สรุปภาพรวม ‘สายเที่ยว’ ของชาว ‘Instagram’ พบ ‘คาเฟ่และธรรมชาติ’ หมุดหมายหลักที่อยากไป

เข้าสู่ช่วงท้ายของปี 2564 ธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมต่างก็เริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่บรรเทาลง โดยเฉพาะ การท่องเที่ยว ที่เริ่มฟื้นตัว โดย ไวซ์ไซท์ ได้สรุปข้อมูลภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยผ่าน “INDUSTRY INSIGHT บทวิเคราะห์พฤติกรรมนักเดินทางชาวไทยบน Instagram” โดยนำเสนอพฤติกรรม, โปรไฟล์, และความสนใจของกลุ่มคนที่ชอบท่องเที่ยวบนช่องทาง Instagram ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านข้อความ (social voice analysis) และรูปภาพ (image labeling)

10 เดือนผ่านไป คนบ่นอยากเที่ยวมากที่สุด

ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา คนไทยบ่นออกมามากถึง 600,000 ครั้ง โดยความเบื่อระลอกแรกเกิดขึ้นเมื่อล็อกดาวน์ประเทศ และระลอกสองจากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยกิจกรรมที่อยากทำมากที่สุดคือ เที่ยว ตามมาด้วยอยาก กิน, ช้อปปิ้ง, ออกกำลังกาย และดูหนัง

โดยจะเห็นว่าช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นชาวโซเชียลระบายออกมาผ่านแฮชแท็ก #เที่ยวทิพย์ หรือหาวิธีเติมเต็มจิตใจแบบอื่นด้วยการพักผ่อนเท่าที่ทำได้อย่าง Staycation การพักผ่อนใกล้บ้าน หรือเปลี่ยน Workation ด้วยการทำงานไปเที่ยวไป

ทั้งนี้ ปี 2564 ชาวโซเชียลคุยเรื่องเที่ยวมากกว่า 120,000 ข้อความต่อวัน ซึ่งเดือนกันยายนคือจุดเริ่มต้นในการฟื้นตัวของสถานการณ์ท่องเที่ยวในโซเชียลมีเดีย

Instagram เติบโตสูงสุด

เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นแล้ว นับว่า Instagram มีแนวโน้มเติบโตสูงสุด โดยจากปี 2563 จนถึงเดือนกันยายน เติบโตขึ้น +216% แม้จะมีช่วงลดลงบ้างเมื่อสถานการณ์ COVID-19 เริ่มไม่สู้ดี แต่เมื่อการท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาบูมอีกครั้งจากการเปิดประเทศ ชาวไอจีก็พร้อมตอบสนองทำให้การพูดคุยเรื่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป

แน่นอนว่า Instagram เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมในการลงรูปถ่าย เพื่อความสวยงาม ชาวไอจีถนัดในการหามุมสวยจากสถานที่ต่าง ๆ จนทำให้ทุกสถานที่ดูพิเศษ ทั้งจากเทคนิคการถ่ายภาพ การจัดมุม กล้องที่ดี หรือภาพสวย ๆ จากศิลปินและคนดังในโลกออนไลน์ ยิ่งดึงดูดให้คนคล้อยตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทั้งสวยงามน่าดึงดูด และมีอิทธิพลมากพอที่จะให้คนไปตามรอย

เชียงใหม่ครองแชมป์ จังหวัดที่ถูกพูดถึงมากที่สุด

3 เดือนก่อนเปิดประเทศ (เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน) จังหวัดที่ชาวไอจีพูดถึงมาก ที่สุดคือ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี นครราชสีมา และน่าน พวกเขาบ่นคิดถึงเชียงใหม่ ลงแคปชั่นอยากไปทะเล หรือลงรูปคาเฟ่บนเขา โดยภาพและเรื่องเก่า ๆ ถูกนำมาเล่าซ้ำในรูปแบบใหม่ เช่น เล่าถึงประสบการณ์ความสุขในอดีต หรือหยิบภาพวิว ธรรมชาติมาเป็นกำลังใจในการทำงาน #ธรรมชาติบำบัด

เมื่อเปิดประเทศนำร่องในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เกือบทุกจังหวัดจึงเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ชาวไอจีพูดถึง เชียงใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า ขณะที่ เชียงรายและน่านเพิ่มขึ้น 3 เท่า หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน หลายสถานที่ท่องเที่ยวเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เหล่า Part Time Traveler เตรียมออกเดินทางอีกครั้ง

ผู้หญิงโพสต์เรื่องเที่ยวมากที่สุด

คนที่โพสต์เรื่องเที่ยวส่วนใหญ่คือ ผู้หญิง โดยเฉพาะคนที่อายุ 18-24 ปี (33%) และ 25-34 ปี (32%) โดยผู้หญิงมีแนวโน้มโพสต์รูปภาพ ได้ตลอดทั้งวัน ต่างจากผู้ชายที่อาจโพสต์เป็นบางช่วงเวลา เช่นตอนเช้าหรือตอนเย็นไปเลย

  • กลุ่มวัยเรียน ในช่วงอายุน้อยกว่า 24 ปี ถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดในสายท่องเที่ยวบน Instagram พบว่ามักเดินทางท่องเที่ยวเน้นธรรมชาติ และคาเฟ่
  • กลุ่มวัยทำงาน ในช่วงอายุ 25-34 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (79%) มีแนวโน้มท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ให้ความสนใจกับเมนูอาหารมากกว่าการถ่ายภาพในคาเฟ่
  • กลุ่มวัยผู้ใหญ่ ในช่วงอายุมากกว่า 35 ปี มีแนวโน้มชอบไปวัดมากกว่ากลุ่มอื่น และสถานที่ไปอาจไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม

คาเฟ่และธรรมชาติจุดหมายท่องเที่ยว

คาเฟ่ ได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว และการไปคาเฟ่ ไม่ได้มีเพียงเพื่อลิ้มรสชา กาแฟ หากแต่เป็นการเสพบรรยากาศร้าน การไปคาเฟ่คือ ไลฟ์สไตล์สาย Cafe Hopping แสดงความเป็นตัวเองออกมาผ่านรูปถ่ายและแฮชแท็ก #cafehopping โดยคาเฟ่เป็นที่เที่ยวยอดนิยมของชาวไอจีมานานแล้ว รองจากทะเล และเป็นหนึ่งในจุด Check in และจุดหมายปลายทางเมื่อไปเยือนจังหวัดต่าง ๆ โดยจังหวัดยอดนิยมที่คนพูดถึงคู่กับคาเฟ่ ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, น่าน, พัทยา และ เขาใหญ่

เพราะทุกคนต้องการพักผ่อน และการหลบออกจากความวุ่นวายมา พึ่งธรรมชาติคือสิ่งที่หลายคนเลือกเพื่อบำบัดความเหนื่อยหน่าย โดยจะเห็นได้จาก #ธรรมชาติบำบัด ที่เติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า หลังจากเปิดประเทศเดือนตุลาคม รวมถึง ทะเล ภูเขา เดินป่า แค้มปิ้ง ที่เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน

และจากการวิเคราะห์รูปภาพ 40,000 รูปที่ถูกโพสต์บน Instagram ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน พบว่า 68% เป็นภาพถ่ายธรรมชาติมีส่วนประกอบของต้นไม้ และ 53% เป็นภาพถ่ายคน