เกาหลีใต้เตรียมทดสอบใช้ AI แกะรอยผู้ติดเชื้อ COVID-19

Photo : Shutterstock
เกาหลีใต้เตรียมเปิดตัวโครงการริเริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบจดจำใบหน้า และเครือข่ายกล้อง CCTV ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการทำเช่นนี้อาจเข้าข่ายละเมิดความเป็นส่วนตัว

โครงการทดลองที่ว่านี้จะเริ่มในเดือน ม.ค.ปีหน้าที่เมืองปูชอน (Bucheon) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดรอบๆ กรุงโซล โดยได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง

ในเอกสารความยาว 110 หน้ากระดาษที่ทางการเมืองปูชอนส่งไปยังกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) เกาหลีใต้ ระบบที่ว่านี้จะใช้อัลกอริทึมเอไอ และเทคโนโลยีจดจำใบหน้าวิเคราะห์ภาพที่ได้จากเครือข่ายกล้องวงจรปิดจำนวนกว่า 10,820 ตัว เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ที่ติด COVID-19 ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบุตัวผู้สัมผัสใกล้ชิด รวมถึงบอกได้ว่าคนเหล่านี้สวมใส่หน้ากากหรือไม่ด้วย

ทั้งนี้ วิทยาลัยกฎหมายโคลัมเบีย (Columbia Law School) ในรัฐนิวยอร์กได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลทั่วโลกเริ่มหันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และขยายขอบเขตอำนาจทางกฎหมายเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย อินเดีย โปแลนด์ ญี่ปุ่น รวมถึงหลายรัฐในสหรัฐฯ ที่มีการทดลอง หรือเริ่มนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ติดตามผู้ติดเชื้อโควิด

เจ้าหน้าที่ในเมืองปูชอนซึ่งมีประชากรราว 800,000 คน ระบุว่า ระบบนี้จะช่วยลดภาระให้แก่ทีมสอบสวนโรคซึ่งมีงานล้นมือ และช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำมากขึ้น

เกาหลีใต้มีระบบติดตามจัดการโรคระบาดที่ทั้งทันสมัยและเข้มข้นมาก โดยมีการรวบรวมทั้งข้อมูลบัตรเครดิต ตำแหน่งที่ตั้งจากโทรศัพท์มือถือและกล้องวงจรปิด รวมไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ แต่กระนั้นการติดตามผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ยังคงอาศัยแรงของเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค ซึ่งต้องทำงานแบบเปลี่ยนกะตลอด 24 ชั่วโมง

Photo : Shutterstock

จาง ด็อกชอน (Jang Deog-cheon) นายกเทศมนตรีเมืองปูชอน ชี้ว่า ระบบเอไอจะช่วยให้การติดตามผู้ป่วย COVID-19 ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

“บางครั้งเราต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อวิเคราะห์ภาพจากล้องวงจรปิดตัวเดียว หากนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้จะช่วยให้ได้ผลวิเคราะห์อย่างรวดเร็ว” จาง ทวีตข้อความ

ระบบที่ว่านี้ยังจะช่วยลดปัญหาให้แก่เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค ซึ่งมักเจอกับผู้ป่วยที่ไม่ยอมให้ข้อมูลตามความเป็นจริงว่าตนเองไปที่ไหน หรือทำอะไรมาบ้าง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีเกาหลีใต้ยืนยันว่า ยังไม่มีแผนที่จะขยายโปรเจกต์นี้ให้เป็นโครงการระดับชาติ และย้ำว่าระบบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยงานบางอย่าง ซึ่งโดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคจะต้องลงมือทำเองทั้งหมด

ระบบ AI ในเมืองปูชอนซึ่งได้รับงบสนับสนุนจากกระทรวง 1,600 ล้านวอน และงบประมาณส่วนท้องถิ่นอีก 500 ล้านวอน สามารถติดตามกลุ่มเป้าหมายได้สูงสุด 10 คนภายในเวลา 5-10 นาที ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องใช้เวลา 30 นาที-1 ชั่วโมงสำหรับการติดตามผู้ป่วย 1 คน

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะสนับสนุนระบบติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดที่เกาหลีใต้ใช้อยู่ แต่ก็มีนักสิทธิมนุษยชน และ ส.ส.บางคนแสดงความเป็นห่วงว่า รัฐบาลอาจนำฐานข้อมูลที่ได้ไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ในการควบคุมโรคระบาด

Photo : Shutterstock

“การที่รัฐบาลมีแผนทำตัวเป็นพี่ใหญ่โดยใช้สถานการณ์โควิดมาเป็นข้ออ้าง ถือเป็นแนวคิดแบบลัทธิรวบรวมอำนาจใหม่ (neo-totalitarian)” พัค แดชุล ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรค People Power Party ซึ่งเป็นผู้นำสำเนาเอกสารโครงการมามอบแก่รอยเตอร์ ระบุ

“การนำเงินภาษีมาใช้ติดตามและควบคุมบุคคลด้วยกล้อง CCTV โดยไม่ขอความเห็นชอบจากประชาชนก่อนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” พัค กล่าวย้ำ

เจ้าหน้าที่เมืองปูชอนออกมาแย้งในประเด็นนี้ว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัว เนื่องจากระบบจะเบลอใบหน้าของบุคคลที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย

ด้านสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลีใต้ (KDCA) ก็ยืนยันว่าการนำเทคโนโลยีแบบนี้มาใช้ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ตราบใดที่เป็นการใช้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายด้านการควบคุมและป้องกันโรค

Source