บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) มั่นใจโค้งสุดท้ายธุรกิจเติบโตแข็งแกร่ง ได้แรงหนุนจากธุรกิจสาธารณูปโภค-ไฟฟ้า ทั้งในประเทศ และ เวียดนาม ขยายตัวอย่างโดดเด่น พร้อมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมโซลูชันพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม มั่นใจ Solar Rooftop ส่อแววทะลุเป้าที่วางไว้ 90 MW จากปัจจุบันมีสัญญาอยู่ในมือแล้ว 85 MW
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ว่า แนวโน้มผลการดำเนินงาน มีการเติบโตที่ดีขึ้น จากการขยายตัวของการให้บริการด้านสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย ทั้ง 11 แห่ง และเวียดนาม 1 แห่ง ประกอบด้วย 2 ธุรกิจ
ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) ภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภคทั้งในประเทศ และในเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการขยายกำลังการผลิต และลูกค้ารายใหม่จากกลุ่มโรงไฟฟ้าและปิโตรเคมี รวมถึงการกลับมาดำเนินงานตามปกติของกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมฯ
พร้อมทั้งบริษัทมุ่งเน้นการให้ผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) จากการนำน้ำเสียที่ได้จากกระบวนการบำบัดและใช้ใหม่ (Wastewater Reclamation) ไปผลิตและเพิ่มมูลค่าเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water)ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาหลากหลายโครงการ อาทิ โรงบำบัดน้ำแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (WHA RY36) กำลังการผลิต 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โครงการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุสำหรับจำหน่ายแก่ลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และโครงการแหล่งน้ำดิบทางเลือก กำลังการผลิต 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ส่วนการให้บริการด้านสาธารณูปโภคในเวียดนาม ยังคงมียอดการจำหน่ายน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโครงการดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) และบริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย (Cua Lo Water Supply) ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ- 1 เหงะอาน ที่มีการก่อสร้างเพื่อขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และอยู่ระหว่างการดำเนินการวางท่อเพิ่มเติมเพื่อขยายเขตการให้บริการและรองรับปริมาณการใช้น้ำประปาที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของประชากร
ธุรกิจไฟฟ้า คาดว่ามีการเติบโตต่อเนื่องจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 แห่งที่ และกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP ผลการดำเนินงานฟื้นตัวจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติของโรงไฟฟ้า Gheco-One หลังจากที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้กลับมาดำเนินงานตามปกติในไตรมาส 4/2564 และยังมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการ Prinx Chengshan ขนาด 19 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดเมกะวัตต์สูงที่สุดที่บริษัทฯ เคยติดตั้งมา ส่งผลให้มียอดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 แล้วทั้งสิ้น 85 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าทั้งปี ที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ จึงทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์สูงกว่าเป้าปี 2564 ที่วางไว้
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานวัตกรรมโซลูชันพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การร่วมมือกับ บมจ.ปตท. และบริษัท เซอร์ทิส เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะเพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ได้แก่ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ERC Sandbox)
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมีการทดสอบการนำระบบกักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) มาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเชื่อว่านวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะสร้างโอกาสในการขยายกำลังการผลิตในส่วนของ Renewable Energy และ Business Model ใหม่ให้กับบริษัทฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค