“ไข่หวานบ้านซูชิ” แฟรนไชส์ซูชิ 83 ล้าน กับยุคเปลี่ยนผ่านสู่เจ้าของใหม่

ไข่หวานบ้านซูชิภายใต้เจ้าของใหม่ บริษัท ที เอช เค โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) เร่งสปีดขยายแฟรนไชส์ พร้อมเคลียร์ใจสาขาต้นตำรับเมืองทองธานี ย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา นำร่องโมเดลใหม่มีไดรฟ์ทรู เตรียมเปิดปลายเดือนเมษายนนี้

จากธุรกิจครอบครัว สู่โฮลดิ้ง คอมพานี

ถ้าพูดถึงประเภทของอาหารต่างๆ อาหารญี่ปุ่นต้องอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ ที่คนไทยโปรดปราน ไม่ว่าจะเป็นซูชิ ราเมน ปลาดิบ หรือข้าวหน้าต่างๆ ทำให้ได้เห็นร้านอาหารญี่ปุ่นมากมายหลายแบรนด์ในไทย ทั้งเป็นเชนร้านอาหารใหญ่ๆ และร้านแบบโลคอล และแทบจะมีในทุกระดับราคาตั้งแต่กลางๆ ไปจนถึงพรีเมียม

ซูชิเป็นอีกหนึ่งเมนูยอดนิยมในบรรดากลุ่มอาหารญี่ปุ่น ในประเทศไทยมีหลายเซ็กเมนต์มากตั้งแต่ราคาคำละ 5 บาทตามตลาดนัด ระดับกลาง ระดับร้านอาหารญี่ปุ่น ไปจนถึงระดับพรีเมียมแบบโอมากาเสะเลยทีเดียว ซึ่งในเซ็กเมนต์ระดับกลางราคาเริ่มต้นหลักสิบบาท เป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโต และได้รับความนิยมจนต่อยอดเป็นแฟรนไชส์ได้มากมาย ปัจจุบันมีนับ 10 แบรนด์เลยก็ว่าได้

ไข่หวานบ้านซูชิ

“ไข่หวานบ้านซูชิ” เป็นหนึ่งในแบรนด์ต้นๆ ในกลุ่มนี้ เป็นแฟรนไชส์ซูชิที่มีหลายสาขา มีคอนเซ็ปต์หลักคือ ซูชิในราคาไม่แรง เริ่มต้นที่ 10-30 บาท มีหลายหน้า มีสาขาเยอะ

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ก่อตั้งโดย ปุณิกา ธรรมขันธ์ หรือ เจี๊ยบ ข้อมูลจากรายการอายุน้อยร้อยล้าน ออกอากาศเมื่อเดือนมกราคม 2561 ระบุว่าปุณิกา เป็นพยาบาล มีแฟนหนุ่ม นิกร คลังทอง ที่ทำอาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว มีความรู้เรื่องซูชิ วัตถุดิบ และการปรุงน้ำซอส น้ำส้ม จึงมีความสนใจอยากเปิดร้านเอง ได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ การบริหารธุรกิจจึงเป็นสไตล์ธุรกิจครอบครัว

ปุณิกา ธรรมขันธ์
ปุณิกา ธรรมขันธ์ เจ้าของเดิมของไข่หวานบ้านซูชิ

จุดเด่นตรงที่การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีสูตรเฉพาะของทางร้าน และราคาไม่แพงมาก ไม่เอากำไรมาก เริ่มต้นขายที่ล็อกศูนย์อาหารเมืองทองธานี โซน A ผลจากการบอกปากต่อปาก และแชร์ลงโซเชียลฯ อีกทั้งศูนย์อาหารมีการปรับปรุง ผ่านไป 4-5 ปี จึงย้ายร้านมาตั้งเป็นร้านประจำ เป็นห้องแถว เป็นอีกหนึ่งเดสติเนชั่นของเมืองทองธานี ในตอนนั้นมีเมนูซูชิทั้งหมด 40 หน้า เริ่มต้นที่ 10 บาท มียอดขายเดือนละแสนชิ้น รายได้เดือนละ 2 ล้านบาท

จากนั้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ไข่หวานบ้านซูชิเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ บริษัท ที เอช เค โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการเจรจาซื้อกิจการ และบริหารกิจการในนาม บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นการโอนถ่ายกิจการโดยสมบูรณ์ ผู้บริหารเดิมได้ให้สิทธิ์ขาดในแบรนด์สินค้า เครื่องหมายทางการค้า ตลอดจนสูตรลับ สูตรซอส สูตรน้ำจิ้ม ตลอดจนแหล่งวัตถุดิบ ความลับทั้งหมด พร้อมกับเงื่อนไขว่าผู้บริหารเดิม (ปุณิกา) จะไม่สามารถประกอบธุรกิจ บริการอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันได้ ในการซื้อขายในขณะนั้น ไข่หวานบ้านซูชิมีสาขาทั้งหมด 70 สาขา

ไข่หวานบ้านซูชิ

อมรา ไทยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า

“แต่เดิมไข่หวานบ้านซูชิดำเนินธุรกิจรูปแบบครอบครัว จุดเริ่มต้นในการซื้อกิจการครั้งนี้ เนื่องจากไปทานอาหารญี่ปุ่น แล้วชื่นชอบรสชาติ เลยเจรจาขอซื้อทั้งแบรนด์ ทั้งสูตรเฉพาะ แหล่งวัตถุดิบ สัญญาได้สิทธิ์ขาดทุกเรื่อง การเปลี่ยนแปลงก็คือ แบรนด์จะถูกบริหารด้วยมืออาชีพ มีระบบในการขยายแฟรนไชส์มากขึ้น”

บริษัท ที เอช เค โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทโฮลดิ้ง คอมพานีที่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจต่างๆ มีบริษัทในเครือกว่า 40 บริษัท ครอบคลุมหลากหลายธุรกิจ ได้แก่ ขนส่ง ค่ายเพลง อาหาร อสังหาริมทรัพย์ ไอที โรงแรม รวมไปถึง “มังกรฟ้า” ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทางบริษัทได้ร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน

ข้อพิพาทสาขาเมืองทองฯ

แต่เดิมไข่หวานบ้านซูชิ สาขาเมืองทองธานี เปรียบเสมือนสาขาดั้งเดิม สำนักงานใหญ่ รวมไปถึงเป็นสถานที่เทรนนิ่งสำหรับแฟรนไชส์อีกด้วย เนื่องจากเป็นสาขาแรกที่ปุณิกาทำธุรกิจก่อนที่จะขยายสาขาต่อเนื่อง

ทีนี้หลังจากที่เกิดการซื้อกิจการ ทางปุณิกายื่นข้อเสนอ 1 ข้อ โดยขอดูแลสาขาเมืองทองฯ ต่อไปก่อน เนื่องจากปั้นมากับมือ ทางทีมผู้บริหารใหม่ก็มองเห็นว่า ใช้สาขาเมืองทองเป็นสาขาต้นแบบในการฝึกพนักงานสำหรับขยายแฟรนไชส์ไปก่อน แต่ปุณิกาจะได้สิทธิ์แค่พื้นที่ร้าน และอุปกรณ์เท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ในเรื่องสูตรอาหารแล้ว

ปรากฏว่าเมื่อไม่นานมานี้ปุณิกาต้องการหยุดพักในการทำธุรกิจ จึงประกาศเซ้งร้าน และอุปกรณ์ภายในร้านทั้งหมด ผู้ที่มาซื้อต่อก็คือ แฟรนไชส์ใน จ.ราชบุรี จากนั้นได้ทำการเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “Sushi To Go – ซูชิทูโก เมืองทอง”

