SCBX ทุ่ม 31,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ Home Credit Vietnam ขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยในเวียดนาม

SCBX ทุ่ม 31,000 ล้าน เข้าซื้อกิจการ Home Credit Vietnam ขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยในเวียดนาม จากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงยังเป็นการกระจายรายได้ของกลุ่มด้วย

SCBX ประกาศเข้าลงทุนใน Home Credit Vietnam ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อผู้บริโภค (Consumer Finance) โดยคิดเป็นเงิน 31,000 ล้านบาท โดยเป็นก้าวสำคัญในการเจาะตลาดภูมิภาค จากปัจจัยการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม รวมถึงเป็นการกระจายรายได้ของกลุ่ม

สำหรับ Home Credit มีเจ้าของคือ PPF ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนรายใหญ่ของสาธารณรัฐเช็ก โดยสำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจสินเชื่อของบริษัทนั้นประสบปัญหาขาดทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 ซึ่งเกิดจากบริษัทขาดทุนจากการถอนธุรกิจจากรัสเซีย

ผลที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต้องการขายธุรกิจในต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการขายกิจการในอินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมีการประกาศขายธุรกิจในเวียดนามในเวลาต่อมา ซึ่งสำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลหลายราย รวมถึงสถาบันการเงินในประเทศไทยด้วย

Home Credit Vietnam ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 ปัจจุบันเป็นผู้เล่นอันดับ 2 ในตลาดสินเชื่อผู้บริโภคในประเทศเวียดนาม ซึ่งให้บริการสินเชื่อสินค้าคงทน สินเชื่อหมุนเวียน สินเชื่อเงินสด และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ให้กับผู้บริโภคชาวเวียดนาม

โดย Home Credit Vietnam มีลูกค้ากลุ่ม Mass และ Upper Mass รวมกันมากถึง 15 ล้านราย มีเครือข่ายจุดให้บริการ 14,000 จุด และตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการสินเชื่อรายนี้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของสินทรัพย์เฉลี่ยต่อปีสูงถึง 18.7%

สำหรับผลประกอบการของ Home Credit Vietnam ในปี 2022 บริษัทมีกำไรประมาณ 1,320 พันล้านดอง หรือเทียบคิดเป็นเงินไทย 1,940 ล้านบาท

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวว่า “การเข้าซื้อธุรกิจ Home Credit Vietnam ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของ SCBX ในแผนยุทธศาสตร์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของภูมิภาค ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ SCBX ในตลาดอาเซียนที่มีการเติบโตสูง และเพื่อเพิ่มมูลค่าและผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว”

คาดว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในครึ่งปีแรกของปี 2025 ขึ้นอยู่กับการได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง