“แม็คกรุ๊ป” เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพบริหารค่าใช้จ่าย-คุมเข้มต้นทุนสู้วิกฤตโควิด-19 หนุนผลงานงวดไตรมาส 2/2565 (ต.ค.-ธ.ค.64) แกร่ง กำไรสุทธิทะลุ 230 ล้านบาท รายได้จากการขายเกือบ 1 พันล้านบาท เร่งปรับโฉม Outlet-เพิ่มความหลากหลายสินค้า ดึงนักเดินทางขาช้อป พร้อมเดินเกมการตลาดเชิงรุก อัดแคมเปญ-โปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายต่อบิล ซีอีโอ ยืนยัน ผลงานทั้งปี 2565 รายได้และกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องตามแผน
นายเจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC เปิดเผยภาพผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2565 (ตุลาคม-ธันวาคม 2564) ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 (ตุลาคม-ธันวาคม) ยังคงเปราะบางจากผลกระทบการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าครองชีพที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ อาทิ โครงการเราชนะ , คนละครึ่งเฟส 3 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่าใช้จ่าย และควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 231 ล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้ง Q/Q และ Y/Y
โดยมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 995 ล้านบาท ลดลงราว 12% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากช่องทางออฟไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่มีสัดส่วนถึง 90% ของยอดขายรวม ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และโอมิครอน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เป็นการชั่วคราว ขณะที่ยอดขายจากช่องทางออนไลน์ ไม่สามารถเข้ามาชดเชยได้ทั้งหมด เนื่องจากกำลังซื้อที่ยังถดถอย โดยช่องทางร้านค้าปลีกตัวเอง (Freestanding Shop) มียอดขายจำนวน 609 ล้านบาท, ห้างสรรพสินค้า (Department Store) จำนวน 251 ล้านบาท, ซูเปอร์สโตร์ (Superstore) จำนวน 12 ล้านบาท และช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) จำนวน 102 ล้านบาท
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แม็คกรุ๊ป บอกเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ได้ปรับโฉม Outlet ในสถานีบริการน้ำมันให้มีความทันสมัย และเร่งขยาย MC Outlet เน้นย่านชุมชน และเส้นทางการจราจรหนาแน่น เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวน 55 แห่ง เป็น 70 แห่ง ภายในมิถุนายน 2565 พร้อมเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ ดึงดูดนักเดินทางขาช้อป กระตุ้นยอดขายต่อบิล ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,000 บาทต่อบิล
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังเน้นบริหารจัดการต้นทุนสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เดินเกมกลยุทธ์การตลาดแบบเฉพาะเจาะตรงกลุ่มเป้าหมาย, สัดส่วนการขายสินค้า รวมไปถึงการบริหารช่องทางจัดจำหน่ายให้สอดคล้องกับแต่ละช่วงเวลาอย่างลงตัว ส่งผลให้ยังสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin : GP) ไว้ได้ในระดับสูงต่อเนื่องที่ 65.1% ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 60.5% และอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NP) อยู่ที่ 23% เพิ่มขึ้นจากระดับ 19.8% ในช่วงเดียวกันปีก่อน จากประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดี โดยค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ปรับลดลงเกือบ 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหลือ 370 ล้านบาท
ทั้งนี้ ฐานะการเงินของบริษัทล่าสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นทั้งหมด จำนวน 1,997 ล้านบาท ภายใต้การเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้สิน จึงมีความพร้อมแสวงหาโอกาสต่อยอดธุรกิจ สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผลักดันภาพรวมรายได้และกำไรสุทธิงวดปี 2565 เติบโตต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้