อมราบอกว่า เป็นการเข้าใจผิดกัน การที่เจ้าของเก่าประกาศขายอุปกรณ์ และร้าน แต่สิทธิ์ในการบริหารร้านเป็นของทีมใหม่แล้ว แต่ทางนั้นได้ทำการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ไปด้วย

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ “Sushi To Go – ซูชิทูโก เมืองทอง” ระบุว่า “เนื่องจากทางแบรนด์ไข่หวานบ้านซูชิ มีการปรับปรุงรายละเอียดของสัญญาจากทีมผู้บริหารใหม่ในมาตรฐานและสูตรมาตรฐาน เพื่อควบคุมรสชาติและวัตถุดิบของทุกสาขาให้เป็นตามข้อกำหนดของบริษัท ดังนั้นเพื่อให้มาตรฐานรสชาติอาหารและคุณภาพวัตถุดิบซูชิตามที่ลูกค้าคุ้นเคยตามแบบฉบับของร้าน ไข่หวานบ้านซูชิ เมืองทอง จึงไม่สามารถปฏิบัติตามได้ และขอเปลี่ยนชื่อเป็น ซูชิทูโก (SUSHI TO GO) เมืองทอง ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน”

ด้านเฟซบุ๊ก “ไข่หวานบ้านซูชิ สำนักงานใหญ่” โพสต์ข้อความระบุว่า “บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) จำกัด ขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า ร้านไข่หวานบ้านซูชิ สาขาเมืองทองธานี (สาขาแรก) ได้ย้ายความอร่อย มีสูตรเฉพาะ มายัง “ร้านไข่หวานบ้านซูชิ สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา” โดยสามารถติดตามข่าวสารอัปเดตได้ที่เพจ ไข่หวานบ้านซูชิ สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ทั้งนี้ แบรนด์ไข่หวานบ้านซูชิ ยังคงยึดมั่นในการรักษามาตรฐาน และใช้สูตรอาหารตามแบบฉบับของต้นตำรับเดิม (การันตีโดย คุณเจี๊ยบ ผู้ก่อตั้ง) ไม่ว่าจะเป็นซูชิที่สดใหม่ “หน้าใหญ่ ไซส์แน่น” และน้ำส้ม น้ำซอส สูตรพิเศษที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในสไตล์ญี่ปุ่น”

เตรียมปั้นสาขาเลียบด่วนฯ ศูนย์ฝึกแห่งใหม่

ก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาการเปลี่ยนชื่อร้านของสาขาเมืองทอง ทางทีมผู้บริหารใหม่ได้เตรียมย้ายศูนย์ฝึกเทรนนิ่ง และสำนักงานใหญ่มายังสาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทราอยู่แล้ว โดยต้องการพื้นที่มากขึ้น รองรับคนได้มากขึ้น

ไข่หวานบ้านซูชิ

“แต่ก่อนเราใช้สาขาเมืองทองฯ เป็นศูนย์ฝึกอบรมแฟรนไชส์ เนื่องจากเป็นตึกแถว อาคารพลาซ่า ทำให้มีพื้นที่น้อย เลยย้ายมาแห่งใหม่ที่อยู่แถวเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา มีพื้นที่เกือบ 1 ไร่ มีที่จอดรถมากกว่า 20 คัน ปั้นเป็นโมเดลไดรฟ์ทรูสาขาแรกด้วย”

สาขานี้จะมีโมเดลไดรฟ์ทรู และมีพื้นที่นั่งทานในร้าน คาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ใช้งบลงทุน 10-15 ล้านบาท

ธุรกิจแฟรนไชส์รุ่ง คนอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

ตอนที่ทำการซื้อขายกิจการเมื่อปี 2563 ไข่หวานบ้านซูชิมีสาขาทั้งหมด 70 สาขา ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 150 สาขา แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 70% และต่างจังหวัด 30% ในปีนี้ตั้งเป้ามีสาขาทั้งหมด 200 สาขา ที่จะขยายอีก 50 สาขาเป็นสาขาแฟรนไชส์ทั้งหมด

