คุยกับ RAVIPA แบรนด์จิวเวลรี่ สู่สร้อยข้อมือสายมู กับเงินลงทุน 10,000 บาท

พาไปพูดคุยกับ “ธนิสา วีระศักดิ์ศรี” หญิงสาววัย 29 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ RAVIPA เป็นที่รู้จักกันในฐานะกำไลสายมูที่โด่งดังในตอนนี้ แต่ที่จริงแล้วแบรนด์นี้ได้ก่อตั้งมา 9 ปีแล้ว เริ่มต้นจากแบรนด์จิวเวลรี่ สามารถจับเทรนด์มูเตลูได้ร่วมสมัย จนดีไซน์ออกมาเป็นสร้อยข้อมือศักดิ์สิทธิ์

เริ่มต้นจากจิวเวลรี่ สู่กำไลสายมู

การเติบโตของโซเชียลมีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่าน ทำให้เกิดแบรนด์ออนไลน์ขึ้นมามากมาย โดยที่บางแบรนด์ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็ยังได้ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือ การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน เพราะทุกแบรนด์ต่างมาแย่งพื้นที่บนโลกออนไลน์

ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับแบรนด์ RAVIPA (ระวิภา) มากขึ้น เพราะด้วยกระแสของ “มูเตลู” ที่นิยมมากขึ้นในไทย อีกทั้งวิกฤต COVID-19 ยิ่งทำให้คนไทยหาที่พึ่งทางจิตใจมากขึ้น

ravipa

หลายคนมากคิดว่า RAVIPA เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งแจ้งเกิด แต่จริงๆ แล้วแบรนด์นี้มีอายุได้ 9 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการเป็นแบรนด์จิวเวลรี่ เครื่องประดับต่างๆ ก่อตั้งโดย 2 พี่น้อง “ธนิสา วีระศักดิ์ศรี” และ “ระวิภา วีระศักดิ์ศรี” โดยที่ชื่อแบรนด์ RAVIPA ก็มาจากชื่อของผู้เป็นพี่ เป็นดีไซเนอร์ออกแบบเครื่องประดับ ส่วนธนิสา หรือ สา ดูแลด้านแบรนด์ และการตลาดเป็นหลัก

RAVIPA มีจุดเริ่มต้นจากการที่ ระวิภา (พี่สาว) เป็นนักออกแบบเครื่องประดับ ตอนนั้นมีแบรนด์ใหญ่ๆ จ้างออกแบบมากมาย ด้วยความที่ธนิสามีหัวการค้า เลยว่าคิดว่าทำไมไม่ทำเอง ไปทำธุรกิจให้คนอื่นทำไม เลยตกลงกับพี่สาวว่าให้ทางพี่ออกแบบอย่างเดียว ส่วนเธอดูแลเรื่องธุรกิจให้

จึงเกิดเป็นแบรนด์เครื่องประดับด้วยส่วนผสมที่ว่า “คนพี่รู้ว่าทำอย่างไรสวย ส่วนคนน้องจะรู้ว่าลูกค้าชอบแบบไหน” เป็นเครื่องประดับที่เน้น Every Look มีทั้งสร้อย แหวน ต่างหู กำไลข้อมือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือ ธนิสาบอกว่าตอนนั้นอยู่สมัยเรียนเห็นมีคู่รักวัยรุ่นเยอะ คิดว่าทำไมต้องรอให้ถึงงานหมั้น งานแต่งงานถึงจะมีแหวนคู่ เราต้องมีแหวนคู่กันเลย เลยออกแบบ “แหวนอินฟินิตี้” จนกลายเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์จนถึงทุกวันนี้

