ไม่ว่ายุคสมัยไหน “ทักษะการจัดการ หรือ Management Skill” ถือเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของนักธุรกิจ ผู้เป็นเจ้าของกิจการ ในการพลิกธุรกิจให้ปังและรอดท่ามกลางสนามการแข่งขันทางธุรกิจ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ พร้อมด้วยปัจจัยรายล้อม อาทิ ปัญหาทางสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาโรคระบาด ซึ่งถ้าผู้นำหาหนทางตั้งรับ หาวิธีแก้ไขสถานการณ์ไม่ทัน และไม่รู้หนทางในการนำกลยุทธ์ที่มีมาพัฒนาให้กลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ เพื่อแตกกรอบแนวทางเดิมๆ ที่เมื่อ 10 ปีก่อน วิธีนั้นอาจใช้อย่างมีประสิทธิผล แต่ปัจจุบันมีการเกิดขึ้นของสถานการณ์ครั้งใหญ่อย่าง การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ไม่เคยประสบและส่งผลกระทบหนักเป็นวงกว้างต่อธุรกิจหลายภาคส่วนทั่วโลก ดังนั้นการเติมทักษะการจัดการและวางกลยุทธ์ใหม่ๆ ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เพื่อให้ธุรกิจรอดและพร้อมปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาทักทายตลอดอย่างไร ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่บรรดานักบริหาร ผู้เป็นเจ้าของกิจการทั้งหลายต้องขบคิดอยู่เสมอ
วันนี้ถือเป็นโอกาสดี เมื่อ 3 ศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า จากรั้ว ซีเอ็มเอ็มยู หรือ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยที่ขึ้นชื่อด้านการจัดการ และได้รับรองมาตรฐานระดับสากล AACSB หรือ The Association to Advance Collegiate Schools of Business ที่มีมหาวิทยาลัยเพียง 5% ของโลกได้รับการรับรอง มาร่วมแชร์เคล็ดลับสร้างแรงบันดาลใจ ในการพลิกธุรกิจและการทำงานของตนฝ่าวิกฤตโควิด-19 ทั้งนี้ ไปร่วมฟังเรื่องราวจากศิษย์ ซีเอ็มเอ็มยู สาขาการจัดการและกลยุทธ์ และสาขาการจัดการธุรกิจ พร้อมกันเลย!
- ศิษย์ปัจจุบัน สาขาการจัดการและกลยุทธ์: สถาปนิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาแก่ธุรกิจหน่วยงานรัฐ-เอกชน ชู 2 หมัดเด็ดฮุกธุรกิจให้ไปต่อ “แยกปัญหาออกจากตัว-ถอดหัวโขนผู้บริหาร”
“ตุ้ม” ธีรพัฒน์ เจียระมั่นคง ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการโปรเจกต์แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน (Project Management Consultant) กล่าวว่า ผมสำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ เมื่อเริ่มทำงานในวงการสถาปนิกระยะหนึ่ง กลับพบว่าชอบงานขายมากกว่า จึงเบนเข็มมาทำงานสายการขายมาโดยตลอด เช่น ทำงานด้านการขายในบริษัท นิปปอนเพนต์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้จำหน่ายสีอุตสาหกรรม และบริการพ่นสี โดยผมทำหน้าที่ขายสีนิปปอนเพนท์ ขายอุปกรณ์ก่อสร้างให้กับสถาปนิก ด้วยความชอบการขาย การให้คำปรึกษาต่อลูกค้า และมองว่าทักษะการจัดการ การวางแผนกลยุทธ์สำคัญและสามารถนำมาพัฒนาการทำงานให้ทันกับสถานการณ์ต่างๆ และดีขึ้นกว่าเดิม จึงตัดสินใจเลือกศึกษาต่อปริญญาโท สาขาการจัดการและกลยุทธ์ (Management Strategy) ที่ซีเอ็มเอ็มยู เนื่องจากหลักสูตรตรงความต้องการและเนื้อหาการเรียนนำมาปฏิบัติงานได้จริง จึงเป็นจุดที่ทำให้ผมเดินหน้านำความรู้ขยายการทำงาน โดยเป็นที่ปรึกษา หรือ Consultant ให้แก่ธุรกิจหน่วยงานรัฐและเอกชน
ในการทำงานเป็นที่ปรึกษา ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกหน่วยงานที่ผ่านมาและมีระลอกใหม่เกิดขึ้นซัดธุรกิจ ซึ่งเป็นสถานการณ์หนักครั้งใหญ่ที่หลายธุรกิจไม่เคยประสบมาก่อน ในฐานะที่ปรึกษาก็รู้สึกเครียด เพราะว่ายอดขายทำได้ยาก และผู้บริหารหลายองค์กรก็อาจจะฟันธงใช้กลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งในการพลิกวิกฤตครั้งนี้ได้ยาก ดังนั้นประเด็นการให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหารทุกท่านที่ล้วนแบกความเครียดและความคิดว่าธุรกิจจะไปรอดอย่างไร ผมจึงมี 2 แนวทางที่เคยแนะนำแก่ผู้บริหาร มาแชร์ดังนี้
- “แยกปัญหาออกจากตัว”สละทิ้งความเครียด โดยส่วนใหญ่ผู้บริหาร 90% ประสบปัญหาเครียดทางด้านการเงิน จากนั้นจึงร่วมคุยกระบวนการวางแผนทางการเงิน (Financial Planning Process) ในระยะสั้น-ระยะยาว การบริหารการเงินเพื่อวางกลยุทธ์ใหม่ๆ พลิกธุรกิจ หรือการบริหารการเงินกับโครงการนำร่อง (Pilot Project) ที่มีอยู่ก่อนแล้วให้เกิดผลดีอย่างไร เมื่อผู้บริหารเห็นภาพเหล่านี้ก็จะเริ่มถอนตัวออกจากปัญหาที่ความเครียดบังตาไว้ได้ และหันมาพิจารณาการใช้ทักษะ และ กลยุทธ์ต่างๆ ในการพัฒนาธุรกิจแทน ซึ่งผู้ที่ทำธุรกิจมานานร่วม 10 ปีหรือมากกว่านั้น อาจจะติดกับดักพฤติกรรมเดิมที่เจาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่สถานการณ์โควิด-19 กลับมาเปลี่ยนทุกธุรกิจและพฤติกรรมผู้คนแตกต่างจากเดิม เช่น ทุกวันนี้ทุกคนเลือกสั่งแกร็บมาส่งอาหารแทนการออกไปซื้อข้าวนอกบ้าน เพราะฉะนั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่ที่ติดพฤติกรรมเดิมๆ โดยไม่ทันได้มองว่าลูกค้าของเรา มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปมากจนกระทั่งถ้าผู้บริหารไม่ขยับ ในระยะอันสั้นธุรกิจอาจจะโดน Disruption เลยก็ได้
- “ถอดหัวโขนผู้บริหาร” ผู้บริหารระดับสูง ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือผู้จัดการ มักพกหัวโขนของตำแหน่งนั้นๆ ติดตัวมาด้วย แท้จริงแล้วก็ดี แต่ว่าไม่ได้ดีในมุมมองของผู้ที่จะคิดกลยุทธ์ ดังนั้นการถอดหัวโขนออกจากตำแหน่งใหญ่ และสวมหัวโขนความเป็นลูกค้า100% ทำธุรกิจโดยการนึกถึงลูกค้าเป็นหลักหรือ Customer Centric ในการคิดแบบลูกค้า มองแบบลูกค้า ตัดสินใจแบบลูกค้า จ่ายเงินแบบที่ลูกค้าเป็น ในพฤติกรรมที่ลูกค้ายุคโควิด-19 นี้เขาน่าจะทำ จะทำให้สามารถคิดวิธีการและกลยุทธ์ตอบโจทย์ใหม่ๆ ที่จะตอบรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าได้ เช่น การขายเสื้อผ้าที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบหนักอย่างสำเพ็ง โบ๊เบ๊ แต่กลับมาพบว่าผู้ที่พลิกธุรกิจมาไลฟ์สดขายเสื้อผ้า สามารถทำยอดขายได้มากกว่าเดิม ขายได้วันละ 1,000-3,000 ตัว และรายจ่ายด้านสถานที่ก็ลดน้อยลง ดังนั้นจะเห็นว่าแม้การทำธุรกิจให้ปังและรอดในยุคโควิด-19 นั้นยาก แต่ถ้าคนที่สามารถทำได้จริงๆ จะพบว่าไม่เกี่ยวเลยว่าคุณจะเป็นปลาใหญ่ ปลาเล็ก หรือปลาขนาดไหน แต่ถ้าคุณเป็นปลาที่เข้าใจลูกค้า และสามารถตอบสนองลูกค้าได้ บางทีปลาใหญ่อาจจะขยับไม่ทันปลาเล็กอื่นๆ ก็ได้ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่เปิดให้เราพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้นได้เช่นกัน
“จริงๆ ผมเป็น Consultant ด้านธุรกิจสถาปนิก ก่อสร้างและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ของผมจะเป็นปรึกษาในลักษณะทำอย่างไรให้ยอดขายกลับมาพุ่งได้ เพราะโควิดกระทบหนักส่งผลให้ยอดตกลงมาอย่างมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มาปรึกษามักทำธุรกิจด้านก่อสร้างมายาวนาน และรูปแบบของลูกค้า ณ ปัจจุบันเปลี่ยนค่อนข้างรุนแรง ทั้งนี้ ผมทำงานด้าน Consultant มาประมาณ 1 ปีแล้ว โดยผมเรียนโทมาสองปี กำลังจะจบแล้ว ใน 1 ปีแรกที่เรียนโทยังทำงานอยู่ทิ่นิปปอนเพนท์ และเมื่อพบโอกาสจากการที่มีลูกค้าถามหา ให้ช่วยว่าจะต้องทำอย่างไรให้พี่ขายได้ จึงผัน
ตัวเองมาทำ Consultant อย่างจริงจัง”
- ศิษย์เก่า ‘รุ่นพี่-รุ่นน้อง’ สาขาการจัดการธุรกิจ: สู่คู่รัก ‘ศศิ – นุ’ เจ้าของเพจทราเวลดัง ‘ฉันกลัวที่แคบ’ ที่มียอดผู้ติดตาม 7 แสน เน้นทบทวนเลคเชอร์สมัยเรียน ทั้งปรับกลยุทธ์และจุดยืนเพจต่อเนื่อง แม้เผชิญ โควิด-19 พร้อมแนะเพจน้องใหม่หาคาแรคเตอร์ให้ชัด
“ศิ” ศศิวิไล โสภณวิมลสวัสดิ์ และ “นุ” ภณ วัฒน์วัฒน เจ้าของเพจ “ฉันกลัวที่แคบ” กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาการจัดการธุรกิจ ( Business Management ) ที่ ซีเอ็มเอ็มยู เกิดจากการต้องการต่อยอดความรู้ในสายอาชีพที่ทำอยู่ อีกทั้งต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โดย ‘ศิ’ ทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เป็นรุ่นน้องของ ‘นุ’ ทำงานเป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน เปิดบริษัทรับงานออกแบบฟรีแลนซ์กับเพื่อน และต้องการมีกระบวนการคิดที่มองภาพรวมธุรกิจเป็น เพื่อนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ โดยเฉพาะการวางเป้าหมายให้ชัด (Goal setting) และการวางกลยุทธ์การตลาด เพราะตนและเพื่อนจบสายสถาปัตยฯ ที่เรียนเฉพาะการออกแบบมาเท่านั้น
แม้ทั้งคู่มาจากคนละสายสู่การเรียนสาขาการจัดการธุรกิจ แต่ก็กลับพบว่าไม่เป็นอุปสรรคมากนัก ซึ่งช่วงแรกใช้เวลาปรับตัวค่อนข้างมากก็จริง เพราะเป็นเรื่องใหม่และบางรายวิชาค่อนข้างยาก แต่ก็เหมือนเป็นการเปิดโลกประสบการณ์ใหม่ๆ และอาจารย์ ซีเอ็มเอ็มยู มีความเอาใจใส่ มีทริคในการสอนหรือถ่ายทอดไอเดียในการทำการตลาดออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สนุก และไม่เกร็ง เช่น วิชาการตลาด (Marketing) ระบบการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) การบริหารวิกฤต (Crisis Management) ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาช่วงแรก ทั้งคู่ได้ลองวิชาด้วยการขายกระเป๋าผ้ามัดย้อม ทั้งในแบบกิจกรรมเปิดตลาดตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงเปิดตลาดออนไลน์ที่ขณะนั้นยังไม่โตมากนักด้วยการเปิดเพจท่องเที่ยวในชื่อ “ฉันกลัวที่แคบ” เพื่อโปรโมทและเพิ่มช่องทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระเป๋าผ้ามัดย้อม โดยจะนำกระเป๋าผ้าไปถ่ายรูปกับสถานที่ต่างๆ เนื่องจากมีไลฟ์สไตล์ชอบท่องเที่ยวด้วยกันทั้งคู่
ย้อนไปช่วงเวลานั้นยังไม่มีคำว่า บล็อกเกอร์ (Blogger) หรือการรีวิวสินค้า (Review) แต่เมื่อเปิดเพจได้ระยะหนึ่ง พบว่ามียอดผู้ติดตามและยอดไลก์ในเพจสูงถึงหลักหมื่น จึงทำให้คิดวิธีหารายได้จากการเปิดเพจควบคู่กับการขายของ และได้รับงานรีวิวผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกเป็นกล้องแบรนด์หนึ่งในที่สุด จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘ศิ’ ลาออกจากอาชีพพยาบาล และ ‘นุ’ ถอนตัวจากบริษัทที่ทำร่วมกับเพื่อน