ที ลีสซิ่ง โชว์กำไรปี 2564 โตกว่าปี 2563 ถึง 67% ตั้งเป้าปี 2565 ปล่อยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ วงเงิน 4,600 ล้านบาท เติบโต 25% มุ่งขยายตลาดไปภาคอีสาน พร้อมให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ เร่งพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการขายของดีลเลอร์ ร้านค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมกับการทำแคมเปญอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ดูแลพันธมิตรทางธุรกิจเสมือนเพื่อนคู่คิดมิตรที่รู้ใจ
นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.เอ็ม บี เค เปิดเผยว่า ปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีการระบาดไปทั่ว บริษัทฯ จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยเน้นการเจรจาและประเมินสถานการณ์ของลูกค้า และนำเสนอแนวทางการช่วยเหลือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่างวด การขยายเวลาในการชำระให้ยาวขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการช่วยลดภาระให้ลูกค้าในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ ซึ่งจากการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ในปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรเติบโตขึ้น 67% จากปีก่อนหน้า
ส่วนในปี 2565 นี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อประมาณ 4,600 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 25% โดยปีนี้จะใช้กลยุทธ์การตลาดด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการขายของดีลเลอร์ ร้านค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมกับการทำแคมเปญอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจากดีลเลอร์ ร้านค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,000 ราย บริษัทจึงมุ่งเน้นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรและเสริมศักยภาพให้กับพันธมิตรซึ่งเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดมิตรที่รู้ใจกับทางบริษัท โดยจะจัดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ไปแนะนำและบริการอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้บริษัทได้วางแผนการตลาดระยะยาวขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปีนี้จะเริ่มต้นขยายตลาดไปยังพื้นที่ภาคอีสาน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายในยุคดิจิทัล โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชันในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าให้สามารถใช้ QR Code ในการชำระค่างวดแทนการใช้การ์ด การตรวจสอบประวัติการชำระค่างวด การดูข้อมูลรถ และเป็นช่องทางการรับข่าวสารต่าง ๆ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการทำงานของพนักงานในทุกจุดบริการ (Touch Point) เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า โดยจัดให้มีการกำหนดมาตรฐานของการทำงาน การประเมินผลการให้บริการ รวมถึงการรับข้อร้องเรียนจากลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น