เปิดผัง “สีลมเอจ” รีเทลใหม่กินเที่ยว 24 ชม. “สามย่านมิตรทาวน์” ลุ้นทราฟฟิกพุ่ง 7 หมื่นคน/วัน

สีลมเอจ
  • เฟรเซอร์สฯ เปิดผังพื้นที่รีเทลใหม่ในตึก “สีลมเอจ” ที่จะเปิดตัวปีนี้ มีโซนกินเที่ยว 24 ชม. รองรับบุคลากร รพ.จุฬา, ชาวสวนลุม, คนทำงาน-นักเที่ยวไนต์ไลฟ์
  • “สามย่านมิตรทาวน์” ทราฟฟิกกลับมาเป็นปกติแล้ว ลุ้นปีนี้ทราฟฟิกขึ้นถึงเฉลี่ย 70,000 คนต่อวัน หากโอมิครอนไม่ระบาดหนัก ปี 2565 เน้นชูคอนเซ็ปต์ “สามย่านเรียนทาวน์”
  • ชี้เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคเสาร์-อาทิตย์เข้าเมืองน้อยลง ศูนย์การค้ากลางเมืองต้องหาแม่เหล็กดึงดูด เรื่องฮิตมาไวไปไว อีเวนต์ต้องเร็ว

น้องใหม่ในสนามแข่งขันศูนย์การค้า แต่ประสบความสำเร็จจนต้องจับตามองการปั้นรีเทลแห่งต่อไป “ธีรนันท์ กรศรีทิพา” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) หรือ FPCT กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่รีเทลแห่งต่อไปของเฟรเซอร์สฯ บนตึก “สีลมเอจ” ที่กำลังรีโนเวตและเตรียมเปิดบริการเดือนกันยายนนี้

สีลมเอจเป็นโครงการมิกซ์ยูสอาคารสำนักงานกับรีเทล โดยส่วนรีเทลจะมีทั้งหมด 7 ชั้น พื้นที่เช่ารวม 10,000 ตร.ม. ถือว่าพื้นที่ไม่ใหญ่มาก แต่อยู่ในโลเคชั่นที่น่าสนใจ เพราะตึกนี้อยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลมตัดถนนพระราม 4 และเชื่อมต่อได้ทั้ง MRT สีลม กับ BTS ศาลาแดง ทำให้หลายคนจับตามองว่าพื้นที่รีเทลตึกสีลมเอจจะมาสร้างความคึกคักอย่างไร

สีลมเอจ

ธีรนันท์เปิดภาพแรกของผังรีเทลสีลมเอจ จะแบ่งพื้นที่ชั้นต่างๆ ดังนี้

ชั้น 9 : Over the Edge แหล่งร้านอาหาร hang out แบบกึ่งในร่มและกลางแจ้ง
ชั้น 4 : Hollistic Wellness สถานบริการด้านสุขภาพและเวลเนส
ชั้น 3 : Glow Up สถานบริการด้านความงาม
ชั้น 2 : (ชั้นทางเชื่อม BTS) Life and Tech ร้านด้านเทคโนโลยีและเครื่องใช้
ชั้น 1 : Bling-Bling แฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ
ชั้น G : All Day Eatery ร้านอาหาร 24 ชม.
ชั้น B1 : Hashery Hab ร้านอาหาร 24 ชม.

(*ชั้น 5-8 เป็นที่จอดรถ)

ธีรนันท์ระบุว่า catchment area ของสีลมเอจ ในช่วงวันธรรมดาจะมีคนในพื้นที่ประมาณ 700,000 คน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์มี 500,000 คน และกลุ่มคนในย่านนี้มีความหลากหลายมาก ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เปิดโซนร้านอาหารได้ 24 ชม. โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

  • คนทำงานออฟฟิศ เวลาที่น่าจะมาใช้บริการ 00-18.00 น.
  • บุคลากรการแพทย์ เวลาที่น่าจะมาใช้บริการ 00-18.00 น.
  • คนทำงาน-นักเที่ยวไนต์ไลฟ์ เวลาที่น่าจะมาใช้บริการ 00-05.00 น.
  • นักท่องเที่ยวทั่วไป เวลาที่น่าจะมาใช้บริการ 00-18.00 น.
  • ผู้มาออกกำลังกาย-พักผ่อนในสวนลุมพินี เวลาที่น่าจะมาใช้บริการ 00-08.00 น. และ 18.00-21.00 น.
สีลมเอจ
เป้าหมายของส่วนรีเทล “สีลมเอจ”

คอนเซ็ปต์ของสีลมเอจที่จะสร้างความต่างและล้อตามการเป็น “แซนด์บ็อกซ์” ของทั้งโครงการด้วยคือ ตึกนี้จะเป็น Rookie Paradise การวางสล็อตพื้นที่เช่าจะบอกราคาเช่าสุทธิที่ไม่ต้องคูณราคาเป็นตารางเมตรและไม่ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มอีก รวมถึงให้เช่าสั้นระยะ 1 ปี ไม่เหมือนกับศูนย์ฯ ปกติที่มักจะให้เซ็นสัญญา 3 ปี รวมถึงมีโซนที่เป็น semi-finish ให้ร้านค้าลงทุนน้อยลง เหมาะกับกลุ่มมือใหม่ที่ยังปั้นแบรนด์อยู่ มีโอกาสลงทุนที่เสี่ยงน้อยกว่า

สีลมเอจ
รูปเรนเดอร์ภายในส่วนรีเทลของสีลมเอจ

ด้วยเหตุนี้ สีลมเอจจะเน้นตามหาร้านค้าที่ไม่ใช่แบรนด์เชนใหญ่ๆ ต้องการให้มีร้านค้าทางเลือก เกิดความแปลกใหม่มากขึ้น