อมราบอกว่า แม้เศรษฐกิจ และสถานการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่นัก แต่ธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ลดลงเลย มีการขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากพิษของ COVID-19 ที่อาจจะทำให้หลายคนตกงาน จึงมองหาการทำธุรกิจเป็นของตัวเอง และการลงทุนแฟรนไชส์ก็ค่อนข้างที่จะการันตีความสำเร็จ และยอดขายได้ในระดับหนึ่ง เพราะแบรนด์ส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างแบรนด์ หรือทำการตลาดมากนัก

ปัจจุบันไข่หวานบ้านซูชิมีแพ็กเกจแฟรนไชส์ราคาเดียว 600,000 บาท ได้สิทธิ์ 3 ปี ไม่มีการเก็บค่า GP ราคานี้ไม่รวมค่าตกแต่งร้าน สิ่งที่ได้จะเป็นพวกอุปกรณ์ น้ำส้ม น้ำซอสในการสั่งซื้อครั้งแรก ส่วนวัตถุดิบอื่นๆ เช่น หน้าซูชิ ทางบริษัทไม่มีจำหน่าย แต่จะแนะนำซัพพลายเออร์ให้ ทางแฟรนไชส์สามารถซื้อจากที่แนะนำ หรือซื้อที่อื่น แต่ต้องมีคุณภาพใกล้เคียงกัน

ในการเปิดร้านแฟรนไชส์ทางบริษัทแนะนำว่าต้องมีพื้นที่ขนาด 50 ตารางเมตรขึ้นไป บาร์ซูชิต้องยาว 4 เมตร เน้นมีที่จอดรถ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่นิยมซื้อกลับบ้าน มองหาโมเดลใหม่ๆ ทำเลใหม่ๆ เช่นกัน ในห้างฯ ตลาด ปั๊มน้ำมัน

ในปี 2564 ไข่หวานบ้านซูชิมียอดขายรวม 83 ล้านบาท ปัจจุบันมีซูชิทั้งหมด 70 หน้า ราคาเริ่มต้น 10 – 30 บาท ยอดการซื้อเฉลี่ย 180-200 บาท/บิล

มีการตั้งเป้าขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ในตอนนี้ยังมี 28 จังหวัดที่ยังไม่มีสาขา ในโซนภาคใต้มีความยากมากที่สุด เพราะต้องผ่านฮาลาลก่อน รวมไปถึงมองแผนในการขยายไปตลาดต่างประเทศ มองที่เวียงจันทน์ ประเทศลาวก่อน จากนั้นค่อยไปกัมพูชา และมาเลเซีย เป็นโมเดลลงทุนเอง ก่อนที่จะขยายแฟรนไชส์ในอนาคต

โอกาสธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 64 ถึงแม้มีการระบาดของโควิด-19 ในไทยต่อเนื่อง

  • จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมีจำนวน 4,370 ร้าน (ไม่รวมร้านอาหารที่ปิดชั่วคราวเพราะผลกระทบโควิด-19)
  • เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบปี 63 ที่มี 4,094 ร้าน โดยอยู่ในต่างจังหวัด 2,297 ร้าน เพิ่มขึ้น 15.5% จากปี 63 ที่มี 1,989 ร้าน และในกรุงเทพฯ 2,073 ร้าน ลดลง 1.5% จากปี 63 ที่มี 2,105 ร้าน
  • เป็นครั้งแรกที่ร้านในต่างจังหวัดมีจำนวนแซงหน้าในกรุงเทพฯ
  • ประเภทร้านที่เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษคือ ร้านซูชิ เพิ่มถึง 342 ร้าน รวม 1,196 ร้าน โดยเฉพาะการเพิ่มสาขาแบบแฟรนไชส์ตามด้วยภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น 197 ร้าน รวม 1,071 ร้าน ร้านราเมง 80 ร้าน รวม 459 ร้าน