“Be Strong, Be Kind, Be There” ไขกุญแจสู่ประตูแห่งสังคมออนไลน์สีขาวที่ปลอดภัยต่อใจทุกคน

ในยุคดิจิทัลที่อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนเรา กิจกรรมหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นได้เฉพาะบนโลกแห่งความเป็นจริงก็เคลื่อนตัวไปเกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ด้วย ในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายที่ เกิดขึ้นในโลกออนไลน์จนกลายมาเป็นปัญหาหนึ่งที่ใกล้ตัวคนยุคนี้ นั่นก็คือ การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ หรือ  Cyberbullying โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้เพียงสัมผัสหน้าจอโทรศัพท์เพื่อกดเปิดแอปพลิเคชันก็สามารถย่อทุกความไกลห่างให้เชื่อมต่อกันได้ภายในเสี้ยววินาที

Cyberbullying ดาบสองคมต้องตื่นตัว

เทคโนโลยีก็เหมือนดาบสองคมที่มาพร้อมกับประโยชน์มากมาย แต่ก็มีปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดได้เช่นเดียวกับโลกแห่งความเป็นจริง อย่าง Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งบนโลกดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ใช้ชีวิตคลุกคลีกับโลกออนไลน์ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ถูกรังแกเสียสุขภาพจิต และอาจยกระดับเป็นโรคซึมเศร้า สำหรับบ้านเรานั้นเริ่มมีหลาย ๆ หน่วยงานได้ออกมาให้ความสำคัญกับปัญหา Cyberbullying อย่างจริงจังมากขึ้น และเนื่องในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นวัน Safer Internet Day หรือ วันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยสากล  บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำระดับโลก ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต เปิดตัวโครงการ Game On: Digitally Safe and Sound พร้อมเผยแพร่สื่อภาพยนตร์สั้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Be Strong, Be Kind และ Be There และบอร์ดเกม “The.Net Threat เกมกลโลกไซเบอร์” มุ่งสร้างสังคมออนไลน์สีขาวที่ปลอดภัยต่อใจทุกคน ที่จะให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง เกี่ยวกับวิธีรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมออนไลน์

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney)  กล่าวว่า ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่กับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียนานขึ้น การีนา ในฐานะที่เป็นพื้นที่ของเด็กและเยาวชนจำนวนมาก จึงเห็นว่า การปลูกฝังให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันและเข้าใจการรับมือผลกระทบจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในครอบครัว ควรช่วยกันปลูกฝังในเรื่องดังกล่าวเพื่อร่วมกันป้องกันและลดปัญหาหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนบนโลกออนไลน์ เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามความท้าทายบนโลกออนไลน์ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

3B เครื่องมือสร้างสังคมออนไลน์สีขาว

ผลกระทบจาก Cyberbullying มีตั้งแต่สร้างความรำคาญ ความเดือดเนื้อร้อนใจ บางคนรู้สึกเบื่อชีวิต ไม่อยากพบเจอใคร หรือบางรายอาจมีความเครียดอย่างหนัก และอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบจาก Cyberbullying ไม่ว่าจะต่อผู้รังแกหรือผู้ถูกรังแกนั้นจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกลักษณะของแต่ละบุคคล รวมไปถึงทักษะการรับมือของแต่ละคนด้วย

ภายในงานเปิดตัวโครงการฯ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน เสริมพลังบวกสานสัมพันธ์ครอบครัว พร้อมรับมือผลกระทบบนโลกออนไลน์ เพื่อสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย (Be Strong, Be Kind, Be There)” โดยมี เบเบ้ – ธันย์ชนก ฤทธินาคา อินฟลูเอนเซอร์สาวสายเฮลท์ตี้ พร้อมด้วย อาร์ตโตะ – วิศรุตต์ ปองธนพิสิฐ Assistant Manager Game Operation บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ผู้แทนจากวงการเกมออนไลน์ และ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและโฆษกกรมสุขภาพจิต มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ และแนะนำการรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถนำไปปรับใช้กับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมบนโลกออนไลน์ให้ปลอดภัย

Be Strong สร้างภูมิคุ้มกันในโลกออนไลน์

คุณเบเบ้ – ธันย์ชนก ฤทธินาคา นักร้องและนักแสดงสาวสายเฮลท์ตี้ ได้แชร์ประสบการณ์การถูก Cyberbullying ว่า “รู้สึกว่าสังคมบูลลี่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตด้วยซ้ำ ทั้งจากการวิจารณ์ และการหลอกลวง แต่ว่าตอนนี้มีโซเชียลมีเดียซึ่งเราเข้าถึงได้ง่าย ทำให้คนที่ถูกบูลลี่รับสารโดยตรง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกและการดำเนินชีวิต เรื่องที่ควรดูแลและแก้ไข คือ การสร้างเกราะป้องกันผ่านครอบครัว อาจรับฟังการติชมจากภายนอกบ้าง เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาตนเอง แต่พอถึงจุดหนึ่งที่การติหรือการวิจารณ์มันเริ่มเลยเถิด เราอาจจะต้องเลือกวิธีที่จะถอยห่าง บล็อก หรือไม่อ่าน ถ้ารู้สึกว่าจิตใจเราแข็งแกร่งไม่พอ ให้หลีกเลี่ยงและไปทำอย่างอื่น แทนที่จะปล่อยให้มันมากัดกินหัวใจของเรา ‘Be Strong’ คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้เราเอง อีกวิธีหนึ่ง คือ การออกกำลังกายจะสร้างสุขภาพจิตดีและร่างกายแข็งแรงด้วย”

Be Kind เสริมพลังบวกลดการบูลลี่

คุณอาร์ตโตะ วิศรุตต์ ปองธนพิสิฐ Assistant Manager Game Operation บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ผู้แทนจากวงการเกมออนไลน์ ได้เล่าว่า “การก้าวข้ามหรือยอมรับการถูกบูลลี่ของแต่ละคนนั้น เป็นเรื่องยากมาก เพราะเส้นแบ่งของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน บางคนก็อาจจะยอมรับได้กับคำนี้หรือความสนิทระดับนี้ ซึ่งถ้าหากมองตรง ๆ คือ คำไหนที่สุ่มเสี่ยง อาจทำร้ายจิตใจได้ เราก็ไม่ควรไปใช้กับคนอื่น เราต้องเริ่มเปลี่ยนทัศนคติไม่ว่าจะเป็นทั้งเด็กหรือผู้ใหญ่ ว่าการที่พูดเปรียบเทียบมันไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา แต่ว่ามันอาจจะสร้างผลกระทบจิตใจได้ ในขณะที่ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจ และเด็กก็ควรจะต้องรับฟัง ดังนั้น การจะทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นโลกสีขาวได้นั้น เราต้องเลือกมอง เลือกอ่าน เลือกรับฟังคำที่มีพลังบวก ซึ่งไม่เพียงแต่ในโลกอินเตอร์เน็ตอย่างเดียว คำทักทายในการพบปะเจอะเจอกันก็ควรเปลี่ยนใหม่เพื่อทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น เราอาจเริ่มต้นด้วยคำพูดดี ๆ ที่ให้กำลังใจตัวเอง แล้วเอากำลังใจนี้ไปให้คนอื่นด้วย เพียงแค่นี้สังคมโลกออนไลน์ก็น่าอยู่มากขึ้น”

Be There สานสัมพันธ์ครอบครัว ห่างไกลการบูลลี่

ดร.นพ.วรตม์  โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและโฆษกกรมสุขภาพจิต เล่าว่า “แต่เดิมการบูลลี่มักจะอยู่ในโรงเรียน เกิดขึ้นต่อหน้า เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เราอยู่ แต่อินเทอร์เน็ตได้ทำลายกำแพงนั้นลงทำให้การบูลลี่เกิดขึ้นลับหลัง แม้แต่เวลาเราหลับ หรือสามารถเกิดขึ้นข้ามโลกก็ได้ ทำให้ขอบเขตการบูลลี่ขยายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากขึ้น คนส่วนหนึ่งไม่สามารถตามทันเทคโนโลยีได้ เขาไม่รู้ว่าผลกระทบจะย้อนกลับมาอย่างไร จึงนำไปสู่ปัญหาในสังคมได้

ดังนั้น การเริ่มสอนเด็ก ควรเริ่มตั้งแต่การใช้อินเทอร์เน็ต ต้องเริ่มให้รู้ว่ามีประโยชน์และโทษแฝง สอนตั้งแต่เนื้อหาเบื้องต้นว่าสิ่งนี้คืออะไร มีหน้าที่อะไรสามารถใช้ประโยชน์อย่างไร ในขณะเดียวกัน เราต้องโชว์อีกด้านหนึ่งว่าข้อมูลยังมีทั้งข้อเท็จจริงและเนื้อหาข่าวปลอม อินเทอร์เน็ตสร้างเพื่อนแต่ก็สามารถเสียเพื่อนได้ ทุกอย่างมีเหรียญสองด้าน ปัญหาการบูลลี่จะลดลง แต่ต้องร่วมมือกัน โดยอย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก เมื่อโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนยุคนี้จึงต้องทำความเข้าใจ ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เจอ เชื่อว่าทุกคนมีโอกาสเรียนรู้และหากร่วมมือกันจะช่วยแก้ปัญหา ทำให้ปัญหานี้เบาบางลงได้”

ขณะเดียวกัน บอร์ดเกม “The.Net Threat เกมกลโลกไซเบอร์” ที่พัฒนาโดย บริษัท การีนา ออนไลน์ และ กรมสุขภาพจิต นั้นนับว่าเป็นสื่อกลางที่เข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้เป็นอย่างดี ให้ความสนุกเพลิดเพลิน ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนและผู้ปกครอง พร้อมสอดแทรกเนื้อหาที่ครอบคลุมตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ  Cyberbullying  เพื่อให้เยาวชนและครอบครัวเข้าใจและแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมรูปแบบใดบ้างที่ถือเป็นการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ผลกระทบจาก Cyberbullying ต่อสุขภาพจิตในด้านต่าง ๆ ไปจนถึงวิธีการรับมือเมื่อถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับความคิดตนเอง การแจ้งปัญหากับผู้ดูแล เช่น คุณครู และการพูดคุยขอความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและรับมือผลกระทบบนโลกออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนได้

แม้การ Cyberbullying จะสามารถสร้างบาดแผลให้กับผู้ที่ตกเป็นเป้าได้ แต่ด้วยกำลังใจที่แข็งแกร่งของตนเอง และความช่วยเหลือของทุกฝ่ายรอบข้าง ผู้ถูกรังแกก็จะสามารถเอาชนะปัญหาและกลับมาใช้ชีวิตใหม่ได้เสมอ ดังนั้น การช่วยให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันจากผลกระทบจากสังคมออนไลน์ ครอบครัวคือด่านแรกที่จะปลูกฝังให้เด็กมีความเข็มแข็งทางด้านจิตใจได้ ร่วมเคียงข้างพวกเขา เสริมเกราะป้องกันและรับมือผลกระทบบนโลกออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามภาพยนตร์สั้น Be Strong, Be Kind, Be There ได้ทาง Facebook: Garena Thailand (https://www.facebook.com/GarenaThailand) หรือ Facebook: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (https://www.facebook.com/THAIDMH)

#GameOn #DigitallySafeandSound

#ทำทุกที่ให้เป็นสังคมสีขาว #HowToการอยู่ร่วมโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์