สถานการณ์ของโควิด-19 ได้สร้างชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ขึ้นหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการเรียนออนไลน์ จากเดิมที่การเรียนการสอนเป็นแบบพบกันในห้องเรียน ต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนผ่านจอบนชั้นเรียนออนไลน์แทน แน่นอนว่านักเรียนต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ และได้ส่งเสียงสะท้อนถึงความท้าทายในการเรียนออนไลน์ออกมาอย่างหลากหลายในโซเชียลมีเดีย เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์ไอที ปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ต ขณะที่ห้องเรียนมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้มากกว่า ทั้งยังได้รับคำแนะนำจากครูผู้สอนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวิชาที่มีการฝึกปฏิบัติ จนมีกระแสเรียกร้องให้หยุดเรียนออนไลน์ 1 ปี รอให้สถานการณ์ดีขึ้นเพื่อพาเด็กกลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง แต่เพราะการศึกษาไม่สามารถหยุดได้ ทางออกของเรื่องนี้จึงอยู่ที่การจัดการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไรให้สามารถส่งเสริมและกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนให้ได้รับความรู้และทักษะทางอาชีพให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายของโครงการ STEM Career Academies ในการสร้างเยาวชนสู่การเป็นบุคลากรสายอาชีพที่มีคุณภาพภายใต้เงื่อนไขการเรียนในระบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน
แก้โจทย์เรียนออนไลน์
โครงการ STEM Career Academies หรือโครงการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเยาวชนที่ขาดโอกาสสู่การเป็นบุคลากรในสายอาชีพที่มีความรู้และทักษะสอดคล้องกับความต้องการในโลกปัจจุบัน อาทิ ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น เกษตรกรยุคใหม่ เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคง ก้าวหน้า ให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ภายใต้โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’
โครงการ STEM Career Academies ได้พัฒนารูปแบบให้เข้ากับยุค New Normal ตลอดจนแก้ไขข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ นำร่องที่การฝึกอบรมอาชีพเชฟ นักพัฒนาเว็บไซต์ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้วยการให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนออนไลน์แบบ Livestream และส่งเสริมทักษะอื่นๆ ไปด้วย เช่น ความพร้อมในการทำงานในยุคดิจิทัล ทักษะด้านการสื่อสาร การบริหารจัดการ การคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ ผู้เรียนจะมีโอกาสได้เรียนรู้กับเมนเทอร์หรือที่ปรึกษาซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานจริง มีการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เช่น มอบซิมโทรศัพท์เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง เครื่องครัวครบชุดเพื่อการทำอาหารทุกประเภท หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีที่จำเป็นสำหรับการเรียน เพื่อลดอุปสรรคเรื่องเครื่องมือ และปรับหลักสูตรการสอนเพื่อผู้เรียนและเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางการทำงานจริง
เสียงสะท้อนจากเยาวชน
บางคนอาจจะเริ่มขมวดคิ้วแล้วเกิดคำถามว่า การพัฒนาทักษะทางอาชีพผ่านระบบการเรียนแบบ Livestream จะสร้างความตื่นเต้นและทำให้ผู้เรียนเข้าใจ ได้ฝึกทักษะอาชีพ และมองเห็นอนาคตของตัวเองได้อย่างไร วรรธนัย ไกรเพ็ชร หรือ น้องเบส หนึ่งในผู้เรียนในสายวิชาชีพนักพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ในโครงการ STEM Career Academies เล่าให้ฟัง
วรรธนัย ไกรเพ็ชร ผู้เรียนในสายวิชาชีพนักพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์
