นับถอยหลัง Bitkub ขึ้นยานแม่ SCBX เสียงท้วงติงเริ่มปะทุ ได้คุ้มเสียหรือไม่ จะฝ่าด่านแบงก์ชาติอย่างไร เหตุมูลค่าดีลสูงจัด ใช่ Fair Value หรือไม่ ท่ามกลางความเสี่ยงของตลาดซิ่ง ปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนเร็ว คู่แข่งใหม่-เก่า Binance จ่อเขย่าขวัญ ขณะที่ตัวเลขรายได้กับวอลุ่มซื้อขายดูค้านสายตา โดยเฉพาะจ้าง Market Maker เทรดฟรีไม่มีพูดถึง และบททดสอบการโดนแฮกที่บิทคับยังต้องพิสูจน์ ปลอดภัยจริงหรือ? ขณะที่วิถีสตาร์ทอัป “ท๊อป-จิรายุส” Exit พร้อมเงินก้อนโต 1.78 หมื่นล้าน
ช่วงนี้กลุ่มไทยพาณิชย์อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และโครงสร้างการถือหุ้น ตามยุทธศาสตร์องค์กรที่ต้องการสร้างการเติบโตและมูลค่าในระยะยาวตามบริบทของโลกการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งประกาศเริ่มกระบวนการแลกหุ้นระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) สู่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) เพื่อเดินเครื่องนำยานแม่ SCBX เข้าตลาดหลักทรัพย์แทนที่ SCB
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของ SCBX ที่มุ่งมั่นจะไม่ใช่แค่ทำธุรกรรมธนาคารแบบดั้งเดิมเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และหนึ่งในการปรับโครงสร้างธุรกิจการเงินที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 พ.ย. สร้างความสั่นสะเทือนวงการ กล่าวกันว่าเป็น “ซูเปอร์ดีล” หรือ “เซอร์ไพรส์ดีล” คือ การจะซื้อหุ้น 51% จากบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub สตาร์ทอัปเจ้าของตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ที่เติบโตพรวดพราดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 17,850 ล้านบาท
ความเคลื่อนไหวในครั้งนั้นมีการวิเคราะห์กันว่าทั้ง SCBX และบิทคับ จะ WIN-WIN ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งราคาหุ้นของ SCB และ Kubcoin เหรียญของบิทคับเองราคาพุ่งไปกว่า 200% จากการแห่แหนเก็งกำไรแบบเย้ยฟ้าท้าดิน ท่ามกลางความประหลาดใจระคนสงสัยว่า พื้นฐานที่แท้จริงอยู่ตรงไหน มิหนำซ้ำเวลานั้นว่าไปแล้ว ดีลยังไม่จบไปเอาความมั่นใจมาจากไหนกัน? งานนั้นใครลาก ใครปั่น และใครได้ ใครเสีย? ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่ชวนให้น่าตรวจสอบ (โปรดติดตามอ่านรายละเอียดได้ในตอนต่อไป)
เนื่องเพราะดีลนี้ตามขั้นตอนทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นจะอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีเงื่อนไขว่า ผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของ Bitkub ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องออกมาเป็นที่น่าพอใจ หรือเรียกว่า “ตรงปก” และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสํญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน
ยังไม่ทันปัง ฤาจะพังเสียก่อน?
มีรายงานว่า กลุ่มไทยพาณิชย์ ได้ดำเนินการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) และยื่นคำขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในการลงทุนใน Bitkub เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังไม่มีใครยืนยันรายละเอียดว่า หลังจากทำดีลดิลิเจนท์แล้วมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ หรือมูลค่าการซื้อขายระหว่างกันหรือไม่ ซึ่งหมายความว่า ขณะนี้ซูเปอร์ดีลระหว่าง SCBX กับ Bitkub อยู่ในการพิจารณาของแบงก์ชาติ
ผลการพิจารณาของแบงก์ชาติจะออกหัวหรือก้อยยังต้องติดตามกัน แต่จากสัญญาณที่แบงก์ชาติในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดเงินดูเหมือนจะมีความเข้มข้นในการปกป้องความเสี่ยง เน้นมาตรการปลอดภัยไว้ก่อน หลายฝ่ายเชื่อว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝ่าด่านธปท.
ยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ผลกระทบจากภัยพิบัติโควิดระบาด มาจนถึงวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีความผัวผวนอย่างหนัก ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีอยู่ในภาวะดิ่งเหวที่มองไม่เห็นก้นเหว ซึ่งหวั่นวิตกกันว่า ตลาดเทรดคริปโตฯ ที่ได้ชื่อว่า “ตลาดซิ่ง” ขึ้น-ลง ไม่มีเพดาน ไม่ต่างกับรถไฟเหาะตีลังกา จะเข้าสู่วงจร ‘ภาวะหมี’ แตกต่างจาก ‘ภาวะกระทิง’ ช่วงเฟื่องฟูปี 2564 ที่ SCBX จะเข้าซื้อ Bitkub เหมือนที่เคยเกิดขึ้นช่วง 3-4 ปีก่อนนี้ทำให้มูลค่าหดหายไปมหาศาล
กล่าวได้ว่า ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อคริปโตฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ SCB ประกาศจะซื้อหุ้นบิทคับดังกล่าว มิพักต้องสงสัยว่า เวลานี้มูลค่าของตลาดคริปโตฯ ของบิทคับจะหายไปแค่ไหน ขณะที่นักลงทุนขยาดที่จะลงทุนเพิ่ม ติดอยู่บนดอยสูง เกิดความเสียหายโดยที่การฟื้นตัวยังมองไม่เห็น ย่อมส่งผลต่อ รายได้จากค่าต๋งในการเทรดและกำไรของบิทคับโดยตรง
ประกอบกับความเข้มงวดของแบงก์ชาติที่ผ่านมา ตีกรอบไว้ชัดเจนเป็นกฎเหล็กไว้ว่า ถึงแม้ธนาคารพาณิชย์จะปรับโครงสร้างธุรกิจการเงินอย่างไร แบงก์ต่างๆ ยังมีหน้าที่รับเงินฝากจากประชาชน เพราะฉะนั้นการดำเนินการใดๆ ที่จะนำความเสี่ยงมาสู่แบงก์ ธปท.จะไม่ยอมให้เกิดขึ้น พูดง่ายๆ ว่า กรณีของบิทคับก็ไม่มีข้อยกเว้น ต้องไม่นำความเสี่ยงใดๆมาสู่แบงก์ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม
ปกติแล้ววงจรของตลาดคริปโตฯ ผันผวนขึ้นสูงสุดเป็นพันๆ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ลงได้เป็นพันๆ เปอร์เซ็นต์เช่นกัน เป็นวงจรที่สลับไปมาอยู่เสมอ ตอนนี้ภาวะยิ่งผันผวนหนัก นั่นทำให้บิทคับ ถูกมองว่าอยู่ในโซนมีความเสี่ยงสูง ดีลที่ไทยพาณิชย์คาดหวังไว้สูงจะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต นำยานแม่ตะบึงไปในจักรวาล ถึงเวลานี้เริ่มมีคำถามถึง “ความเสี่ยง” ที่จะได้มากกว่าความคุ้มค่าหรือไม่? หรืออีกนัหนึ่ง ว่า ความปังยังไม่เกิด หรือ ความพังจะมาก่อน?
คำถามคือ แล้วผู้คุมกฎอย่างแบงก์ชาติ-ก.ล.ต.จะยอมหรือ?