ธนิสาบอกว่าแหวนคู่อินฟินิตี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบรนด์มีกำไรต่อยอดแบรนด์จนถึงทุกวันนี้ จากนั้นมาคิดว่าวันวาเลนไทน์มีแค่ปีละครั้ง แล้วคนโสดมีมากกว่าคนมีคู่ เลยทำคอลเลกชั่นต่างหูมุกต่างๆ สามารถใส่เป็น Everyday Look ได้ ใส่ได้ทุกโอกาส “ผู้หญิง Working Women ต้องทำงาน เจอคนเยอะ ต้องสวยแต่ต้องถูกกาลเทศะ”

ธนิสาจบจากคณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนที่ชอบขายของตั้งแต่เด็กๆ ได้เริ่มสร้างแบรนด์ RAVIPA ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นปี 3 ตอนนั้นอายุ 20 ปี ด้วยงบลงทุนเริ่มต้น 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่ช่วงสมัยที่เฟซบุ๊ก อินสตาแกรมกำลังเริ่มมาใหม่ๆ ยุคที่แม่ค้าเริ่มขายของออนไลน์กัน จากนั้นก็ค่อยมีหน้าร้าน และขยับขยายธุรกิจเรื่อยๆ

“RAVIPA เริ่มต้นจากเป็นแบรนด์ออนไลน์เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ พอเริ่มขายออนไลน์ได้ หลังจากนั้นค่อยมีหน้าร้านเป็นเงินต่อเงิน ตอนนั้นเริ่มจากฝากขายที่สยามเซ็นเตอร์ ยังไม่มีพนักงานเป็นของตัวเอง พอมีกำไรมากขึ้นก็เก็บมาทำหน้าร้านของตัวเอง เปิดร้านแรกที่สยามพารากอน เป็นรูปแบบหัก GP เริ่มมีพนักงานขาย”

คอนเซ็ปต์ มูยังไงให้คนไม่รู้ว่ามู

RAVIPA เริ่มต้นมาจากแบรนด์จิวเวลรี่ แต่ไม่ผิดมากนักที่จะบอกว่าได้แจ้งเกิดจากคอลเลกชั่น “ระวิภา รีมายเดอร์” (RAVIPA Reminder) หรือสร้อยข้อมือศักดิ์สิทธิ์ ได้เริ่มออกตั้งแต่ปี 2562 จุดเด่นอยู่ที่เป็นสร้อยข้อมือ พร้อมกับจี้องค์เทพเจ้าต่างๆ ที่คนไทยต่างนับถืออยู่แล้ว เช่น พระตีมูรติ, เจ้าแม่กวนอิม, พระพิฆเนศ เป็นต้น

ravipa

คอลเลกชั่นนี้ธนิสามีส่วนร่วมในการออกแบบ เธอเล่าว่าปกติเป็นคนสายไหว้พระทำบุญอยู่แล้ว แล้วถ้าใส่สร้อยพระก็ดูไม่แมตช์กับเสื้อผ้าเท่าไหร่ อีกทั้งบางคนอาจจะมองว่าเล่นของหรือเปล่า จึงมีไอเดียที่ว่าอยากพกความโชคดีติดตัว เลยดีไซน์เป็นสร้อยข้อมือศักดิ์สิทธิ์มินิมัลที่ปลุกเสกด้วยพุทธคุณสายขาว มินิมัลชนิดที่ว่า “มูอย่างไรให้คนไม่รู้ว่ามู” ใส่เป็นแฟชั่นก็ได้ ใส่หลายองค์ก็ได้โดยคนไม่รู้สึกว่าเยอะ

สร้อยข้อมือนี้แบ่งเป็นคอลเลกชั่น 14 องค์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นองค์เทพที่เราเคารพนับถือ และ 10 องค์เทพเจ้าจีน ราคาเริ่มต้นที่ 1,890 บาท แต่ละคนสามารถเลือกบูชาตามเรื่องที่ต้องการเสริมได้ เช่น การงาน, ค้าขาย, ความรัก, โชคลาภ หรือสุขภาพ

ravipa

ปัจจุบัน “องค์พญานาคราช” ที่ช่วยเสริมเรื่องค้าขายเป็นรุ่นยอดนิยมสุด รองลงมาเป็น “พระตีมูรติ” ช่วยเสริมด้านความรักสำหรับคนโสด “เจ้าแม่กวนอิม” ช่วยเสริมเรื่องคนเมตตา เอ็นดู และ “พระสีวลี” ช่วยเสริมเรื่องโชคลาภ

