ต้องยอมรับว่า “AI & ROBOTICS HACKATHON 2021” นับเป็นอีกหนึ่งเวทีที่มีส่วนสำคัญในการช่วยองค์กรธุรกิจให้สามารถขจัด Pain Point ได้เป็นอย่างดี จากการรวมตัวของเหล่าโปรแกรมเมอร์ ที่มีหัวครีเอทีฟ สรรค์สร้างนวัตกรรม อีกทั้งยังมีแพชชันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผ่านการแท็กทีมระดมความคิดและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม (Prototype) หรือโซลูชัน (Solution) ที่สดใหม่ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังสามารถนำมาต่อยอดหรือปรับใช้ได้จริงในภาคธุรกิจ เรียกได้ว่า กว่าผู้เข้าแข่งขันกว่า 30 ทีม จะสามารถตกตะกอนทางความคิดและได้มาซึ่ง Business Model ที่น่าสนใจและพร้อมนำเสนอ (Pitching) ต่อหน้าคณะกรรมการนั้น เรียกได้ว่าผ่านกระบวนการคิด กันแบบหนักหน่วงเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับภาคเอกชนชั้นนำอย่าง บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (AI and Robotics Ventures (ARV)) ที่ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ในชื่อ “AI & ROBOTICS HACKATHON 2021” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีมนักพัฒนาที่อยากท้าทายตัวเองและสนใจเทคโนโลยี มาร่วมโชว์ศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาโซลูชันใหม่ ที่สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับโลกไซเบอร์ ปกป้องข้อมูล และแก้ไขช่องโหว่ของระบบที่มีในปัจจุบัน ตลอดจนผลักดันขีดความสามารถของเอไอเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในกลุ่มของ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. (PTTEP) ตามเจตนารมณ์ที่ได้จัดตั้งบริษัท เออาร์วี ขึ้นเพื่อผลักดันให้เป็นผู้นำธุรกิจด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เออาร์วี กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แม้จะเป็นการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ 100% ในระยะเวลาที่จำกัด สะท้อนให้เห็นได้จากเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ที่ต่างพยายามทำความเข้าใจในโจทย์การแข่งขัน ซึ่งในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างซับซ้อนและเฉพาะทาง โจทย์แรก ได้แก่ Cyber Security Track การยกระดับความสามารถและขีดจำกัดของ Digital Wallet ให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน และ โจทย์สอง Subsea Machine Learning Track ซึ่งเป็นการออกแบบ Machine Learning Model ให้มีความสามารถในการตรวจจับและแยกแยะวัตถุใต้ท้องทะเล โดยภาพรวมผู้เข้าแข่งขันสามารถนำเสนอโซลูชันใหม่ในทั้ง 2 โจทย์ได้อย่างตรงจุด
ด้าน คุณสินธู ศตวิริยะ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจ บริษัท เออาร์วี กล่าวถึงการแข่งขันในโจทย์ Cyber Security Track ว่า “ARV เล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจด้าน Cyber Security ที่ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดระดับโลกสูงกว่าแสนล้านเหรียญต่อปี ขณะที่ระดับภูมิภาคอาเซียน มีมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญต่อปี นอกจากนี้ ยังมีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่องมากกว่า 12% ต่อปี ซึ่งจากการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันสามารถยกระดับความปลอดภัยในการเข้าถึง Digital Wallet ได้อย่างเหนือชั้นและปลอดภัยยิ่งขึ้น ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น บล็อกเชน (Blockchain) ด้วยระบบการเก็บข้อมูลที่ไม่มีตัวกลาง และการใช้ ไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) ที่แสดงอัตลักษณ์รายบุคคล และ คริปโตกราฟี (Cryptography) มาเพิ่มความปลอดภัย ทำให้มีเพียงผู้ใช้งานเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดย ARV มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ไอเดียธุรกิจที่ผู้เข้าแข่งได้นำเสนอมานั้นสามารถต่อยอดได้จริง”
