เมื่อตลาด ‘โปรเจ็คเตอร์’ ถึงทางตัน ‘BenQ’ ขอดัน ‘กระดานอัจฉริยะ’ รุกตลาดการศึกษา

สำหรับคนวัยทำงานในปัจจุบันนี้ สมัยเรียนคงจะคุ้นเคยกับ ‘โปรเจ็คเตอร์’ ที่แต่ละห้องมีไว้ใช้เพื่อนำเสนอสื่อการเรียนการสอนแน่ ๆ ยิ่งเทรนด์การเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการมาของ COVID-19 ทำให้การใช้งานแค่โปรเจ็คเตอร์นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เบ็นคิว (BenQ) ที่คร่ำวอดในตลาดการศึกษามานานกว่า 20 ปี จึงต้องแก้เกมใหม่เพื่อรักษารายได้ให้เติบโต

โปรเจ็คเตอร์กำลังไม่เป็นที่ต้องการ

หากพูดถึงตลาดโปรเจ็คเตอร์นั้นจะสามารถแบ่งได้หลากหลาย แต่ทิศทางของตลาดนั้นไม่ได้สดใสมากนัก โดยตลาดรวมของโปรเจ็คเตอร์ไทยปี 2020 อยู่ที่ 50,485 เครื่อง และในปี 2021 ลดลงเหลือ 42,343 เครื่อง ส่วนยอดขายของตลาด อินเทอร์แอคทีฟโปรเจคเตอร์ (Interactive Projector) ยิ่งแย่ เพราะจากปี 2018 มียอดขาย 164 เครื่อง พอมาปี 2020 ลดลงเหลือ 7 เครื่อง เท่านั้น

สาเหตุที่ตลาดโปรเจ็คเตอร์และอินเทอร์แอคทีฟโปรเจคเตอร์เริ่มดร็อปลงเป็นเพราะเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะการมาของ จอกระดานอัจฉริยะ (Interactive Flat Panel : IFP) เพราะด้วยคุณสมบัติที่มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการลงโปรแกรมเสริม ผู้สอนไม่ต้องใช้โน้ตบุ๊กมาเชื่อมต่อ แต่สามารถดึงไฟล์จากคลาวด์มาใช้สอนได้เลย ทำให้เทรนด์การใช้กระดาน IFP เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2018 กระดาน IFP มียอดขายในเอเชียแปซิฟิกกว่า 1 ล้านเครื่อง และเติบโตเป็น 1.4 ล้านเครื่องในปี 2020 ส่วนไทยเองก็เติบโตจาก 1,200 เครื่องในปี 2018 เป็น 2,200 เครื่องในปี 2020

“ในช่วง 3-4 เดือนแรกของการล็อกดาวน์ในปี 2020 ตลาดการเรียนการสอนชะงักลง หลายโรงเรียนเริ่มปรับมาสอนผ่าน Zoom มีการเบรกการจัดซื้อ แต่ปัญหาของการเรียนผ่าน Zoom มันไม่ได้ผลขนาดนั้น โรงเรียนเลยให้ครูมาสอนที่โรงเรียนผ่าน IFP ซึ่งได้ผลที่ดีกว่ามาก เด็กสนุกกับการเรียน ทำให้ในปี 2021 โรงเรียนเอกชนและนานาชาติเริ่มลงทุน” วัชรพงษ์ วงษ์มา รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ เบ็นคิว ประเทศไทย กล่าว

เดินหน้าดัน IFP เจาะโรงเรียนรัฐ

กลยุทธ์ในการทำตลาด IFP ปีนี้ของเบ็นคิว 80% จะเจาะภาคการศึกษา 20% เจาะตลาดองค์กร โดยจะเน้นองค์กรใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนภาคการศึกษาจะเริ่มรุกกลุ่ม โรงเรียนรัฐ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีงบกลางของตัวเอง ส่วนตลาด โรงเรียนนานาชาติ เบ็นคิวค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยที่ผ่านมามีลูกค้ากว่า 35 โรงเรียน จากทั้งหมด 175 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้าไปเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 70 โรงเรียน

“ตอนนี้ไทยเป็น strategic country ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในตลาด IFP เพราะแม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านจะมีไซส์ใหญ่กว่าก็จริง แต่ตลาดการศึกษาของไทยเติบโกว่า ไม่ว่าจะจากงบของภาครัฐที่ลงมา และการสนับสนุนของผู้ปกครอง”

ปัจจุบัน เบ็นคิวเป็นเบอร์ 1 ในตลาดกระดาน IFP ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า 25% มียอดขายกว่า 3,200 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 2.7% และในปีนี้ เบ็นคิวตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 30% และภายใน 3 ปีต้องเพิ่มเป็น 50%

“จากนี้จะเริ่มเติบโตลำบาก เพราะในตลาด IFP เริ่มมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปี 2016 บริษัทมีคู่แข่งราว 7-8 ราย ปัจจุบันมีกว่า 25 ราย ซึ่งทำให้การแข่งขันดุเดือดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราต้องเร่งสร้างการเติบโต”