SCBX ได้คุ้มเสีย? ที่แน่ๆ Bitkub นับเงินเพลิน
เดิมความปังของ SCBX ที่ว่ามาจากการคาดการณ์ว่าความเป็นเจ้าของในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จะเปลี่ยนมือมาเป็น SCBS ภายในไตรมาสแรกปีนี้ และหลายฝ่ายเชื่อว่านี่คือการตอบโจทย์ในแผนกระโดดขึ้นยานแม่ SCBX ของ SCB เพราะเดิมการเป็นเพียงแค่ธนาคาร ทำให้จะลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจึงเป็นเรื่องที่ยาก จึงจำเป็นต้องใช้บริษัทลูกเข้าทำ แม้ตัวเองจะเป็นผู้ลงทุน
เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นที่มาในการตั้ง Holding Company เพื่อตั้งบริษัทลูกขึ้นมาหลายบริษัท เพื่อมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายกิจการท่ามกลางธุรกิจธนาคารที่เผชิญการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หากธนาคารเข้าลงทุนโดยตรงจะเจออุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องการสำรองเงินเผื่อฉุกเฉินที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ SCB มองเห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็น New Growth ที่น่าสนใจลงทุน เพราะจะช่วยให้ SCBX สามารถสร้างคุณค่าใหม่ที่สามารถเติบโตในระยะยาวไปกับโลกใหม่ได้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยานแม่ ในการยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงิน สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภค และสามารถเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
ทั้งที่ Bitkub นั้นคือ Decentralized Finance (Defi) หรือการกระจายศูนย์ทางการเงิน ซึ่งระบบเดิมจะมีธนาคารเป็นผู้ดูแล แต่ Defi นั้นจะเป็นการทำธุรกรรมที่ไม่ผ่านธนาคาร ซึ่งเหมือนสิ่งที่ย้อนแย้งกัน
ประการสำคัญ ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนับแต่เข้าสู่ปีเสือ 2565 หากตลาดเทรดคริปโตฯ ดำดิ่งเช่นนี้ ซึ่งคาดกันว่า ไซเคิลจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 ปีกว่า ผลประกอบการที่คาดหวังไว้ในการลงทุน Bitkub ย่อมไม่เป็นไปตามที่คาดอย่างแน่นอน นั่นจะผลักดันให้กลุ่มไทยพาณิชย์กลายเป็นเสือลำบาก มูลค่าการลงทุน 1.78 หมื่นล้านจะต้องมีคำถามว่าคุ้มหรือไม่เมื่อต้องแบกรับ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับ Bitkub โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อเทียบกับกำไรของบิทคับที่แปรผันตามตลาดเทรดคริปโตฯ ก่อนนี้ มีกำไรเกือบๆ 2 พันล้านบาทต่อปี ถือว่ามี Valuation ที่เหมาะสม จากนี้ไปยังจะเหมาะสมอยู่อีกหรือไม่ กับโอกาสการที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นมีหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่นักวิเคราะห์เริ่มมองกัน
SCBX ประเมินไว้ว่า หลังเข้าบริหารกิจการบิทคับ ข้อดีของ Bitkub คือ การเป็นกระดานเทรดสัญชาติไทยที่มีผู้เปิดบัญชีอยู่กว่า 3 ล้านบัญชี สามารถแลกเปลี่ยนจากเงินบาทเป็นเหรียญดิจิทัลได้เลย ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุที่ Bitkub สามารถผูกบัญชีธนาคารไว้กับบัญชีผู้ใช้ ดังนั้นการที่ SCB เข้ามาถือหุ้น 51% ย่อมได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันการจะถอนเงินจาก Bitkub เข้าบัญชีธนาคารต้องเสียค่าธรรมเนียม และ SCB สามารถดึงลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีกับตัวเองได้เพิ่มเพียงแค่ลดค่าธรรมเนียมให้น้อยกว่าเจ้าอื่นๆ
นอกจากนี้ ดีลครั้งนี้จะทำให้ SCB ได้เทคโนโลยีของ Bitkub เข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มลงทุนจากศูนย์ หรือเริ่มตั้งแต่ตั้งไข่ ขณะเดียวกัน Bitkub จะได้รับเงินทุนจำนวนมากเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบจาก SCB
แต่ด้วยดีลนี้เป็นดีลขนาดใหญ่ และหากเป็นดีลขนาดใหญ่โดยทั่วไปจะต้องมีการพิจารณาจากบอร์ด และการทำข้อตกลงร่วมกัน จากนั้นจะใช้ระยะเวลาในการคิดคำนวณหามูลค่าลงทุนที่เป็น Fiar Value ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อได้ราคามายังจำเป็นต้องมีการเจรจาต่อรองกันอีกรอบ
จากข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอข้างต้น จึงกลายเป็นคำถามว่า “สรุปแล้วดีลนี้มัน win-win หรือได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายจริงหรือไม่?”
