โฉมใหม่ “ศูนย์ฯสิริกิติ์” ที่จอดรถ 3,000 คัน เจาะทางเชื่อมรถไฟฟ้า พร้อมเปิดกันยา’65

เฟรเซอร์สฯ อัปเดตความคืบหน้างานก่อสร้าง “ศูนย์ฯสิริกิติ์” มั่นใจเปิดทันกำหนดกันยายน 2565 โฉมใหม่ขยายพื้นที่ “5 เท่า” เทียบเท่าสนามฟุตบอล 50 สนาม ที่จอดรถเพิ่มเป็น 3,000 คัน เจาะทางเชื่อมรถไฟฟ้า MRT ไม่ต้องกลัวสภาพอากาศ เชื่อแนวโน้มธุรกิจ “ไมซ์” จะกลับมา คนยังต้องการจัดประชุมแบบเจอตัวกัน

“วิทวัส คุตตะเทพ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ ขณะนี้ก่อสร้างไปแล้ว 60% คาดว่าจะเริ่มส่งมอบให้กับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) เจ้าของโครงการ ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อให้ NCC เริ่มเปิดบริการตามกำหนดเดือนกันยายน 2565

ศูนย์สิริกิติ์
ความคืบหน้าล่าสุดโครงการ ศูนย์ฯสิริกิติ๊

รายละเอียดโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่ ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า มีดังนี้

  • ก่อสร้างเป็นอาคารสูงเหนือพื้นดิน 23 เมตร และชั้นใต้ดินลึก 20 เมตร
  • พื้นที่ก่อสร้างอาคาร 300,000 ตร.ม. เทียบเท่าสนามฟุตบอล 50 สนาม
  • พื้นที่จัดแสดงกว่า 78,000 ตร.ม. โดยแบ่งเป็นฮอลล์ขนาดใหญ่ 2 ห้อง และมีตติ้งรูมอีก 50 ห้อง
  • พื้นที่รีเทล 10,000 ตร.ม. เน้นร้านอาหาร ร้านกาแฟ
  • ที่จอดรถใต้ดิน 3,000 คัน
  • ทางเชื่อมชั้นใต้ดินเข้ากับสถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์ฯสิริกิติ์โดยตรง
  • รองรับผู้เข้าประชุมได้ 100,000 คนต่อวัน
  • มีทางเข้าออกเชื่อมต่อกับสวนเบญจกิตติ
การแบ่งโครงสร้างการใช้งาน ศูนย์ฯสิริกิติ์ โฉมใหม่

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างใหม่ของศูนย์ฯสิริกิติ์ช่วยปิดจุดด้อยของโครงการเดิมซึ่งสร้างมากว่า 30 ปีได้ โดยเพิ่มที่จอดรถจาก 600 คันเป็น 3,000 คัน และเป็นที่จอดในร่ม รวมถึงเพิ่มทางเชื่อมใต้ดินเข้ากับสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ผู้มาร่วมงานประชุม/นิทรรศการสะดวกสบายขึ้น ไม่ต้องกังวลด้านสภาพภูมิอากาศ และที่จอดรถมีเพียงพอมากขึ้น

วิทวัสยังสรุปไฮไลต์ที่จะทำให้ศูนย์ฯสิริกิติ์ได้มาตรฐานศูนย์ประชุมระดับโลก และเป็นตัวเลือกแข่งขันในระดับนานาชาติกับศูนย์ประชุมอื่นในภูมิภาคนี้ ได้แก่

1.ที่ตั้ง – เป็นศูนย์ประชุมที่ใหญ่สุดในเขตใจกลางเมือง สามารถเดินทางสะดวกทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินที่เชื่อมต่อกับ MRT สถานีศูนย์ฯสิริกิติ์ และเข้าออกเชื่อมต่อได้ทั้งถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 4 และถนนสุขุมวิทได้ โดยมีโรงแรมชั้นนำและศูนย์การค้าใกล้เคียง เพื่อรองรับผู้มาเข้าร่วมประชุมและผู้ติดตาม

2.ความปลอดภัย – โครงการมีการว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศเพื่อออกแบบระบบรักษาความปลอดภัย มี bomb-detector ตรวจรถทุกคันที่เข้ามาในบริเวณ เนื่องจากคำนึงถึงการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลก พร้อมระบบกล้องวงจรปิดทั่วศูนย์ประชุมที่สามารถแจ้งเตือน (alert) ได้หากมีบุคคลเข้าไปในบริเวณที่ไม่ได้รับอนุญาต

บรรยากาศจำลองบริเวณเซ็นทรัล เลาจน์

3.เทคโนโลยีเดินไฟเบอร์ออพติกครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้ระบบ Wi-Fi ที่รองรับได้ถึง 6G ขยายแบนด์วิธให้สามารถจัดงานถ่ายทอดสดและรองรับผู้เข้าประชุมจำนวนมากได้ รวมถึงมีเทคโนโลยีตอบโจทย์การเว้นระยะห่างทางสังคมในอนาคตด้วยฟังก์ชัน Heat Maps ตรวจเช็กความหนาแน่นในแต่ละบริเวณ

4.ความยืดหยุ่น – พร้อมจัดงานอีเวนต์ผสมผสานทั้งออนไลน์และออนกราวนด์ และขยาย Loading Area ที่พร้อมนำโครงสร้างขนาดใหญ่เข้ามาในงานได้

5.ความยั่งยืน – เตรียมเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกในไทยที่ได้มาตรฐาน LEED ระดับ Silver จากการที่ศูนย์ฯ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานน้ำและไฟฟ้า เลือกระบบแอร์ประสิทธิภาพสูงที่ลดการใช้พลังงาน ใช้วัสดุก่อสร้างที่สามารถรีไซเคิลได้ 70% ฯลฯ

“วิทวัส คุตตะเทพ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย)

ด้านการฟื้นตัวของธุรกิจไมซ์ วิทวัสกล่าวว่า จากการพูดคุยกับทาง NCC ซึ่งมีพาร์ทเนอร์ธุรกิจอยู่ทั่วโลก มองว่าการประชุมแบบพบหน้ากัน (physical meeting) จะยังเป็นที่ต้องการทั่วโลก

“ยกตัวอย่างล่าสุด การประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ ผู้นำประเทศทั่วโลกต่างตอบรับเข้าร่วม และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ของเราก็เพิ่งจะรับมอบการจัดงาน APEC 2022 เห็นได้ว่าการประชุมนานาชาติจะยังเกิดขึ้น” วิทวัสกล่าว ทั้งนี้ สำหรับศูนย์ฯสิริกิติ์ มีงานประชุมงานแรกที่จองเข้ามาแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 คือตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดบริการ

ศูนย์ฯสิริกิติ์ โฉมใหม่ ใช้งบลงทุน 15,000 ล้านบาท ก่อสร้างครั้งแรกเมื่อกว่า 30 ปีก่อน เคยจัดงานมาแล้วมากกว่า 20,000 งาน รวมถึงงานระดับนานาชาติหลายงาน เช่น งานประชุมธนาคารโลกปี 1989, งานประกวดมิสยูนิเวิร์ส 1992, งานประชุม APEC 2003 เป็นต้น