นอกจากนี้ คุณภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมถึงโจทย์ที่สองของ Subsea Machine Learning Track ว่า “ธุรกิจด้าน Subsea ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งทรัพยากรภาคพื้นน้ำที่ ปตท. สผ. ให้ความสำคัญและสนใจมากเป็นพิเศษอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่ง ARV ต้องการให้เทคโนโลยีหรือโซลูชันใหม่ เข้าไปประยุกต์ใช้ในการสำรวจแหล่งทรัพยากรภาคพื้นน้ำที่มีกว่า 71% ของโลก ทั้งแร่ธาตุ แก๊สธรรมชาติ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ดังนั้น ARV จึงมอบโจทย์ที่ท้าทายนี้ให้กับผู้เข้าแข่งขันในการคิดหาอัลกอริทึม (Algorithm) หรือกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่เพื่อให้แมชชีนมีความสามารถในการประมวลผลภาพ (Image Processing) ได้แม่นยำขึ้น ผ่านข้อจำกัดด้านชุดข้อมูลภาพ (Data Set) ที่มีจำนวนค่อนข้างน้อย เทียบกับค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการออกสู่ทะเล เพื่อไปเก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียว ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้เข้าแข่งขันสามารถนำเสนอไอเดียถึงกระบวนการคิดและรูปแบบการประยุกต์ใช้ที่แปลกใหม่ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการนำเสนอถึงผลลัพธ์ได้เป็นที่น่าพอใจ ด้วยการนำโมเดลสามมิติ (3D Model) มาใช้ในการสังเคราะห์ข้อมูล (Synthesis Data) ที่นับได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ น่าสนใจ และตอบโจทย์สำหรับธุรกิจของ ARV เป็นอย่างมาก”
ตัวแทนทีม 1000X ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันในโจทย์ที่ 1 Cyber Security Track ด้วยเรื่อง “การใช้ Blockchain ผนวก Cryptography แก้ปัญหาจากประสบการณ์ที่เคยพบเจอเพื่อเข้าถึงข้อมูลประกันสุขภาพของคนไทย” ได้เล่าว่า “สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้นับว่าสร้างความท้าทายให้ตนและเพื่อนร่วมทีมอย่างมาก ด้วยพื้นฐานที่เรามีจุดแข็งด้าน Coding ที่มีคุณภาพ ประกอบกับความสนใจด้าน Blockchain ของทีม รวมถึงมีการทดสอบ Demo ที่สามารถพัฒนาออกมาแล้วใช้งานได้จริง จึงทำให้สามารถเอาชนะผู้เข้าแข่งขันทีมอื่นได้ ทั้งนี้ทีม 1000X ขอขอบคุณโอกาสดีๆ จาก ARV รวมถึงเมนเทอร์ (Mentor) ทุกท่านที่ช่วยแนะแนวการคิด/ตีโจทย์ให้แตก ช่วยปรับปรุง Structure ต่างๆ ว่าควรไปในทิศทางไหน ช่วยให้ทีมมีมุมมองทางธุรกิจที่กว้างและรอบด้านขึ้น นับเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ทีมได้รับความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ จำนวนมาก”
ด้านทีม Band of Brothers ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันในโจทย์ที่ 2 Subsea Machine Learning Track ด้วยเรื่อง “การขยายโอกาสธุรกิจภาคพื้นทะเล ด้วยอัลกอริทึม YOLO เทรนการรับรู้-จดจำ-แยกแยะวัตถุใต้น้ำของหุ่นยนต์” กล่าวว่า “โจทย์การพัฒนา Machine ให้มีความสามารถในการจดจำ แยกแยะภาพและตรวจจับวัตถุได้แม่นยำ ภายใต้ข้อจำกัดด้านข้อมูล นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก แต่ด้วยการทำงานเป็นทีม รวมถึงการดึงเอาเทคนิคต่างๆ มาจัดการ Data เพื่อทำให้ Object Detection มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ออกแบบกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ มี Pre-Process จนถึง Post-Process ทำให้สามารถ Generate Data ได้สมจริง จึงสามารถแก้ไขโจทย์ที่ท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ทีม Band of Brothers ขอขอบคุณ ARV ที่ได้จัดการแข่งขันครั้งนี้ขึ้น และมอบประสบการณ์การแข่งขันที่ถือเป็นการขัดเกลาฝีมือ ทำให้ทีมได้รับทักษะใหม่จำนวนมากในเวลาอันสั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากวิทยากรและได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ นับเป็นโอกาสที่ดีของ Developer และ Startup รุ่นใหม่อย่างมาก”
“ปัจจุบัน ARV อยู่ในบทบาทของการเป็นผู้สร้างธุรกิจ (Business Builder) ที่สามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดในทุกมิติ ผ่าน 4 ธุรกิจนำร่องที่ถือเป็น New Business S-Curve ให้กับ ปตท.สผ. และเชื่อว่ามีศักยภาพที่สามารถ Unlock Valuation ไปถึงระดับยูนิคอร์น (Unicorn) ได้ และที่ขาดไม่ได้ ต้องขอขอบคุณ คุณสินธู และ คุณภัคชนม์ ที่เป็นผู้ดำเนินโครงการ AI & ROBOTICS HACKATHON 2021 ให้สำเร็จด้วยดี อย่างไรก็ดี ด้วยศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของ ARV ที่ค่อนข้างมีความคล่องตัวสูง ทั้งในด้านการทำงาน การพัฒนาธุรกิจร่วมกัน (Joint Collaboration) ตลอดจนร่วมลงทุนในการพัฒนาธุรกิจหรือเทคโนโลยีในแง่มุมต่างๆ กับทุกๆ องค์กรที่สนใจ อีกทั้งยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้ได้รู้จักและอาจจะได้ร่วมทำงานกับผู้เข้าแข่งขันที่มีความสามารถหลายๆ ท่านในอนาคตอีกด้วย” ดร.ธนา กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ ARV ได้ทางเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ AI and Robotics Ventures