นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า การจัดงานประชุมสัมมนานานาชาติ GMS LOGISTIC TOURISM MICE & TRADE FORUM 2021 ระหว่างวันที่ 27-28 ธันวาคม 2564 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ในครั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประชุมโลจิสติกส์ ด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและไมซ์ของประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) โดยสำหรับงานในปีนี้นั้น ได้ยกเอาประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือบนเส้นทางการเชื่อมโยง R3A อันประกอบด้วย ไทย ลาว และจีน มาเป็นประเด็นในการประชุมหารือ เพื่อสร้างเครือข่ายและแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไมซ์บนเส้นทางเชื่อมโยง R3A โดยภายในงานได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ใช้เวทีจับคู่ทางการค้า รองรับนักเดินทางไมซ์ หลังมีการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว ไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564
โดยการจัดงานในครั้งนี้ TCEB ได้ร่วมกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง สมาคมผู้ขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS – FRETA ประเทศไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมมือกันผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างบูรณาการบนเส้นทางการเชื่อมโยง R3A อันจะก่อให้เกิดการยกระดับการเชื่อมโยงการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ให้เกิดประสิทธิภาพร่วมกันสูงสุดบนเส้นทาง R3A หรือ เส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor) ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region) ซึ่งเชื่อมการขนส่งทางบกระหว่างนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน กับกรุงเทพฯ ของไทย ผ่าน 3 ประเทศคือ จีน-สปป. ลาว-ไทย รองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์แห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
โดยเชื่อมโยงการคมนาคมในกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขงนับเป็นโครงการบูรณาการเศรษฐกิจในระดับมหภาค ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและไมซ์ นับว่าเป็นโอกาสสูงมากที่ประเทศไทยจะมีช่องทาง โอกาสในการเปิดรับนักเดินทางกลุ่มนี้จากประเทศจีนตอนใต้ ที่จะเดินทางมาทางรถไฟ รถยนต์และเรือ เพื่อมายังจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือและอีสานของประเทศไทย ทำให้เส้นทางดังกล่าว ถือเป็นเส้นทางแห่งโอกาสและเส้นทางใหม่แห่งอนาคต ในการทำตลาดเพื่อรองรับนักเดินทางและนักธุรกิจไมซ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบ 1 Marketing 3 Destination
นางศุภวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนงานในการส่งเสริมกิจกรรมไมซ์บนเส้นทางเชื่อมโยง R3A ของ TCEB ในปี 2565 TCEB ได้ร่วมกับพันธมิตรเตรียมจัดทำแผนงานกรอบความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและไมซ์เชื่อมโยงเส้นทาง R3A เพื่อให้เกิดเป็นแนวทางและแผนดำเนินการสู่ภาคปฏิบัติ นำไปสู่การผลักดันให้เกิดการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมสินค้าและบริการบนพื้นที่ ผ่านกลไกการจัดงานแสดงสินค้า โดยการสนับสนุนงบประมาณจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม และบริการเด่นของพื้นที่
รวมถึงสนับสนุนการเดินทางของนักธุรกิจไมซ์จาก 3 ประเทศบนเส้นทาง R3A ส่งเสริมให้เกิดการสร้างการรับรู้ถึงสินค้าและบริการใหม่บนเส้นทางเชื่อมโยงเส้นทาง R3A ผ่านการจัดกิจกรรม FAM TRIP เพื่อนำเสนอและต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์บนเส้นทางสายไมซ์ โดยใช้องค์ประกอบ Thailand 7 MICE Magnificent Theme (7 Theme) เป็นกลไกเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ตลอดเส้นทางเชื่อมโยงของทั้ง 3 ประเทศ รวมถึงส่งเสริมและเปิดโอกาส ให้เกิดการเจรจาจับคู่ทางการค้าและเชื่อมโยงเครือข่ายด้านธุรกิจไมซ์ของผู้ประกอบการไมซ์ 3 ประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม MICE Business Roadshow R3A มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังผลักดันให้ภาคเอกชนและเครือข่ายในพื้นที่สร้างเครือข่าย เพื่อรวมตัวกันเสนอเป็นเจ้าภาพในการประมูลสิทธิ์ งาน International Meeting & Conference ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเด่นลงในพื้นที่อีกด้วย
ด้านนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ปี 2565 ยังต้องลุ้นต่อเนื่องว่าตลาดใหญ่อย่างประเทศจีนจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง โดยจากการได้ประสานงานพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศจีน ระบุว่าปัจจุบันประเทศจีนยังเลือกดำเนินนโยบาย “Zero Covid” อยู่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงระบาดซ้ำ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี 2565 จะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ จากการผ่อนคลายการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนการเตรียมความพร้อมรับนักเดินทางบนเส้นทางเชื่อมโยง R3A นั้น ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาเหมาะที่ผู้ประกอบการจะเร่งเตรียมความพร้อม เพราะหากจีนเปิดให้มีการเดินทางของนักเดินทางจีน ผู้ประกอบการจะได้พร้อมรับคลื่นนักเดินทาง ซึ่งแน่นนอนว่าจะมีนักเดินทางใช้เส้นทางดังกล่าวในการเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
สำหรับเส้นทาง R3A หรือ เส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor) เป็นทางหลวงนานาชาติที่เชื่อมโยงระหว่าง ไทย – ลาว – จีน ด้วยระยะทางประมาณ 1,240 กิโลเมตร จากเชียงรายสู่คุนหมิง เป็นเส้นทางที่สำคัญต่อทั้งภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว เชื่อมต่อผ่านจุดสำคัญของทั้ง 3 ประเทศ รวมถึงเป็นจุดเชื่อมต่อมายังภาคอีสานของไทย จากเวียงจันทร์ สู่จังหวัดหนองคาย ด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นความร่วมมือ 3 ประเทศ ระหว่างประเทศจีน ไทย และสปป.ลาว
ถนนเส้นนี้ถือเป็นเส้นทางสำคัญในการนำเข้า – ส่งออกสินค้าระหว่างไทยและจีน โดยสินค้าส่วนใหญ่ได้แก่ พืชผัก ผลไม้สด ผลไม้แช่เย็น-แช่แข็ง ผลไม้แปรรูป เครื่องเทศ สมุนไพร และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ มีจุดยุทธศาตร์สำคัญคือสินค้าทางการเกษตร พืชผักและผลไม้ นอกจากนี้ อีกหนึ่งบทบาทของเส้นทาง R3A ยังเป็นเสมือนเส้นทางเชื่อมต่อวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว เป็นเส้นทางที่เปิดโอกาสให้ไทยได้รับนักท่องเที่ยวจากจีนตอนใต้ ไปจนถึงโอกาสในการลงทุนธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ รวมถึงโอกาสในการต่อยอดการเดินทางจากจังหวัดหนองคาย มายังกรุงเทพฯ และพัทยา ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการติดต่อค้าขาย ลงทุน ทำธุรกิจ รวมถึงการร่วมประชุม สัมมนาทางการค้าต่างๆ ซึ่งจะสามารถสร้างเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของนักเดินทางได้อีกมหาศาล