บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าสานต่อความมุ่งมั่นสนับสนุนนักพัฒนานวัตกรรมและซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพของไทย จัดการแข่งขัน HUAWEI CLOUD Developer Contest ปีที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การสร้างสิ่งที่ดีให้แก่ประเทศไทยและสังคมไทย เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิม” สำหรับผู้เข้าแข่งขันทั้งระดับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ร่วมสร้างสรรค์แอปพลิเคชันและโซลูชันผ่านหัวเว่ย คลาวด์ เพื่อนำไปต่อยอดทั้งภาคธุรกิจและภาคสังคมในประเทศไทย โดยการแข่งขันดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘POWERING DIGITAL THAILAND 2022: HUAWEI CLOUD & CONNECT ASIA-PACIFIC INNOVATION DAY’ ซึ่งเป็นการจัดแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านดิจิทัล พร้อมการจัดแสดงกรณีศึกษาและโซลูชันที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หัวเว่ยขอแสดงความยินดีแก่ทีมผู้ชนะทุกท่านที่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มุ่งมั่นเติบโตในประเทศไทย และสนับสนุนประเทศไทย เราส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจสตาร์ทอัพและ SMEs ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะสตาร์ทอัพโดยมีผู้ที่มีทักษะด้านดิจิทัลเข้าร่วมกว่า 41,000 คน พร้อมเปิดตัวโครงการส่งเสริมความสามารถด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลาวด์ใน HUAWEI Spark Ignite ที่ไม่เพียงแต่มอบการสนับสนุนด้านเงินลงทุน แต่รวมถึงการสนับสนุนด้านแพลตฟอร์มและการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญของหัวเว่ย หัวเว่ยตระหนักดีว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหัวเว่ยเล็งเห็นถึงความสำคัญของอีโคซิสเต็มที่ช่วยบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ กลุ่มผู้ประกอบการ หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ซึ่งถือเป็นจุดประสงค์ของการจัดการแข่งขันนักพัฒนานวัตกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยหัวเว่ยหวังว่าประสบการณ์จากการแข่งขันนี้จะนำมาซึ่งความรู้ด้านเทคโนโลยี พร้อมมอบแรงบันดาลใจใหม่ ๆ สำหรับความสำเร็จในอนาคต ซึ่งหัวเว่ยมั่นใจว่าเราอาจจะได้เห็นธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นจากทีมผู้ชนะเหล่านี้อย่างแน่นอน”
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ กรรมการและเลขานุการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ให้เกียรติร่วมเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้แก่ทีมผู้ชนะกล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ขอแสดงความยินดีกับทีมผู้ชนะการแข่งขันทุกทีม ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation System) และเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ซึ่งช่วยยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศไทย โดยหากพิจารณาจากดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ประเทศไทยพัฒนาจากลำดับที่ 51 มาสู่ลำดับที่ 43 ภายในเวลาเพียง 3-4 ปี อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านดิจิทัลในดัชนีนวัตกรรมโลกชี้ให้เห็นว่าไทยยังคงต้องพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพในการสร้างสรรค์เนื้อหาเชิงดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัล ผมเชื่อว่าแนวคิดการจัดการแข่งขันครั้งนี้จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากลุ่มผู้เข้าแข่งขันทุกประเภท และเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการต่อยอดผลงานการสร้างสรรค์ ซึ่งหัวเว่ยจะยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องด้วย”
การแข่งขัน HUAWEI CLOUD Developer Contest จัดขึ้นเป็นปีที่สอง ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 50 ทีม โดยมีผู้ร่วมชมการแข่งขัน 500 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้เข้าแข่งขันได้พัฒนาและนำโซลูชันจากการให้บริการเทคโนโลยีคลาวด์ที่มอบประโยชน์แก่คนไทยและสังคมไทยมาใช้งานได้จริง แบ่งเป็นประเภทบุคคลทั่วไป ภายใต้หัวข้อการนำไปใช้งานในทุกรูปแบบ และประเภทนักศึกษา ในหัวข้อด้านการใช้ฐานข้อมูลแบบ RDS สำหรับระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (MySQL) โดยมีผู้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 11 ทีม โดยทีมผู้ชนะเลิศได้รับ Huawei MateBook 14S พร้อม HUAWEI CLOUD Credit ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับ Huawei MatePad Pro และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับ HUAWEI Watch 3 สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนักศึกษายังได้รับโอกาสในการเข้าร่วมโครงการฝึกงานกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย
การตัดสินรอบชิงชนะเลิศนั้นได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจและภาคการศึกษาร่วมเป็นคณะกรรมการ ประกอบด้วย ดร.วิวัต เรืองมี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด, ดร.จรัสพงศ์ โชติกวณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ทีทูพี จำกัด, คุณสิรพันธ์ สินเจิมสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ทรีนิตี้ รูทส์ จำกัด, คุณเจนวิทย์ จันทรโชติ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีของกลุ่มเทคโนโลยีธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBTG, นายอเล็กซ์ วินเทอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, ดร.ธนวิชญ์ อนุวงศ์พินิจ อาจารย์หลักสูตรวิศวกรรมระบบ IoT และสารสนเทศ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และคุณมณเฑียร สมพูลสวัสดี รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศนั้นครอบคลุมการใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการด้านสุขภาพ อาทิ ระบบบริหารจัดการการตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ด้วย QR Code, แพลตฟอร์มที่ให้บริการช่วยนำทางไปยังโรงพยาบาลและภายในโรงพยาบาล รวมถึงติดตามขั้นตอนการรักษาจนจบขั้นตอนการรักษา และแพลตฟอร์มที่ช่วยในเรื่องการยศาสตร์ (Ergonomic) เพื่อแก้ปัญหาอาการ Office Syndrome ด้านการเกษตร อาทิ การใช้เทคโนโลยี AI คลาวด์ และ IoT ในการนับจำนวนและติดตามไข่ในฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ด้านชีวิตประจำวันและการประกอบธุรกิจ อาทิ การนำเทคโนโลยีช่วยค้นหาเส้นทางหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก และด้านการคมนาคม อาทิ การใช้เทคโนโลยีเพื่อระบุจุดเกิดเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ บนแผนที่ เช่น พื้นผิวถนนที่มีสภาพไม่ปกติและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไข
สำหรับทีมชนะเลิศประเภทนักศึกษาเป็นของทีม Egg E Egg จากภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในโครงการพัฒนาระบบการนับจำนวนไข่และแพลตฟอร์มการติดตามในอุตสาหกรรมไก่ เป็นการพัฒนาการให้บริการแบบ one-stop-service ที่ทำได้ตั้งแต่การนับจำนวน การวิเคราะห์ และการติดตาม ด้วยระบบประมวลผลคลาวด์ เพื่อให้ผู้ผลิตคาดการณ์ความต้องการของตลาดไข่ไก่ได้ พร้อมทั้งป้องกันการสูญเสียจากกระบวนการผลิต รวมถึงการนำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น
สำหรับประเภทบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศเป็นของทีม AnnDev ซึ่งร่วมกันพัฒนา ATKadmin.com ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการเข้าตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ด้วย QR Code โดยนำเทคโนโลยี ID Card และ Passport OCR จากหัวเว่ย คลาวด์มาใช้ รองรับการอ่านบัตรประชาชนและหนังสือเดินทางของทุกประเทศทั่วโลก นวัตกรรมดังกล่าวช่วยให้ผู้ใช้สามารถเก็บข้อมูลผู้มาตรวจ บันทึกผลตรวจ และออกรายงานได้ทันที นำไปสู่การขยายขีดความสามารถในการให้บริการด้านการตรวจคัดกรอง ปัจจุบัน ระบบ ATKadmin.com มีผู้ใช้บริการแล้ว โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครใช้บริการระบบเพื่อนำไปใช้กับลูกค้า หรือผู้เข้ารับการตรวจในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์กรเอกชน หน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน โรงแรม โรงงาน สถานที่จัดงานต่าง ๆ ได้ทันที
การแข่งขัน HUAWEI CLOUD Developer Contest นี้ถือเป็นกิจกรรมสำคัญส่งท้ายการจัดงาน POWERING DIGITAL THAILAND 2022: HUAWEI CLOUD & CONNECT ASIA-PACIFIC INNOVATION DAY ซึ่งบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับบริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) และพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมไอซีทีอีกกว่า 50 รายทั่วไทย ด้วยเป้าหมายที่จะเปิดโอกาสการพัฒนาศักยภาพใหม่ทางธุรกิจ ฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยียุคดิจิทัล พร้อมตอกย้ำถึงจุดยืนของหัวเว่ยที่ยังคงเชื่อมั่นในประเทศไทยอีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะผลักดันภูมิภาคอาเซียนให้มุ่งสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
โดยในช่วงเวลา 3 วันของการจัดงานครั้งนี้เกิดจากการร่วมมือจัดแสดงนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ระหว่างหัวเว่ยกับพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยอีกกว่า 50 ราย ในห้องจัดแสดงที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 2,600 ตารางเมตร ประกอบด้วยบูธจัดแสดงกว่า 61 บูธ ครอบคลุม 10 ภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้าเยี่ยมชมงานมากกว่า 4,000 คน พร้อมกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ อีกกว่า 800 คน เฉพาะในวันแรก มีผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นกล่าวภายในงานพร้อมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ด้านนวัตกรรมดิจิทัลทั้งหมด 25 คน โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์กว่า 10,000 คน