“จุดเด่นของสร้อยข้อมือสายมูนี้ เราดีไซน์ตามถูกตามหลักโหราศาสตร์ ฮวงจุ้ย ดวงดาว สีต้องมงคล สวยแล้วต้องใส่ได้จริง ต้องเป็นจิวเวลรี่สำหรับทุกคน มองว่าจิวเวลรี่ไม่ใช่ลักชัวรี ทุกคนต้องใส่ได้ ไม่ใช่รอใส่แค่เฉพาะวันพิเศษเท่านั้น แต่ต้องใส่ได้ทุกโอกาส ใส่แล้วสวย และโชคดี”

แจ้งเกิดจากไวรัล และ “ลิซ่า”

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สร้อยข้อมือ RAVIPA ดังไปทั่วเมือง ก็คือกระแส “ปากต่อปาก” บางคนสวมใส่แล้วมีแฟน มีโชคลาภ หรือเสริมในสิ่งที่ต้องการได้ดี ก็แนะนำต่อคนอื่น อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ “ลิซ่า BLACKPINK” ได้สร้างกระแสไวรัล พร้อมกับ Influencer ในวงการ

“เราได้กระแสจากลิซ่าทำให้เกิดไวรัล เพราะแฟนคลับซื้อให้ลิซ่าใส่ รวมไปถึงคนทั่วไปบางคนใส่แล้วถูกสลากออมสิน เล่นหุ้น ได้แฟน ทำให้เกิดปากต่อปาก กลายเป็นว่าบางคนมองว่าลงทุน 1,890 บาทแล้วคุ้มค่า”

ที่ผ่านมาได้เห็นเหล่าคนดังทั่วทุกวงการที่ใส่สร้อยข้อมือศักดิ์สิทธิ์นี้ อาทิ แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์, เจนี่ อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชร, ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์, มิ้นต์ ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง, โบว์ เมลดา สุศรี, หมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์, กอล์ฟ พิชญะ นิธิไพศาลกุล, ไมค์ พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล และมินนี่ (G)I-DLE

วิวัฒนาการสายมู

ต้องบอกว่าในประเทศไทยมีสินค้ากลุ่มเครื่องประดับสายมูมายาวนานมากแล้ว สิ่งใดๆ รอบตัวสามารถโยงเข้าสายมูได้หมด แต่ที่เห็นมากสุดเห็นจะเป็นเครื่องประดับต่างๆ สร้อย กำไล แหวน เพราะค่อนข้างมีมูลค่า อีกทั้งยังสวมใส่เป็นเครื่องประดับได้

ก่อนหน้านี้ได้เคยมีกระแสเรื่องกำไลหินต่างๆ มาจนถึงกระแสของกำไลไลลา (Leila Amulets) เป็นกำไลหิน พร้อมกับตะกรุด ในช่วงนั้นไม่ว่าจะขยายสาขาที่ไหน ก็มีสายมูตามไปบูชาไม่ขาดสาย

ravipa

จะสังเกตได้ว่าในยุคหนึ่งกำไล หรือเครื่องประดับสายมูต่างๆ จะต้องมีเอกลักษณ์ หรือเห็นได้ชัด คนเห็นจะต้องรู้ว่าใส่ของแบรนด์นี้ๆ คนที่ศึกษาเรื่องพวกนี้ก็จะรู้ว่าคนนี้มูเรื่องอะไร แต่มาถึงยุคปัจจุบันที่อะไรๆ ล้วนมินิมัลไปหมด เทรนด์ของเครื่องประดับจะดีไซน์ให้เรียบง่าย ใส่ได้ทุกวัน เรามูอะไรคนอื่นก็ไม่รู้

ในประเด็นนี้ธนิสาได้ให้ความเห็นว่า “จริงๆ กำไลหินมงคลมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่เราดีไซน์ให้มินิมัลมากๆ เพราะอยากมูให้ไม่รู้ว่ามู เราเห็นว่ามีช่องว่างอยู่ พอเราใส่กำไลอันใหญ่ๆ มันดูเอะอะไปนิดนึง สมมติไปคุยงานแล้วคนเห็นว่าเราใส่อะไร ถ้าคนนั้นเขามีความรู้เขาจะรู้จุดอ่อนเราทันที เช่น คนนี้ขาดความรัก ขาดความมั่นใจ คนนี้จะมาเจรจา จะมาปิดจ็อบขายของ บางคนเห็นก็จะรู้สึก Negative กับอีกคนได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องมูเตลูอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของจิตวิทยาด้วย แต่สร้อยข้อมือของ RAVIPA เขาจะไม่รู้ว่าเราใส่องค์อะไร เป็นเหมือนเครื่องประดับชิ้นหนึ่งเลย”

COVID-19 ดันคนไทยมูมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดเครื่องประดับสายมูเตลูเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแรกเลยคือ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธที่เติบโตมากับการไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลายคนห้อยสร้อยพระ หรือพกเครื่องบูชาไว้กับตัวตั้งแต่เด็กๆ เรียกว่าสายมูเป็นพื้นฐานของคนไทยอยู่แล้ว

รวมไปถึงสถานการณ์ของ COVID-19 ทำให้คนไทยต้องการที่พึ่งทางจิตใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน การเงิน หรือการเยียวยาจิตใจ หลายคนมีสร้อยข้อมือไว้เพื่อความอุ่นใจ

ravipa

“ถ้ามองภาพรวมของตลาดเครื่องประดับของประเทศไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ หลายคนจะมองว่าเครื่องประดับเป็นของฟุ่มเฟือยที่ไม่อยากลงทุน ดังนั้นโจทย์ของเราคือต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตของผู้บริโภค จากของฟุ่มเฟือยให้กลายเป็นของจำเป็น และเป็นสิ่งที่ต้องใส่ติดตัว เราเลยตัดสินใจทำคอลเลกชั่นสร้อยข้อมือศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้กับทุกคน และยังคงไว้ซึ่งดีไซน์ที่สวยงาม สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันได้”

ขอโกอินเตอร์

ปัจจุบัน RAVIPA มีสาขาในห้างสรรพสินค้า ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลลาดพร้าว, เซ็นทรัลชิดลม, เซ็นทรัล อีสต์วิลล์, เกษร วิลเลจ, ดิเอ็มโพเรียม, แฟชั่นไอส์แลนด์ และ RAVIPA Flagship Store สวนหลวงสแควร์ ซ.จุฬา 16

ravipa

ทิศทางต่อไปของแบรนด์ ธนิสาอยากพาแบรนด์ไปโตที่ต่างประเทศ เริ่มมองตลาดในโซนเอเชียก่อน เพราะมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน นับถือองค์เทพองค์เดียวกัน พฤติกรรมสายมูไม่ต่างกันมากนัก

สุดท้ายแล้ว ธนิสามองความท้าทายกับการทำการตลาดกับความเชื่อว่า ต้องจริงใจ อย่าไปหลอกผู้บริโภค ไม่บอกให้คนงมงาย แต่เราเป็นสายทำบุญหมั่นสวดมนต์ ต้องซื่อสัตย์ ไม่โฆษณาชวนเชื่อ เราขายของมงคล ต้องทำตัวเป็นมงคล ที่สำคัญคือ แบรนด์เราดีไซน์จิลเวลรี่ให้ใส่ได้บ่อยๆ ใส่ได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่ใส่ถ่ายรูป แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจ ซื้อเป็นของขวัญให้คนพิเศษได้