแพลตฟอร์มด้านการพัฒนาคนสู่สายอาชีพที่มีอยู่ ในการขยายโอกาสการเข้าถึงการเรียนการสอนและตำแหน่งงานด้านเทคนิคที่กำลังเป็นที่ต้องการในตอนนี้

“ทาเลนท์มีอยู่ทุกที่ แต่ว่าโอกาสทางการศึกษาไม่ได้มีอยู่ในทุกที่” อาร์วินด์ กฤษณะ ซีอีโอ ของไอบีเอ็ม กล่าว “และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องเดินหน้าอย่างจริงจังและในสเกลที่ใหญ่ ในการขยายโอกาสการเข้าถึงทักษะดิจิทัลและการจ้างงาน เพื่อให้กลุ่มคนในวงกว้างสามารถได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครและมีพื้นเพอย่างไร วันนี้ไอบีเอ็มมุ่งมั่นที่จะมอบทักษะใหม่ๆ ให้คน 30 ล้านคนภายในปี 2573 เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคน ลดช่องว่างด้านทักษะที่กำลังเพิ่มขึ้นและมอบเครื่องมือที่จำเป็นให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของพวกเขาและของสังคมเรา”

ความยากลำบากในการหาคนที่มีทักษะเหมาะสมกับงานคือปัญหาที่นายจ้างทั่วโลกกำลังเผชิญ และสิ่งนี้กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจากข้อมูลของWorld Economic Forum (WEF) การปิดช่องว่างด้านทักษะทั่วโลกจะสามารถเพิ่ม GDP โลกได้ 11.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2571 โดย WEF ระบุว่า ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในด้านการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อให้ก้าวทันความต้องการของตลาด ความเปลี่ยนแปลงทางประชากรและความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่เดินหน้าไม่หยุดยั้ง

โครงการสำหรับทุกคน

โครงการด้านการศึกษาของไอบีเอ็มมีความเฉพาะตัวและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีรูปแบบที่หลากหลายและปรับได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นการสะท้อนความเข้าใจของไอบีเอ็มที่มองว่าแนวทางแบบ one size fits all หรือการใช้แนวทางเดียวกับทุกคน ไม่ใช่แนวทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ โครงการของไอบีเอ็มครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาด้านเทคนิคสำหรับเยาวชนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการฝึกงานและการฝึกทักษะในสถานที่ทำงาน ควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็ม รวมถึงการเปิดหลักสูตรออนไลน์ที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ และเข้าเรียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ไอบีเอ็มวางแผนที่จะมอบการศึกษาแก่คน 30 ล้านคนผ่านโครงการต่างๆ ที่มีความครอบคลุม รวมถึงผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานหลักของภาครัฐ (และหน่วยงานด้านการจ้างงาน) นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือไปยังองค์กรเอกชนโดยเฉพาะองค์กรที่มุ่งเน้นคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ด้อยโอกาสกลุ่มสตรี และกลุ่มทหารผ่านศึก โดยไอบีเอ็มได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องให้ภาคเอกชนทั่วโลก เปิดกว้างและขยายโอกาสให้กับคนกลุ่มน้อยและกลุ่มคนที่ขาดโอกาส

ในประเทศไทยไอบีเอ็มจะเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนพันธกิจของประเทศในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเชิงบูรณาการ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจโดยผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในโครงการ P-TECH ที่ใช้เวลาเรียนห้าปี ปัจจุบันได้มีความร่วมมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาแล้วสี่แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย และวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนในหลากหลายมิติ จากพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมการให้คำปรึกษาแนะนำการดูงานและการฝึกงานเชิงทักษะแบบได้รับค่าตอบแทน รวมถึงวิชาเรียนต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการเติบโตของผู้เรียน ทั้งในมุมวิชาการและมุมวิชาชีพ

“ไอบีเอ็ม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมของเรา อันประกอบด้วยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำงานร่วมกันภายใต้ความพยายามในการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ของประเทศ พร้อมยกระดับความเป็นเลิศทางวิชาการและเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนด้วยชุดทักษะที่จะเป็นที่ต้องการอนาคต” ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าว “เรามุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาเพื่อช่วยสร้างคนทำงานที่มีทักษะและพร้อมสนับสนุนก้าวย่างเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ”