กสิกรไทยจัดเต็ม! กิจกรรม AFTERKLASS เวิร์คช็อปส่งท้ายปลายปี ชวนนิวเจนร่วมคลาสออนไลน์ “ป้องกันและบรรเทาภาวะโลกรวนต้องทำยังไง AFTERKLASS มีคำตอบให้” หวังให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจปัญหาภาวะโลกรวน และความสามารถในการปรับตัวและวิธีการบรรเทาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง ดูแลโลกอย่างยั่งยืน
นายรวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสื่อสารและองค์การสัมพันธ์ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญผลกระทบจาก “ภาวะโลกรวน” ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจนส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นวาระเร่งด่วนของประชาคมโลกที่ร่วมกันพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกินกว่า 1.5-2 องศาเซลเซียส ด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ตามความตกลงปารีสและสำหรับประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065)
AFTERKLASS ซึ่งเป็นโครงการ CSR ของธนาคารกสิกรไทยเป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นให้ความรู้ทางการเงินแก่เยาวชนไทย อายุ 15-20 ปีเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ซึ่งเป็นภารกิจที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จำเป็นต้องเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการบรรเทาภาวะโลกรวนด้วยกันจึงได้จัดกิจกรรม “ป้องกันและบรรเทาภาวะโลกรวนต้องทำยังไง AFTERKLASS มีคำตอบให้” เวิร์คช็อปออนไลน์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาของธรรมชาติให้แก่เยาวชน สร้างความรู้ ความเข้าใจ และผลักดันให้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริงเพื่อการดูแลโลกอย่างยั่งยืน
น้องๆ ที่เข้าร่วมเวิร์คช็อปได้เรียนรู้จาก 2 วิทยากรผู้มีชื่อเสียงด้านสิ่งแวดล้อม ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ อาจารย์ต้อม น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานมูลนิธิโลกสีเขียว และคุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดง และผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) นอกจากนี้ยังเป็นทูตสันถวไมตรีประจำประเทศไทยคนแรกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (Thailand Goodwill Ambassador – UNEP) ตลอดกิจกรรม ทั้ง 2 กูรู ได้ถ่ายทอดความรู้อย่างลึกซึ้งถึงต้นตอและความสัมพันธ์ของปัญหาที่เชื่อมโยงกัน กระตุ้นจิตสำนึก และส่งต่อแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับนิวเจนผ่านการพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนชักชวนให้น้องๆ สร้างพันธสัญญาร่วมกันในการเริ่มลงมือทำเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวนสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ธนาคารกสิกรไทยมุ่งเน้นมาโดยตลอด
กิจกรรมของห้องเรียนโลกรวนใน 1 วันประกอบด้วย ภาวะโลกรวน 101 “โลกรวนจริงหรือหลอก” เนื้อหาเกี่ยวกับความหมายและสาเหตุของภาวะโลกรวนรวมไปถึงวิธีรับมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกรวน 102 “อากาศแปรปรวนจากเหนือลงใต้” ชวนวิเคราะห์เหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศและประสบการณ์ภาวะโลกรวนที่น้องๆ ต้องเผชิญรวมทั้งมีการระดมความคิดเรื่อง “โลกรวนแล้วจะอยู่ยังไงให้รอด” และปิดท้ายด้วยภาวะโลกรวน 103 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาภาวะโลกรวนผ่านการบรรเทาและการปรับวิธีการใช้ชีวิตรวมทั้งมีการสะท้อนความคิดจากห้องเรียน AFTERKLASS เพื่อร่วมให้คำมั่นสัญญาในการปรับตัวและบรรเทาวิกฤตภาวะโลกรวนผ่านการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยหลักพฤติกรรม 8R ในชีวิตประจำวันที่ง่ายและทุกคนสามารถทำได้จริง ด้วยการใช้กระดานออนไลน์ www.webwhiteboard.com เพื่อแชร์ออกไปและช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้กับคนอื่นๆ ในสังคมให้ตระหนักและตื่นตัวไปพร้อมกัน
นายรวี กล่าวว่า เวิร์คช็อปภาวะโลกรวนได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่จำนวนมากและมีเสียงตอบรับที่ดีสะท้อนความสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ AFTERKLASS มุ่งหวังไว้ในการเป็น Community ที่รวบรวมทุกความสนใจของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการเงิน การเรียน ความบันเทิง ไลฟ์สไตล์ เกม ไปจนถึงกิจกรรมเวิร์คช็อปให้ความรู้เพิ่มทักษะด้านต่างๆ ตลอดทั้งปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งการจัดแคมป์อบรมทักษะด้านธุรกิจ การเงิน การลงทุน ประจำปีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาชิกในเว็บไซต์กว่า 33,000 คน และมีสมาชิกผ่าน Social Media Platform อื่นๆ อีกกว่า 50,000 คนในปี 2565 ธนาคารกสิกรไทยจะยังคงเดินหน้าโครงการ AFTERKLASS อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่เยาวชนไทย พร้อมทั้งทักษะความรู้ใหม่ๆ ให้น้องๆ ก้าวทันความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกยุคใหม่ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป