สงครามรัสเซีย-ยูเครน กดดันราคาต้นทุนการผลิตและต้นทุนขนส่งพุ่งแรง กระทบต่อราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกปรับขึ้น “เอกา โกลบอล” ผู้นำตลาดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร (Longevity Packaging) เผยผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือผลกระทบเศรษฐกิจระยะยาว ส่วนเทรนด์ธุรกิจอาหารยังเติบโตตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์โควิด
นายชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด (EKA GLOBAL) ผู้นำตลาดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร (Longevity Packaging) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ยังเป็นสถานการณ์สำคัญที่กดดันราคาต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตทั่วโลกทั้งราคาวัตถุดิบและค่าขนส่ง ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลกระทบต่อเนื่องถึงการทยอยปรับขึ้นราคาอาหาร ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค ทั่วโลกและไทย ซึ่งส่งผลต่อรายจ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นโดยตรง และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปพุ่งขึ้นแรง ล่าสุด ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน ก.พ. 65 แตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี มาอยู่ที่ 5.23% จากปีก่อน ผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของราคาต้นทุนทางการผลิตและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ จึงกดดันภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารและบรรจุภัณฑ์พลาสติก มีโอกาสปรับราคาขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ เอกา โกลบอล ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นการทำสัญญาระยะยาว รวมถึงการบริหารวัตุดิบ ต้นทุนของบริษัทก็ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุน และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ การบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายกับรายได้จึงยังควบคุมได้ และคำสั่งซื้อจากลูกค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องในอัตราไม่ต่ำกว่า 30-35% จากปีก่อน ตามเทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกที่ต้องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด และปลอดภัยสูง (Food Safety) รวมถึงเทรนด์ฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ตลอดจนถึงเทรนด์ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-To-Eat) และอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) พรีเมียม ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้บริษัทฯ มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมีการปรับตัวในด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้า เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทตอบโจทย์ลูกค้าในระยะยาว โดยวางแนวทาง การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) บรรจุภัณฑ์ Bioplastic (PLA) ที่ผลิตจากวัตถุดิบส่วนหนึ่งที่มาจากธรรมชาติ เช่น มันสัมปะหลัง ข้าวโพด หรือ อ้อย เป็นต้น 2) บรรจุภัณฑ์ Biodegradable ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติทั้งหมด และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 3) บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (PCR) หรือ เรซิน รีไซเคิล ฯลฯ ตั้งเป้าหมายจะได้เห็นอย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์ ภายในระยะ 1-3 ปีนี้ พร้อมกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถยืดอายุอาหาร (Shelf life) โดยไม่ต้องแช่เย็น ได้นานยิ่งขึ้นจากเดิมสามารถยืดอายุอาหารได้นานสูงสุด 2 ปี เป็น 3-5 ปี
“สถานการณ์ในไตรมาสแรก ยอดขายของบริษัทจะปิดตัวเลขคงเป็นไปได้ตามเป้า 30-35% เพราะออเดอร์จากลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศเพิ่มสูงมากขึ้น ล่าสุด บริษัทฯ มีออเดอร์ล่วงหน้าเต็มกำลังการผลิตกว่า 2,850 ล้านชิ้นต่อปี จนถึงไตรมาสสองของปีนี้แล้ว ดังนั้น โจทย์ที่ต้องคิดเรื่องการบริหารต้นทุนกับเทรนด์ผู้บริโภคตลาดโลก และเทรนด์ฟู้ดแพ็คเกจจิ้งตลาดโลกที่เติบโตมาก จึงเป็นงานที่ท้าทายในการคิดและดำเนินการควบคู่กันไป”
นายชัยวัฒน์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจร้านอาหาร น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับกระทบพอสมควร เพราะมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการต้นทุน และมีความยืดหยุ่นทางการเงิน รวมถึงการปรับขึ้นราคาสินค้าที่น้อยกว่าผู้ประกอบรายใหญ่ ดังนั้น หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็ว อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ มีผลกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาด และอาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในอนาคตได้
“นอกจากจะพึ่งนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว เอกา โกลบอล ก็มีแผนงานที่กำลังจะดำเนินการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยหากสถานการณ์โควิดคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น บริษัทจะจัดโรดโชว์เพื่อนำนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหารให้เข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ ได้มีโอกาสในการขยายตลาดมากขึ้น” นายชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย