อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน ตั้งเป้าสู่ ‘Carbon Neutrality’ ภายในปี 2030

Photo : Shutterstock
อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีน อย่างอาลีบาบาเดินหน้านโยบายด้านสิ่งเเวดล้อม ตั้งเป้าหมายสู่ ‘Carbon Neutrality’ หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้ได้ภายในปี 2030

โดยจะมีการลดปล่อยมลพิษจากการผลิตทั้งทางอาลีบาบา กรุ๊ป รวมไปถึงคู่ค้า ซัพพลายเออร์ต่างๆ ในห่วงโซอุปทานเเละเครือข่ายการขนส่ง

เเผนหลักๆ จะเเบ่งเป็น ‘Scope 1’ คือการลดการปล่อยมลพิษของบริษัทโดยตรง ส่วนแผน ‘Scope 2’ จะเป็นการลดการปล่อยมลพิษทางอ้อม ที่เกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อนของบริษัท

จากนั้นใน ‘Scope 3’ จะลดค่า Carbon Intensity (ปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากการใช้พลังงาน 1 หน่วย) ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน อย่างการขนส่ง ของเสียที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ให้เหลือ 50% ภายในปี 2030

นอกจากนี้ ยังให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมของธุรกิจทุกประเภท ลงราว 1.5 กิกะตัน ภายในปี 2035 อีกด้วย

เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว อาลีบาบาวางแผนจะใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานเเละมีประสิทธิภาพ เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และจะมีโครงการกำจัดคาร์บอนซึ่งเป็นกระบวนการที่จะสามารถดึงก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนออกมาจากชั้นบรรยากาศ

Daniel Zhang ประธานบริหารของอาลีบาบา กล่าวอีกว่า บริษัทพยายามจะขับเคลื่อนกิจกรรมและเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้ขายเเละหุ้นส่วนธุรกิจต่างๆ ของบริษัททั้งในประเทศจีนและทั่วโลก

ความเคลื่อนไหวนี้ เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศเมื่อปีที่เเล้วว่า จีนตั้งเป้าหมายที่จะเป็นประเทศ Carbon Neutrality ให้ได้ภายในปี 2060 ทำให้บริษัทใหญ่ในประเทศต้องร่างเเผนงานด้านสิ่งเเวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ‘net zero’ เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ง่ายนัก เพราะบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของจีนหลายบริษัท ก็ยังคงต้องพึ่งพาระบบการผลิตพลังงานจากถ่านหินในประเทศเป็นอย่างมาก เเละมีเพียงไม่กี่บริษัทที่เริ่มประกาศคำมั่นว่าจะเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน

ตามรายงานของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Greenpeace จัดอันดับให้บริษัท Tencent Holdings ผู้ให้บริการระบบคลาวด์เจ้าใหญ่ เป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพในแง่ของการใช้พลังงานจากแหล่งผลิตที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยมลพิษอย่างได้ผลที่สุดในจีน ตามมาด้วย Huawei Technologies เเละ Baidu Inc ส่วนอันดับสี่เป็นของ Alibaba (อาลีบาบา)

 

ที่มา : Reuters