ธีรนันท์กล่าวว่า สัปดาห์หน้าบริษัทจะเริ่มลุยเปิดไซต์ให้ผู้ที่สนใจเช่าเข้ามาชมพื้นที่ โดยหลังเปิดบริการเดือนกันยายนนี้ คาดหวังมีทราฟฟิก 40,000 คนต่อวัน

 

“สามย่านมิตรทาวน์” ฟื้นแล้ว เข้าห้างเฉลี่ย 57,000 คนต่อวัน

ด้านรีเทลหลักอย่าง “สามย่านมิตรทาวน์” ธีรนันท์สรุปสถานการณ์ล่าสุดมีอัตราการเช่า 98% เมื่อปี 2564 มีร้านค้าใหม่ 27 ร้าน (มี 6 ร้านที่ยังอยู่ระหว่างตกแต่งขณะนี้) สะท้อนให้เห็นว่าผู้เช่ายังต้องการพื้นที่และยังเชื่อมั่นในศักยภาพของศูนย์ฯ

ด้านทราฟฟิกผู้ใช้บริการปี 2564 เฉลี่ย 57,000 คนต่อวัน ล่าสุดในช่วงปลายปีกลับมาเป็นปกติแล้ว แม้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังไม่เปิดเรียนแบบออนไซต์ และผู้ใช้บริการ MRT สถานีสามย่านยังมีทราฟฟิกที่ 95% ของช่วงปกติ ยังไม่กลับมาทั้งหมด

บรรยากาศส่งท้ายปีเก่า 2564 ที่สามย่านมิตรทาวน์

สำหรับปี 2565 มองว่าทีมงานได้ผ่านช่วงของการปรับตัวมาแล้ว ทำให้พร้อมรับทุกสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยหวังว่าหากการระบาดของไวรัสโรค COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่สาหัสถึงขั้นล็อกดาวน์ และตลอดปีนี้ไม่มีเหตุการณ์วิกฤตอีก เชื่อว่าการเพิ่มทราฟฟิกเป็นเฉลี่ย 70,000 คนต่อวันจะเป็นไปได้

กลยุทธ์ที่ใช้ในปีนี้ของสามย่านมิตรทาวน์ นอกจากการจัดอีเวนต์อย่างสม่ำเสมอ จะชูคอนเซ็ปต์ “สามย่านเรียนทาวน์” ให้เห็นชัดขึ้น โดยศูนย์ฯ ไม่ได้มีเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาเชิงวิชาการ แต่ยังมีสถาบันการเรียนการสอนในด้านอื่นที่นับเป็น ‘การเรียนรู้เสริมทักษะตลอดชีวิต’ ด้วย เช่น โรงเรียนสอนภาษา สอนตัดเย็บเสื้อผ้า สอนการเต้น

แคมเปญสามย่านเรียนทาวน์

 

ผู้บริโภค “ไม่เข้าเมือง” “เทรนด์ฮิตมาไวไปไว”

สำหรับเทรนด์รีเทลที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2564 และน่าจะต่อเนื่องไปในปี 2565 ธีรนันท์กล่าวถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ “ไม่นิยมเข้าเมือง” ในวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้บริโภคใช้ชีวิตใกล้บ้านในย่านชานเมือง ทำให้การ “แวะห้างฯ” กลางเมืองมีน้อยลง ดังนั้น สามย่านมิตรทาวน์และสีลมเอจที่จะเปิดปีนี้ จะต้องตีโจทย์ให้ผู้บริโภคตั้งใจเดินทางมาที่ศูนย์ฯ ช่วงวันหยุด

สิ่งที่สามย่านมิตรทาวน์ทำเพื่อตอบโจทย์นี้คือการจัดอีเวนต์ให้หลากหลาย ใช้พื้นที่ที่ปกติศูนย์ฯ จะจัดให้เป็นลานโปรโมชัน บางครั้งกลายเป็นอีเวนต์เพื่อให้ผู้บริโภคมา ‘สร้างคอนเทนต์’ ตั้งใจเดินทางมาถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคมาที่ศูนย์การค้าไม่ได้มาเพื่อช้อปปิ้งเท่านั้น แต่มาเพื่อหาประสบการณ์ใหม่

กิจกรรมจากธีมเรื่อง Squid Game

การจัดอีเวนต์เหล่านั้น นอกจากอีเวนต์ตามเทศกาล ยังต้องมีอีเวนต์ที่ทันต่อเหตุการณ์ และความเร็วการคิด-เตรียมงาน-จัดงานต้องเร็ว จบงานได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ เนื่องจากเทรนด์ยุคสมัยนี้มาไวและไปไวมาก ยกตัวอย่างอีเวนต์ที่จัดล้อตามธีมฮิตในช่วงนั้น เช่น ลูกชิ้นยืนกิน จากเทรนด์ลิซ่า BLACKPINK, Squid Game, Hometown Cha-cha-cha เป็นต้น

“คิดว่าปีนี้ถ้านักท่องเที่ยวกลับมาได้เต็มที่น่าจะเกิดความท้าทายใหม่ในธุรกิจศูนย์การค้า เพราะแต่ละเจ้าจะมีโจทย์ใหม่ให้ต้องดึงดูด จะดึงนักท่องเที่ยวแบบไหนเข้ามาหาตัวเอง เพราะนักท่องเที่ยวก็มีหลายแบบหลายกลุ่ม” ธีรนันท์กล่าว ทั้งนี้ สามย่านมิตรทาวน์นับว่าเป็นห้างฯ ที่เปิดมาเพียงไม่กี่เดือนก็เผชิญวิกฤต COVID-19 ทำให้ยังไม่เคยปักแลนด์มาร์กในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเลย การดึงนักท่องเที่ยวจึงนับเป็นความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้น