พร้อมทั้งถอนหุ้นออกมาลงทุนกับการทำเพจอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ตลอดการทำเพจมา 6-7 ปี ได้นำความรู้ที่ได้จาก ซีเอ็มเอ็มยู มาใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการตั้งเป้าหมายทุกๆ 3-6 เดือน มอนิเตอร์ยอดการมีส่วนร่วม (Engagement) ทุกๆ 1-2 เดือน รวมทั้งวิเคราะห์จุดยืน (Brand Positioning) การสร้างตัวตน (Brand Identity) ของเพจ เพื่อทบทวนกลยุทธ์การบริหาร การวางแผนหรือทำการตลาดออนไลน์ ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนทิศทางในการทำเพจว่าถูกต้องตามขั้นตอน หรือมีกระบวนการใดตกหล่นหรือไม่ เหล่านี้ก็ทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน เพจ “ฉันกลัวที่แคบ” ติด 1 ใน 20 ทราเวลบล็อกเกอร์ผู้หญิง โดยปัจจุบันมีเพจแนวการท่องเที่ยวเกิดขึ้นจำนวนมาก เพจจึงปรับรูปแบบจาก ‘ผู้หญิงคนเดียวพาท่องเที่ยว’ มาในรูปแบบ ‘แม่ลูกพาเที่ยว’ ผลิตคอนเทนต์ภาพรวมแนวอบอุ่น เนื่องจากทั้งคู่สร้างครอบครัวด้วยกัน และมีลูกชาย ‘น้องตะวัน’ มาเป็นโซ่ทองคล้องใจ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกเพจ และลูกเพจก็รู้สึกเสมือนเติบโตมาด้วยกัน
ทั้งนี้ เมื่อโควิด-19 เข้ามา ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงต้อง “คิดหาทางออกและต้องปรับตัว” ในการทำคอนเทนต์กันอย่างหนัก และหากกรณีที่สถานการณ์ไม่ดีขึ้นและต้องอยู่บ้านจะต้องทำคอนเทนต์หรือไปต่อในทิศทางใด ซึ่งสุดท้ายได้ข้อสรุปเป็น “คอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ประสาแม่ลูก” ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ติดต่อมาในช่วงวิกฤตนี้ แม้จะไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กโดยตรง แต่ลูกค้าก็ต้องการภาพให้น้องตะวันมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม ด้วยจุดเริ่มต้นของเพจเป็นสายท่องเที่ยว และ 80% ของลูกเพจที่เลือกติดตามเพราะคอนเทนต์ท่องเที่ยว การทำคอนเทนต์ในเพจ จึงยังคงความเป็นสายท่องเที่ยวควบคู่ไปกับงานรีวิวผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาลูกเพจสายท่องเที่ยวที่ได้ติดตามมาตั้งแต่แรก นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์การโพสต์คอนเทนต์อย่างน้อย 1 โพสต์ต่อวัน เพื่อให้ลูกเพจเห็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
“ต้องยอมรับว่า เพจฉันกลัวที่แคบ เติบโตและเป็นเช่นทุกวันนี้ได้เพราะได้รับความรู้จาก ซีเอ็มเอ็มยู ที่ลึกซึ้งเรื่องการบริหารการจัดการแบบครบวงจร ทั้งในสถานการณ์ก่อนหรือหลังโควิด-19 เรียกได้ว่า ในบางบริบทที่ไม่มั่นใจว่ามาถูกทางหรือไม่ ก็เอาเลคเชอร์นั่งอ่าน วิเคราะห์ตนเอง วิเคราะห์คู่แข่ง เรากับคู่แข่งเหมือนกันส่วนไหน ก็หาคาแรคเตอร์ของตัวเองให้ต่าง ถึงขั้นเอาโพสต์อิท (Post-It) มาแปะผนังเพื่อทบทวน Position ตัวเอง จากเดิมที่เป็น ‘ผู้หญิง-ท่องเที่ยว-ความสุข’ ปรับเป็น ‘ครอบครัว-ท่องเที่ยว-ความสุข’ ความรู้ที่ได้รับสามารถนำมาใช้ได้ทุกวัน ทุกครั้งที่เริ่มต้นก็กลับมาทบทวนตรงนี้ใหม่ เพราะ ‘ฉันกลัวที่แคบ’ ไม่ได้เป็นแค่เพจ แต่เป็นธุรกิจเป็นรายได้หลักของเรา”
ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือติดตามข้อมูลได้ที่เพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol (https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL)