ธนาคารกลางรัสเซีย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียวสู่ระดับ 20% จากเดิม 9.5% เป็นกรณีฉุกเฉิน รับมือกับค่าเงินรูเบิลร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังการคว่ำบาตรเเละเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ยังมีคำสั่งให้ภาคเอกชนในรัสเซีย ขายสกุลเงินต่างประเทศที่ถือครองอยู่ในอัตราส่วน 80% ของรายได้ที่ได้จากการซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ เเละสั่งให้โบรกเกอร์ห้ามชาวต่างชาติขายหลักทรัพย์ เพื่อควบคุมผลกระทบในตลาดเงิน
ค่าเงินรูเบิลแตะระดับต่ำสุดที่ 120 ต่อดอลลาร์บนแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงิน EBS หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน สั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียอยู่ในการสถานะแจ้งเตือนพิเศษ ที่ถือเป็นสถานะการเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด
ขณะเดียวกันประเทศตะวันตก กำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงต่อรัสเซียมากขึ้น เช่น การตัดธนาคารกลางรัสเซียจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและบริษัทต่างๆ ของรัสเซียจะไม่สามารถทำธุรกรรมได้แบบเรียลไทม์จากบริการของ SWIFT โดยเฉพาะภาคธุรกิจด้านการเกษตรและพลังงานที่มีมูลค่าการค้าจำนวนมหาศาล
ธนาคารกลางรัสเซีย ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 4% และย้ำว่าจะทำทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อประกันเสถียรภาพทางการเงิน อย่างการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่พอจะชดเชยค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นและความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ “สิ่งนี้จำเป็นเพื่อรองรับความมั่นคงทางการเงิน และปกป้องเงินออมของประชาชนจากการเสื่อมราคา”
หลังความตึงเครียดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเเละความกังวลเรื่องผลกระทบการคว่ำบาตร ก็ปรากฏภาพประชาชนในรัสเซียตามพื้นที่ต่างๆ ได้เข้าคิวแห่ ‘ถอนเงินสด’ ออกจากตู้ ATM ทั่วประเทศ
รัสเซียเคยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่สูงกว่า 17% ในปี 2014 เมื่อครั้งรัสเซียเผนวกรวมไครเมียมาจากยูเครน
“มาตรการเหล่านี้อาจช่วยลดอารมณ์ของตลาดที่กำลังปะทุขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็บ่อนทำลายรากฐานของนโยบายการเงินรัสเซียไปด้วย” BCS Global markets กล่าว
- ค่าเงิน ‘รูเบิลรัสเซีย’ อ่อนค่า 30% เนื่องจากการคว่ำบาตรกรณีการรุกราน ‘ยูเครน’
- ส่อง 21 บริษัทข้ามชาติใน ‘รัสเซีย’ ที่อาจ ‘ขาดทุน’ หนักจากวิกฤตสงคราม
ที่มา : Reuters