เอ็มดีเวอร์ชั่นใหม่ “ไมโครซอฟท์”

ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงเก้าอี้ “เอ็มดี” ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย อีกครั้ง หลังจากปฐมา จันทรักษ์ เอ็มดีสาว ซึ่งนั่งเก้าอี้นี้มาได้ 4 ปีเต็ม ตัดสินใจตอบรับกลับไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ สหรัฐอเมริกา จึงต้องเฟ้นหาเอ็มดีคนใหม่ ที่ต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเต็ม จนมาลงตัวที่ พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา มือการตลาดที่เคยผ่านงานระดับโกบอลแบรนด์

พีรธน เคยผ่านงานทั้งใน ฟิลลิป มอริส มาถึง 7 ปี จากนั้นก็ย้ายไปร่วมงานโคคา-โคล่า ประเทศญี่ปุ่น 3 ปี ส่วนประสบการณ์ในโลกดิจิทัล วอลท์ ดิสนีย์เป็นไปอย่างน่าสนใจ เขาเคยบุกเบิกแผนกอินเทอร์เน็ตให้กับวอลท์ ดิสนีย์ รวมถึงการขยายธุรกิจวอลท์ ดิสนีย์มายังภูมิภาคเอเชีย ตั้งสำนักงานในกรุงโตเกียว โซล ฮ่องกง ไทเป สิงคโปร์ รวมถึงไทย ยังเป็นที่ปรึกษาธุรกิจดิจิทัลให้กับ โนเกีย เอเซีย แปซิฟิก เอ็นทีที โดโคโม โอกิลวี่ และแมคโดนัล ในญี่ปุ่น

ปฐมา ซึ่งอยู่ในทีมคัดเลือกเอ็มดีคนใหม่ บอกว่า ประสบการณ์ทำงานในองค์กรข้ามชาติ เป็นจุดเด่นแรของผู้นำในไมโครซอฟท์ ที่ต้องบริหารพนักงานซึ่งมีความหลากหลาย ส่วนความรู้เรื่องการตลาดและออนไลน์ รับมือกับการแข่งขันจากคู่แข่งที่มีทุกระดับ เข้าใจความต้องการและปัญหาของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ถ้าดูทิศทางของไมโครซอฟท์นับจากนี้ มีโจทย์ใหญ่รออยู่ ในการวางตลาดสินค้า ทั้งซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นใหม่ๆ ระบบอีคอมเมิร์ซและระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการใช้งานไอที และเป็นทั้งความหวังและความท้าทายที่ต้องแจ้งเกิดตลาดนี้โดยเร็ว

ถึงแม้ไมโครซอฟท์จะยึดหัวหาดลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ และขนาดเล็กไว้ได้ แต่ก็มีคู่แข่งที่พร้อมประกบรอบด้าน การตลาดยุคนี้จึงต้องอาศัยทั้งความและการสร้างความมั่นใจ ที่คู่ค้าและลูกค้ามีต่อสินค้าของไมโครซอฟท์จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเกิดผลชัดเจน

คอนซูเมอร์โปรดักต์ ก็เป็นอีกตลาดที่ท้าทายไมโครซอฟท์เช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ไมโครซอฟท์ก็เพิ่งไปจับมือกับโนเกีย ทั้งคู่หวังว่าวินโดว์โมบายของไมโครซอฟท์จะช่วยต่อกรในศึกสมาร์ทโฟน ที่กำลังเจอศึกรอบด้านทั้งไอโฟน รวมถึงคู่แข่งที่มาแรงอย่างกูเกิล ที่ได้พัฒนาแอนดรอยด์ ระบบปฏิบัติการ ซึ่งได้การตอบรับอย่างดีจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และเน็ตบุ๊ก และยังมีกูเกิลโครห์ม ที่ออกมาซดหมัดกับไออีของไมโครซอฟท์ ส่วนตลาดแท็บเล็ตมาแรง ทำท่าว่าจะตีกินตลาดพีซีและโน้ตบุ๊กไปบางส่วน

โจทย์ใหญ่แบบนี้ ต้องได้ผู้นำองค์กรที่ไม่ติดกรอบธุรกิจซอฟต์แวร์แบบเดิมๆ เพื่อสร้างมุมมอง และโอกาสใหม่ๆ มาเสริมให้กับทีมงานเดิมชำนาญเรื่องเทคโนโลยี เข้าความต้องการผู้บริโภค และข้อเสนอทางการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ดียิ่งขึ้น

ไม่ใช่แค่สำนักงานในไทยเท่านั้น ที่เปิดรับเอ็มดีเวอร์ชั่นใหม่ที่เป็น “คนนอก” สำนักงานในอินโดนีเซีย ก็รับเอ็มดี ไมโครซอฟท์ ประเทศอินโดนีเซีย มาจากโซนี่อีริคสัน ส่วนเอ็มดีไมโครซอฟท์เกาหลีมาจากยาฮู

“เป็นมุมมองของบริษัทที่จะนำบุคคลที่มีประสบการณ์ต่างๆ ทำงานกับทีมงานเดิมที่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยี เพื่อทำให้บริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

ส่วนปฐมานั้น หลังจากบินกลับไปทำงานที่เรดมอนด์ ซึ่งเธอบอกว่าอยู่ระหว่างเลือกว่าจะเลือกทำงานในส่วนไหน แต่ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานไหนก็ตาม เธอเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และเอ็มดีคนใหม่ ที่จะช่วยสานต่อธุรกิจไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และผลักดันให้ไมโครซอฟท์ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1ในภูมิภาคได้ไม่ยาก

กว่าจะเป็นเอ็มดีไมโครซอฟท์

  • ผ่านสัมภาษณ์ 9 ครั้ง จากผู้บริหารมาจากสำนักงานใหญ, ภูมิภาคเอเชีย และไทย
  • เดินทางไปอาฟริกาใต้ 2 สัปดาห์
  • เดินทางไปสิงคโปร์รับทราบแนวทาง ก่อนกลับมาเปิดตัวสื่อมวลชน
  • ใช้เวลาสองสัปดาห์พบปะคู่ค้า และลูกค้าในไทย
  • จากนั้นในที่ 9 เมษายนออกเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานใหญ่ เมืองเรดมอนด์ สหรัฐอเมริกา ต้องใช้เวลา 4 วันเต็ม ร่วมประชุมกับ Country Manager 9 ประเทศเอเชียแปซิฟิก รับฟังนโยบายภาพรวม เพื่อนำกลับมาปรับใช้กับประเทศไทย
  • การนั่งตำแหน่งเอ็มดีไม่มีช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทแม่
สัดส่วนรายได้ในไทย
องค์กรขนาดใหญ่ 17%
โออีเอ็ม (ขายให้ผู้ผลิตพีซี) 20%
คอนซูเมอร์โปรดักต์ 20%
SME 40%