ดันสมาร์ทโปรเจ็คเตอร์เจาะตลาด B2C

ด้วยความที่โปรเจ็คเตอร์กำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยยอดขายของเบ็นคิวในปี 2021 อยู่ที่ 3,900 กว่าเครื่อง ถือว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2020 แต่ในแง่รายได้เติบโต 34% เนื่องจากเบ็นคิวผลักดัน สมาร์ทโปรเจ็คเตอร์ (smart projector) ในตลาด B2C เพื่อใช้สำหรับ เอนเตอร์เทนเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง เล่นเกม เป็นต้น รวมถึงใช้สำหรับเป็นตัวเลือกให้กับภาคการศึกษาที่งบไม่ถึงที่จะซื้อกระดาน IFP ซึ่งราคาเริ่มต้นที่ 99,000-599,000 บาท ขณะที่สมาร์ทโปรเจ็คเตอร์สูงสุดอยู่ที่ 79,000 บาท

“โควิดให้ธุรกิจโรงแรมเจ็บหนัก การลงทุนในโปรเจ็คเตอร์ตัวแพงเลยไม่มี เราเองก็พยายามเน้นขายสมาร์ทโปรเจ็คเตอร์แทนแมนสตรีม โดยจะอุดช่องว่ากลุ่มที่ไม่มีงบใช้กระดาน IFP แต่อยากได้ฟีเจอร์ใกล้เคียงกัน รวมถึงกลุ่มโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ที่จะเพิ่มสินค้าอีก 4-5 SKU โดยปีนี้เราเราตั้งเป้าที่จะขายให้ได้ 1,200 เครื่อง จากปี 2021 ที่ขายได้ 800 เครื่อง”

คอมขายยาก สะเทือนจอมอนิเตอร์

สำหรับตลาดจอมอนิเตอร์ของเบ็นคิวจะมีตัวชูโรงคือ ZOWIE จอมอนิเตอร์สำหรับ ‘เกมเมอร์’ แต่จากปัญหาซัพพลายเชนในช่วงปี 2021 ทำให้ ‘คอมประกอบ’ ขายยากขึ้นเนื่องจากมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้จอมอนิเตอร์เองก็ขายยากไปด้วย รวมไปถึงการที่บางร้านค้าต้องขายสินค้าแบบ ‘พ่วง’ กับจอมอนิเตอร์ เพราะไม่สามารถขายอุปกรณ์แยกชิ้นได้ ทำให้ลูกค้าบางคนเลือกใช้แบรนด์จอมอนิเตอร์ไม่ได้

“เราไม่เจอปัญหาซัพพลายเชน เพราะเรามีโรงงานผลิตของตัวเอง แต่เราได้ผลกระทบทางอ้อมจากยอดขายคอมประกอบที่ลดลง และค่าขนส่งที่แพงมากขึ้นเยอะ”

แม้ตลาดจะเจอผลกระทบทางอ้อมจากพิษโควิด แต่แบรนด์ ZOWIE ยังเติบโตได้อยู่ โดยในปี 2021 จอกลุ่ม 144Hz มียอดขาย 10,481 เครื่อง เติบโตขึ้นเท่าตัว ขณะที่ภาพรวมของตลาดจอ 249Hz มียอดขาย 2,272 เครื่องเติบโต 28.94% โดยเบ็นคิวจะยังคงรักษาโพสิชั่นของแบรด์คือ ไม่ลดราคา เพื่อรักษาแวร์ลูของสินค้า และทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าไม่โดนหักหลัง

“เราต้องการเป็น king of monitor ในใจผู้บริโภค โดยนอกจากด้านคุณภาพแล้ว เราก็จะไม่หักหลังผู้บริโภค ต่อให้ออกรุ่นใหม่ แต่ราคาตัวเก่าก็จะไม่ได้ลดลงมาก เหมือนกับ iPhone ของ Apple เพราะเราอยากให้เขารู้สึกว่าซื้อตอนไหนก็ได้ ไม่ต้องรอลดราคา อีกทั้งยังทำให้แบรนด์ดูมีมูลค่า”

ทั้งนี้ ในปี 2022 เบ็นคิวจะยังคงใช้งบการตลาดที่ 2% ของยอดขาย โดยจะเน้นในด้านของโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการทำ SEO การใช้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้า รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการบอก ปากต่อปาก หรือก็คือมี Social Response ที่ดีจากแฟน ๆ

ปีที่ผ่านมามีโควิดเป็นความท้าทาย แต่ตอนนี้การตลาดถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมากกว่า โจทย์เราคือ ทำยังไงให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าแล้วฟีดแบ็กในโซเชียลออกมาดี อย่างลูกค้าองค์กรเรามองไม่เห็นฟีดแบ็กเพราะเขาแค่คุยกันภายใน ดังนั้น ถ้าเรามีบริการหลังขายที่ดี การแนะนำการใช้งานฟีเจอร์ให้ใช้ได้จริงแบบนี้จะทำให้ Social Response ได้ดี แบรนด์เติบโตได้”