ผิดคาด! อีคอมเมิร์ซปี 63 หดตัวกว่า 6% เหลือ 3.78 ล้านล้าน เหตุยอดจองที่พักหายกว่าครึ่ง

ในปี 2020 ที่การระบาดของ COVID-19 เริ่มระบาดใหม่ ๆ ทำให้ผู้คนต้องอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น กิจกรรมต่าง ๆ จึงเทมาทางออนไลน์โดยเฉพาะการซื้อของต่าง ๆ ทำให้หลายคนคาดว่าอีคอมเมิร์ซจะเติบโตกว่าปี 2019 แต่จากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า)​ พบว่าตลาดกลับหดตัว

ค้าปลีกโต แต่ที่พักหายเกือบครึ่ง

ปี 2020 มูลค่าอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลง -6.68% จากปี 2019 ที่มีมูลค่า 4.05 ล้านล้านบาท เพราะถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แต่เพราะการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมถึงมาตรการ Work from Home ได้สร้างผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างมาก

สำหรับมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่มีสัดส่วนรายอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่

  • อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 1,434,663.54 ล้านบาท (47.70%) +8.70%
  • อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่า 463,784.88 ล้านบาท (15.42%) -51.41%
  • อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า 460,36 ล้านบาท (15.30%) -5.02%

B2B ลด เพราะ ขายตรง ผู้บริโภค

มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ปี 2563 ยังคงมีมูลค่าสูงที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท (57.39%) ในขณะที่ B2B มีมูลค่าการขายออนไลน์เท่ากับ 0.84 ล้านล้านบาท (22.14%) และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท (20.47%) โดยสาเหตุที่ยอดขายออนไลน์ของผู้ประกอบการกลุ่ม B2B ลดลงเป็นอย่างมากในปีนี้ เกิดจากการที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการปรับตัวโดย ขายสินค้าและบริการกับผู้บริโภคโดยตรง (Direct to Customer)

ในส่วนของช่องทางการขายที่มีสุดส่วนมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ e-Tailer (39.5%) หรือการสร้างหน้าร้านบนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือแอป ตามด้วย Social Commerce (21.79%), ระบบ EDI (ระบบการแลกเปลี่ยนเอกสารทางธุรกิจระหว่างบริษัทคู่ค้า) (15.49%), e-Marketplace (13.24%), แพลตฟอร์ม OTA (online travel agent) (5.54%) และ อื่น ๆ (4.40%)

“ในช่วงโควิดการไป B2B มันยากมาก ผู้ประกอบการเลยต้องปรับตัวขายตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น จะเห็นว่าส่วนที่เติบโตสูงคือ e-Tailer โดยกลายเป็นสัดส่วนการขายมากที่สุด ส่วนโซเชียลคอมเมิร์ซก็สะท้อนภาพการเติบโตของ C2C”

64 ฟื้นไม่เท่า 62

มูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ หลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาด โดยมีมูลค่า 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 6.11% จากปี 2563 อย่างไรก็ตาม จะยังไม่สามารถแตะถึงระดับเดียวกับปี 2562 ที่มีมูลค่า 4.05 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมปี 2560 ถึง 2564 อยู่ที่ 9.79%

ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยยังคงครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกัน 6 ปีซ้อน โดยมีมูลค่า 55.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาเป็น มาเลเซีย 46.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อินโดนีเซีย 17.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนาม 10.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ 2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสิงคโปร์ 2.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Facebook ใช้ทำการตลาดเยอะสุด

อันดับแรกของสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ Facebook ครองตำแหน่งแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานมากที่สุดจากทั้ง SME และ องค์กรขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่สำคัญอันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

  • การเติบโตของแพลตฟอร์ม Ride-Hailing โดยเฉพาะการส่งอาหารและการสินค้าอุปโภคบริโภค
  • การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น
  • กลยุทธ์การส่งเสริมการขายสินค้าและบริการของแพลตฟอร์ม e-Marketplace ทั้งแคมเปญโปรโมชัน ส่วนลด จัดส่งฟรี รวมทั้งการใช้ข้อมูลลูกค้าบนแพลตฟอร์มให้เป็นประโยชน์
  • การขยายบริการใหม่ ๆ ของธุรกิจขนส่งสินค้า (Logistics) แบบครบวงจร รวมถึงบริการเกี่ยวกับคลังสินค้าและการจัดส่ง (Fulfilment)