“ศูนย์ฯ สิริกิติ์” โฉมใหม่ปลุกกระแส MICE อวดยอดจองอีเวนต์ 130 งานจนถึงปี 2566

“ศูนย์ฯ สิริกิติ์” หลังปรับโฉมใหม่เตรียมเปิดบริการกันยายนนี้ อวดยอดจองอีเวนต์เข้ามาแล้ว 130 งานจนถึงปี 2566 คิดเป็นอัตราจองเฉลี่ย 70% ตั้งเป้าดันให้ถึง 80% หวัง COVID-19 คลี่คลายช่วยดันธุรกิจ MICE โดยต้องการเป็นศูนย์กลางการจัดงานของภูมิภาค CLMV ด้านพื้นที่รีเทลมีผู้เช่าแล้ว 40%

ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดความคืบหน้าโครงการ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เตรียมเปิดบริการเดือนกันยายน 2565 โดยปรับปรุงใหม่มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น 5 เท่าเป็น 300,000 ตร.ม. (รายละเอียดการปรับปรุง ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ติดตามได้ที่นี่)

จากการขยายพื้นที่ ทำให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์จะเป็นศูนย์ประชุมกลางเมืองกรุงเทพฯ ที่ใหญ่ที่สุดหลังเปิดให้บริการ และการปรับสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการรองรับเทคโนโลยีทันสมัย และช่อง Loading Area ที่ใหญ่ขึ้น ศักดิ์ชัยมองว่าขณะนี้ศูนย์ฯ สิริกิติ์สามารถรองรับงานได้หลากหลายยิ่งขึ้น มีงานประเภทใหม่ๆ ที่ให้ความสนใจ เช่น การจัดแข่งขันอีสปอร์ตส, คอนเสิร์ต, การแสดงโชว์, งานแสดงสินค้าขนาดใหญ่

ศูนย์ฯ สิริกิติ์
ภาพจำลองโซนร้านกาแฟในศูนย์ฯ สิริกิติ์

ปัจจุบันมีการจองพื้นที่จัดงานแล้วตั้งแต่เดือนแรกที่จะเปิดบริการ เช่น ASEAN Sustainable Energy Week 2022, FHT Food & Hospitality Thailand 2022 เป็นต้น

ศักดิ์ชัยกล่าวว่า ไลน์อัพงานอีเวนต์ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์มีแล้วมากกว่า 130 งาน ยาวจนถึงปี 2566 คิดเป็นอัตราการจอง 70% ของพื้นที่ทั้งหมด และตั้งเป้าดันตัวเลขให้ถึง 80% โดยเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ เพราะสถานการณ์ COVID-19 น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น และรัฐบาลอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าได้แบบ Test & Go ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้แล้ว ทำให้ธุรกิจ MICE น่าจะเป็นภาพขาขึ้น

ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด

“เราได้เห็นจุดแข็งของเราด้วยว่า เมืองไทยเป็นศูนย์กลางของ CLMV เมื่อมีใครจะจัดงานแฟร์ที่เน้นคนแถบนี้ ที่จริงแล้วเราได้เปรียบมากกว่าการไปจัดถึงสิงคโปร์ หรือฮ่องกง เพราะเรามีความใกล้เคียงทางวัฒนธรรมกันมากกว่า และเมื่อศูนย์ฯ สิริกิติ์ปรับตัวให้รองรับได้ในระดับนานาชาติ ผู้จัดงานแฟร์จากยุโรปหรือสหรัฐฯ ก็จะพิจารณาเรามากขึ้นเพราะรองรับได้” ศักดิ์ชัยกล่าว

ขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นของศูนย์ฯ สิริกิติ์ทำให้ขณะนี้สามารถรองรับงานได้พร้อมกัน 5-10 งาน จากเดิมทำได้ 1-2 งานเท่านั้น ทำให้ศักดิ์ชัยมองว่ารายได้รวมของศูนย์ฯ สิริกิติ์ เมื่อรับรายได้เต็มปีจะเติบโต 5 เท่า และจะมีผู้ร่วมชมงานถึง 13 ล้านคนต่อปี

 

พื้นที่รีเทลใหญ่ขึ้น 30% มีผู้เช่าแล้ว

สำหรับส่วนรีเทลของศูนย์ฯ สิริกิติ์มีพื้นที่ 12,000 ตร.ม. ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม 30% และวางเป้าหมายไว้รองรับทั้งผู้มาร่วมงานและประชาชนโดยรอบพื้นที่ซึ่งมีโครงการพัฒนาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เช่น สวนป่าเบญจกิตติที่ขยายใหญ่ขึ้น ตึกออฟฟิศ The PARQ, ThaiBev HQ, FYI center ทำให้การออกแบบส่วนรีเทลในศูนย์ฯ สิริกิติ์จะรองรับกลุ่มเป้าหมายอื่นด้วย โดยแบ่งสัดส่วนเป็น

  • กลุ่มหลัก 75% ผู้เข้าร่วมงานประชุม
  • กลุ่มรอง 15% กลุ่มมาออกกำลังกายที่สวนเบญจกิตติ
  • กลุ่มย่อย 10% คนทำงานและผู้อยู่อาศัยโดยรอบ
ศูนย์ฯ สิริกิติ์
ผังพื้นที่รีเทล ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เน้นร้านอาหาร-เครื่องดื่มเป็นหลัก
ศูนย์ฯ สิริกิติ์
พื้นที่รีเทล ศูนย์ฯ สิริกิติ์

“ธีรนันท์ กรศรีทิพา” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาดูแลศูนย์ฯ สิริกิติ์ กล่าวว่า คอนเซ็ปต์การออกแบบรีเทลของที่นี่จึงอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ BALM หรือ Bangkok Active Lifestyle Mall เพราะมีส่วนที่เน้นรองรับชาวสวนเบญจกิตติที่รักการออกกำลังกายด้วย โดยมีการแบ่งสัดส่วนร้านค้าเช่า ดังนี้

  • 60% ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
  • 20% ร้านเครื่องกีฬาและบริการเธอราปี
  • 20% ร้านของใช้ในชีวิตประจำวัน
โซนกีฬาที่จะอยู่ใกล้ทางเชื่อมสวนเบญจกิตติ รองรับคนรักการออกกำลังกาย

ส่วนของร้านอาหารจะมีร้านที่เน้นด้านสุขภาพเข้ามาผสมผสานด้วย รวมถึงปีกอาคารที่ติดกับสวนเบญจกิตติจะเน้นให้เป็นโซนกีฬา เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับสวน มีทางเชื่อมตรงเข้าสวนเบญฯ แทบเป็นเนื้อเดียวกัน

ศูนย์ฯ สิริกิติ์คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประชุมต่างๆ 13 ล้านคนต่อปี เสริมด้วยประชาชนที่อาศัยโดยรอบ 3 แสนคน และคนทำงานออฟฟิศกว่า 1 แสนคน เหล่านี้จะเป็นตัวเลขสนับสนุนพื้นที่รีเทลว่าจะมีทราฟฟิกเข้าออกจากหลายแหล่ง ทำให้ปัจจุบันมีผู้เช่าจองพื้นที่แล้ว 40% และยังเปิดรับคัดเลือกร้านค้าเพิ่มเติมอยู่ขณะนี้