‘IMF’ คาด ‘เงินเฟ้อ’ จะชะลอตัวในปีหน้าเหลือ 4.7% สำหรับประเทศกำลังพัฒนา

Photo : Shutterstock
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยอ้างถึงการแพร่กระจายของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และแนวโน้มที่แย่ลงสำหรับสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และจีน

IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว 4.4% ลดลงจาก 5.9% ในปีที่แล้วและปรับลดจากที่เคยคาดไว้ในเดือนตุลาคมท่ผ่านมาว่าจะเติบโต 4.9% นอกจากนี้ ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกเหลือ 4% จาก 5.2% เนื่องจาก สหรัฐฯ ไม่มีมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ จากร่างกฎหมาย Build Back Better ของประธานาธิบดี Joe Biden อีกต่อไป

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับปัญหาคอขวดของ Supply chain ที่ขัดขวางไม่ให้บริษัทต่าง ๆ ตอบสนองต่อคำสั่งซื้อของลูกค้า และด้วยการเคลื่อนไหวที่ใกล้เข้ามาของ Federal Reserve ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี

ในส่วนของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 อย่างประเทศ จีน นั้น IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 4.8% ในปีนี้ ลดลงจาก 8.1% ในปีที่แล้ว และช้ากว่าที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ 0.8% ในเดือนตุลาคม เนื่องจากมาตรการ Zero-Covid ของจีนมีแนวโน้มว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับความเครียดทางการเงินต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่า 19 ประเทศในยุโรป ที่ใช้สกุลเงินยูโรร่วมกันจะเติบโต 3.9% ในปีนี้ ลดลงจาก 5.2% ในปี 2564 ส่วน ญี่ปุ่น คาดว่าจะเติบโต 3.3% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 1.6% ในปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากการดำเนินการต่อเนื่องของรัฐบาลที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ IMF ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นในปีนี้ และจางหายไปในปี 2566 โดยเห็นว่าราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 3.9% ในระบบเศรษฐกิจขั้นสูง ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 2.3% ของการคาดการณ์ในเดือนตุลาคม และในส่วนของประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่คาดว่าจะมีอัตราเงินเฟ้อ 5.9% ในปีนี้ ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวในปีหน้าเป็น 2.1% ในประเทศที่พัฒนาแล้วและ 4.7% ในประเทศกำลังพัฒนา

Source