หันมาดูฝากของ Bitkub บ้าง สำหรับ Bitkub ถือเป็น 1 ใน 7 กระดานเทรดเหรียญดิจิทัลของไทย ซึ่งได้ไลเซนส์จากคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อตั้งโดย “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหลังจากก่อตั้งบริษัท ท๊อปกลายเป็นเน็ตไอดอลของนักเทรดคริปโตฯ มือใหม่ Bitkub เป็นที่รู้จักในหมู่คนรุ่นใหม่ บรรดาสตาร์ทอัป นักเรียนนักศึกษา ไปจนรายย่อยที่ต้องการเข้าสู่ตลาดเทรดคริปโตฯ เก็งกำไร
Bitkub นั้นขี่กระแสบิตคอยน์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ประกอบกับการปูพรมทำการตลาดแบบออฟไลน์-ออนไลน์ ให้ทุกคนได้เห็นและคุ้นชื่อ คิดถึง บิตคอยน์ คิดถึงบิทคับ ชวนเชื่อว่า นี่เป็นโลกใหม่ แพลตฟอร์มที่จะเชื่อมทุกคนไปสู่โลกอนาคต
ว่ากันว่า ก่อนที่ท๊อปจะปิดดีลกับไทยพาณิชย์ เขาเร่เสนอขายหุ้นให้บรรดาเศรษฐีทั่วฟ้าเมืองไทย แต่ไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งน่าคิดว่า ทำไม? เพราะอะไร? เศรษฐีนายทุนทั้งหลายจึงปฏิเสธที่จะลงทุน? ต่อมานักวิเคราะห์เชื่อกันว่า สาเหตุที่หลายคนปฏิเสธ บิทคับอาจจะเห็นว่า มูลค่าที่ท๊อปเสนอมานั้นสูงเกินจริง ขณะที่คริปโตฯ เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่ไม่แตกต่างจาก “บ่อนพนัน” โอกาสที่จะให้ผลประโยชน์คุ้มค่าในการลงทุนนั้นประเมินยาก
วันนี้ โดยหากไม่นำไปเปรียบเทียบกับ Binance ซึ่งเป็นกระดานเทรดระดับโลกที่คนไทยนิยมเปิดบัญชี Bitkub ใช้เวลาเพียง 3 ปีสามารถเป็นกระดานเทรดที่มีคนใช้มากที่สุดในไทย ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 3 ล้านบัญชี ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยประมาณ 90% และมีมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วง 9 เดือนแรกในปี 2564 มากกว่า 1.03 ล้านล้านบาท
เมื่อข่าวว่าท็อปจบดีลกับไทยพาณิชย์ได้เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 จึงทำให้หลายคนประหลาดใจ แน่นอนว่า ฝ่าย SCBX ก็ไม่ได้จีบแค่ท๊อปคนเดียว แต่สิ่งที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในกลุ่มแฟนคลับของบิทคับ คือ ทำไมเขาจึงยอมเสียการบริหารบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งมากับมือโดยยอมขายให้ไทยพาณิชย์มากถึง 51% เหลือสถานะแค่ผู้ถือหุ้นจนแฟนคลับบางกลุ่มรับไม่ได้ถอนตัว ปิดบัญชีไปเลยก็มี
ก่อนหน้านี้ เคยมีการซื้อขายหุ้นในธุรกิจตลาดเทรดคริปโตฯ และโบรกเกอร์คริปโตฯ รายอื่นๆ ให้ผู้เล่นรายใหญ่เกิดขึ้นบ้าง เช่น การเข้าถือหุ้นใน Zipmex ของธนาคารกรุงศรีฯ แต่ก็ไม่ใช่สัดส่วนที่สูงถึง 51% เหมือนกรณี SCBX กับบิทคับ
ในวงการสตาร์ทอัป ว่ากันว่า จุดหมายปลายทางของธุรกิจเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งหรือจุดพีก ผู้ก่อตั้งที่มองเห็นโอกาสมักจะขายธุรกิจเพื่อทำกำไร หรือ “EXIT” ออกมาพร้อมกับเงินก้อนโตที่ได้จากนักลงทุน หรือผู้เล่นรายใหญ่ที่เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ เพื่อไปหาความท้าทายใหม่ หรือปั้นธุรกิจใหม่ย่อมดีกว่า และเป็นวิถีที่สตาร์ทอัพกระทำกัน เพราะ “จังหวะ” คือ “โอกาส” นั่นเอง
“SCB เวลานั้นต้องการหาการฟื้นตัว หาธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโต และอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วคือ Start Up โดย Start Up ที่เป็นไฟแนนซ์และเติบโตเร็วที่สุดก็ต้องตลาดคริปโตเคอร์เรนซี นั่นจึงทำให้ก่อนที่จะมาจบดีลกับ Bitkub นั้น SCB มีการส่งทีมงานผู้คุยกับ Exchange ที่มีใบไลเซนส์จากคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทุกราย เพราะเขาสนใจเข้าลงทุนเพื่อให้มาเป็นธุรกิจหลักในอนาคต แต่หลายบริษัทเขามองต่างว่า นี่คือธุรกิจหลักที่กำลังเติบโตอยู่ในปัจจุบัน และไม่ต้องการให้มีใครเข้ามาควบคุมหรือแบ่งปันอำนาจเลยมีการปฏิเสธไป แต่เผอิญการพูดคุยกัย Bitkub มันประสบความสำเร็จ จึงเกิดดีลนี้ขึ้น” แหล่งข่าวในวงการตลาดคริปโตฯ แสดงความเห็น
“นอกจากนี้ นี่เป็นความฉลาดท๊อป-จิรายุสเจ้าของ Bitkub ที่มองออกว่า ตลาดในช่วงนั้นสำหรับบิทคับน่าจะเป็นจุดสูงสุด (Peak) แล้ว ดังนั้น การที่ได้รับโอกาสเป็นเม็ดเงินที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่ยอมขายหุ้นบางส่วนออกมาเพื่อทำกำไร มันก็เหมือนกับหลายธุรกิจอื่นๆ ที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ เมื่อมีรายใหญ่เข้ามาซื้อกิจการส่วนมากก็จะเป็นช่วงที่อยู่บนจุดสูงสุดของบริษัทนั้นแล้ว ขายไปแล้วได้กำไรได้เงิน อนาคตจะออกไปเปิดใหม่อีกย่อมทำได้” แหล่งข่าวกล่าวและว่า นี่เป็นอีกสิ่งที่จะทำให้ในอนาคตตลาดคริปโตฯ เมืองไทยหวือหวานั่นคือราคาประเมินในดีลดังกล่าวที่สูงมาก นั่นย่อมทำให้ต่อไป หากธนาคารไหนสนใจจะเข้าเทกโอเวอร์ Exchange แบบนี้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาลงทุน บนความเสี่ยงที่มีอยู่
นั่นหมายความว่า เมื่อไรก็ตามที่ซูเปอร์ดีลนี้จบสมบูรณ์ SCBX เดินไปบนความเสี่ยงของธุรกิจบิทคับแต่สำหรับกับ “ท๊อป-จิรายุส” มีแต่ได้กับได้ มีคนมาช่วยรับความเสี่ยงไป และ ยัง Exit ออกมาด้วยเม็ดเงิน 1.78 หมื่นล้าน นับกันเพลินๆ มองหาโอกาสใหม่ให้ตัวเองสบายๆ และยังสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง หลัง SCBX ใส่เงินลงทุนมา บิทคับ ที่ก่อตั้งกลายเป็น “ยูนิคอร์น” ติดปีกบินเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแวดวงสตาร์ทอัปเมืองไทยอีกด้วย
ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทลูกในเครือบิทคับในส่วนที่ท๊อป-จิรายุส ยังดูแลเริ่มขยับร่วมมือกับพันธมิตร เปิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นๆ (โปรดติดตามอ่านรายละเอียดได้ในตอนถัดไป)
3.5 หมื่นล้านบาทสูงไปหรือเปล่า?
ทีนี้กลับมาย้อนดูความเสี่ยงของ SCBX กันทีละประเด็น เริ่มกันที่มูลค่าของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ที่ถูกคำนวณว่าสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท และ SCB ต้องใช้เงินสูงถึง 1.78 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ได้สิทธิในการเข้าถือหุ้น 51% นั้น จนปัจจุบันนี้ก็มีหลายเสียงที่มองว่า มูลค่าดังกล่าวนั้นสูงมาก สูงจนอาจเรียกได้ว่าสูงจนเกินไป แม้จะมีรายได้ 9 เดือนแรกปี 2564 ที่ระดับ 3.27 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.53 พันล้านบาท นั่นเพราะทุกธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง ไม่พ้นแม้แต่ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ เพราะอาจจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับปัจจุบัน โดยราคาเหรียญสำคัญอาจจะลดลงไป ซึ่งจะมีผลให้รายได้ของบริษัทลดลงไปด้วย
รายได้กับวอลุ่มที่ชวนสงสัย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ชวนสงสัย นั่นคือ รายได้กับปริมาณการซื้อขายของ Bitkub เพราะจากข้อมูลที่นำเสนอมาด้วยวอลุ่มซื้อขายรวม 9 เดือน 1.03 ล้านล้านบาท กับค่าธรรมเนียม 0.25% นั้นไม่สามารถออกดอกผลมาเป็นรายได้ถึงระดับ 3.27 พันล้านบาทได้ และน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านบาท
“เขาอาจจะมีรายได้จากค่าฟีในการถอนเงินเข้ามาเสริม แต่เชื่อว่ามันไม่ได้เยอะขนาดนั้น เพราะหากต้องการให้ได้รายได้ระดับนั้นมันต้องใช้ Trading Volume ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท คือมากขึ้นอีก 2 แสนล้านบาท อันนี้มันทำให้น่าสงสัย”
Market Maker นัยแฝงของค่าฟี
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะออกเหรียญแต่ละเหรียญนั้นมันมีต้นทุนหลายด้าน นั่นรวมถึงการมี Market Maker หรือบุคคลที่ถูกเชิญเข้ามาช่วยดูแลสภาพคล่อง เพื่อให้ตลาดเทรดนั้นมีความเคลื่อนไหว เพราะว่าไปแล้ว ตลาดเทรดในไทยยังเป็นกลุ่มเฉพาะนักลงทุนในตลาดไม่ได้มากเหมือนตลาดหุ้นที่มีมานาน จำเป็นต้องอาศัยกลุ่มคนมาสร้างสภาพคล่อง ซึ่งบางเหรียญ Market Maker อาจมีมากกว่า 3-5 ราย ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับ Trading Volume ที่ข้อมูลของบิทคับเปิดเผยมา ปริมาณการซื้อขายแท้จริงจึงไม่น่าจะถึง เพราะส่วนนี้รวมต้องไม่ลืมนับ Maket Maker เข้าไปด้วย
“มากที่สุดอาจเหลือแค่ 1 ใน 3 จากข้อมูลที่นำเสนอออกมา และเราต้องไม่ลืมว่า Maket Maker พวกนี้เข้าเทรดฟรี โดยไม่มีการคิดค่าฟี หรือค่าธรรมเนียม นั่นยิ่งทำให้ตัวเลขรายได้ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น”
กัลฟ์กับไบแนนซ์เขย่าขวัญ SCBX – บิทคับ
ประเด็นถัดมาถือว่าเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงทางธุรกิจนั่นคือ โอกาสที่จะเกิด “คู่แข่งขัน” นั้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเข้ามาโดยตรงจากต่างประเทศ หรือการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคารอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีแนวคิดเดียวกันกับ SCB เกิดขึ้น นั่นย่อมหมายถึงสงครามในการแย่งชิงจำนวนบัญชีลูกค้าในอนาคตที่มีความเป็นไปได้มาก แม้ Bitkub จะออกตัวนำเจ้าอื่นๆ ไปก่อนก็ตาม แต่หากเกิดสงครามแย่งชิงลูกค้าทำให้ต้องเกิดการตลาดลดราคาค่าบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การไม่คุ้มค่ากับการลงทุนตามมา
กรณีของบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเม้นท์ ส่งกัลฟ์ อินโนวา ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุ่มไบแนนซ์ (Binance) ซึ่งดำเนินธุรกิจ ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่เบอร์ต้นๆ ของโลกที่มีปริมาณการซื้อขายมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่นักเทรดคริปโตฯ เมืองไทยรู้จักกันดีจะเข้ามาเปิดแนวรุกเปิดตลาดในไทย กำลังได้รับการจับตาว่า จะเข้ามาเปลี่ยนเกมตลาดคริปโตฯ ที่บิทคับครองส่วนแบ่งตลาดอยู่อย่างแน่นอน
งานนี้นักวิเคราะห์มองกันว่า บิทคับ ที่เคยดำเนินธุรกิจแบบไร้คู่แข่งจะเจอศึกหนัก และเรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยงของ SCBX ที่แม้จะคาดไว้แล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าจะมาเร็วขนาดนี้
1.78 หมื่นล้านบาทคืนทุนเมื่อใด?
มาถึงคำถามที่ขณะนี้กำลังเป็นประเด็น นั่นคือ โอกาสในการคืนทุนของ SCBX จะต้องรอถึงเมื่อใด นักวิเคราะห์แสดงความเห็นว่า หากคำนวณจากตัวเลขที่ Bitkub นำเสนอในช่วงที่เป็นข่าวคืองวด 9 เดือนแรกปี 2564 มาคำนวณโอกาสในการคืนทุนภายใน 1-2 ปีนั้นยังเป็นไปได้ยากเพราะตลาดคริปโตฯ เมืองไทยแม้จะเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังไม่ใหญ่มากพอกับตลาดในต่างประเทศ อีกทั้งการจะทำให้เติบโตได้ต้องมีโปรดักต์ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุน
เมื่อประมวลจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาการคืนทุนอาจจะใช้เวลานานกว่าเดิม ที่เหลือต้องพยายามอย่างหนักเพื่อรอให้ไซเคิลของคริปโตเคอร์เรนซีหวนกลับมาอยู่ในภาวะกระทิง และผลักดันแผนในการทำ IPO ของบิทคับที่คาดว่าจะระดมทุนได้อีกรอบให้ลุล่วงโดยเร็ว แต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของบิทคับ SCBX น่าจะต้องทำใจกับมูลค่าที่ลดลง และประเด็นที่ไม่เคยมีใครมอง นั่นคือ การลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และการให้ความสำคัญในเรื่องระบบหลังบ้านและด้าน SECURITY เพราะ Bitkub เคยมีปัญหารับออเดอร์ไม่ทัน และยังไม่เคยเจอบททดสอบที่สำคัญ เช่น การโดนแฮกข้อมูล (Hack) ในฐานะ Exchange ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับ Exchange รายใหญ่มามากแล้ว
“ถ้าโดนแฮกขึ้นก็ไม่รู้จะเกิดอะไรกับ SCB ยิ่งโดนหลังจากดีลนี้จบแล้วยิ่งน่ากังวล เพราะเวลาแฮกกันเขาไม่ได้แฮกกันน้อยๆ มันเป็นเม็ดเงินจำนวนมาก และการที่ Exchange โดนแฮก มันหมายถึงต้องรับผิดชอบในส่วนที่สูญหายไปของลูกค้าด้วย ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามว่าจะรับมือกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร”
งานนี้ต้องติดตามกันต่อไป เมื่อ SCBX กระโดดขี่หลังยูนิคอร์น Bitkub บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
(โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2 ย้อนรอยซูเปอร์ดีล หุ้นพุ่ง-Kubcoin ทะลุเมฆ ใครปั่น ใครได้ ใครเสีย ในวันจันทร์ถัดไป)