“เมื่อก่อนผมเป็นคนไม่สนใจการเรียนในห้องเพราะรู้สึกเหมือนถูกละเลยจากครูผู้สอน ไม่กล้าตั้งคำถาม และไม่เห็นภาพว่าวิชาที่เรียนจะตอบโจทย์การทำงานในอนาคตอย่างไร แต่พอผมได้มีโอกาสเรียนคอร์สระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะในการทำงานด้านไอที แม้ว่าผมจะไม่ได้เรียนในห้องโดยตรง แต่ก็รู้สึกว่าการสอนในชั้นเรียนออนไลน์ทำให้ผมอยากเรียนรู้และสนุกกับการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นโครงการยังส่งอุปกรณ์การเรียนมาให้ผมครบถ้วน ระหว่างการสอนก็จะมีการฝึกให้ทำไปด้วย พอมีอะไรที่ผมทำไม่ได้หรือเริ่มมีปัญหา พี่ๆ เมนเทอร์จะคอยให้คำตอบและถ่ายทอดความรู้ตลอด แม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้ากัน สำหรับผม ผมรู้สึกกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ทักษะในการพัฒนาเว็บไซต์ก็ถูกพัฒนามากขึ้นจนทำให้ผมมั่นใจและสามารถมองเห็นเส้นทางอาชีพด้านไอทีชัดเจนยิ่งขึ้น”
นอกเหนือจากทักษะด้านไอที วงการนักรังสรรค์อาหารถือเป็นอีกหนึ่งการปรับตัวทางด้านการสอนที่ท้าทายทั้งเชฟรอนและเมนเทอร์ ที่จะออกแบบการเรียนให้ผู้เรียนฝึกมือได้อย่างไรให้ตรงจุดที่สุด
อิสกันดาร์ กูโน ผู้เรียนในสายวิชาชีพศิลปะการประกอบอาหารและโภชนาการเบื้องต้น
อิสกันดาร์ กูโน หรือ น้องดาร์ หนึ่งในผู้เรียนในสายวิชาชีพศิลปะการประกอบอาหารและโภชนาการเบื้องต้นในโครงการ STEM Career Academies บอกว่า “ก่อนที่ผมจะได้พัฒนาทักษะจากโครงการนี้ ผมเคยเรียนทำอาหารออนไลน์ แต่อุปสรรคการเรียนทั้งเรื่องอินเตอร์เน็ตและเครื่องครัวที่ไม่ครบถ้วน ทำให้ผมเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ ตั้งแต่เข้าโครงการ STEM Career Academies ผมได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์และการทำอาหารเป็นของคู่กัน พี่ๆ เมนเทอร์คอยสอนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบใหม่ๆ ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน ทางโครงการสนับสนุนทั้งเครื่องครัวทีครบถ้วน อินเตอร์เน็ตที่เร็วและแรง ทำให้ผมเข้าถึงทักษะต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว”
น้องดาร์ยังบอกอีกว่า “แม้ว่าการเรียนในโครงการจะถูกปรับให้เป็นแบบออนไลน์ที่เชฟผู้สอนไม่ได้ใกล้ชิดเรา แต่เทคนิคการสอนก็ช่วยให้ผมรู้สึกสบายใจและได้ความรู้อย่างเต็มเปี่ยม เปิดมุมมองที่ทำให้ผมรู้ว่าวิทยาศาสตร์กับการทำอาหารก็เป็นของคู่กัน และผมคิดว่าผมจะนำทักษะเหล่านี้ไปต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวในอนาคตอีกด้วยครับ”
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนสู่ระบบออนไลน์ เพื่อให้เยาวชนยังคงได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่อง โครงการ STEM Career Academies จึงต้องปรับวิธีการสอนสู่ระบบออนไลน์ โดยลดข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ต่างๆ ลงให้น้อยที่สุด รวมถึงเพิ่มความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคตเข้าไปในหลักสูตร เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมายในการ พัฒนาความรู้และทักษะอาชีพให้กับเด็กที่ขาดโอกาส ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้อย่างแท้จริง”
เกี่ยวกับโครงการ STEM Career Academies
โครงการ STEM Career Academies หรือโครงการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ เพื่อร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่ขาดโอกาส และพัฒนาพวกเขาให้เป็นบุคลากรคุณภาพที่พร้อมทั้งทักษะ ความรู้ คุณลักษณะและก้าวทันโลกอาชีพที่สอดรับกับกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และกลุ่มอาชีพที่ขาดแคลน โดยโครงการจะพัฒนาเยาวชนด้วยองค์ความรู้ที่บูรณาการทักษะสะเต็มทั้ง 4 สาขาอาชีพที่ขาดแคลน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างทักษะจำเป็นอื่นๆ เพื่อสร้างคนคุณภาพ และสร้างอาชีพที่มั่นคง ก้าวหน้า สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองให้ได้เร็วที่สุด ทั้งยังสร้างความมั่นคงให้กับเด็กนอกระบบการศึกษา เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งกลุ่มอาชีพที่โครงการ STEM Career Academies ให้ความสำคัญ ได้แก่ กลุ่มอาชีพที่สอดรับกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และกลุ่มอาชีพที่ขาดแคลน โดยกลุ่มอาชีพที่ขาดแคลนแบ่งเป็น 4 กลุ่ม เช่น ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบไปด้วยอาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ด้านคอมพิวเตอร์และไอที ประกอบไปด้วยอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน นักพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ ด้านการเกษตรยุคใหม่ และ ด้านการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา