ihere TV เปิดพื้นที่ "มันส์" บนหน้าจอ

ihere TV ถือเป็นหนึ่งในทีวีออนไลน์รุ่นบุกเบิกของประเทศไทย ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ihere TV มีอายุครบ 4 ขวบ และกำลังจะก้าวขึ้นสู่ปีที่ 5 ด้วยตำแหน่ง

ทีวีออนไลน์ที่มียอดผู้ชมมากที่สุดในประเทศไทย

ทีวีออนไลน์ที่มีเซเลบบริตี้จัดรายการมากที่สุดในประเทศ

นอกจากเริ่มต้นก่อนผู้ผลิตคอนเทนต์รายอื่นแล้ว เนื้อหา วิธีการถ่ายทอดแบบเสียดสี กัดเจ็บ หยิบเอาปัญหาที่ทุกคนเคยเจอมาขยี้ประเด็นให้ชัดเจนขึ้นในสไตล์ของ จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ คือ แม่เหล็กที่ทำให้ทีมงาน ihere เรียนรู้ว่า คอนเทนต์แบบไหนที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

“เจาะข่าวตื้น” จุดพลิก ihere

ความคิดเริ่มต้นตอนที่จอห์น-วิญญู ผันตัวเองจากพิธีกร-ดีเจ รายการวัยรุ่น อย่าง Wake Club หรือ Hot Wave ถูกสะท้อนอยู่ในชื่อ ihere มีที่มาจาก i-independent, indy และ Here บ่งบอกพื้นที่ที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง อีกทั้งยังแฝงความกวนด้วยเสียงที่อ่านได้หลายแบบ แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายของ ihere ซึ่งเป็นวัยรุ่น จนถึงคนทำงาน ต้องอ่านแบบไทยๆ มากที่สุด

“ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าอยากทำรายการของตัวเอง อยากลองทำอะไรในสไตล์ของตัวเองที่แตกต่างจากชาวบ้านเขา เราอยู่ในวงการโทรทัศน์มานาน ส่วนพี่โรซี่ (จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ พี่สาว) ก็เรียนจบมาทางด้านนี้ แล้วเราก็มีอุปกรณ์บางส่วนอยู่ ก็เลยคิดว่าอยากจะทำอะไรที่ทำไม่ได้ในฟรีทีวี เพราะฟรีทีวี มีข้อจำกัดอย่างเรื่องคอนเทนต์ ที่ต้องทำแบบสำเร็จรูปตามสไตล์ที่เขามีกันอยู่ หรือเครือข่ายที่อยู่เฉพาะกลุ่ม ผมก็รู้สึกว่านั่นไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริงสักเท่าไหร่ ตอนแรกก็เลือกหลายช่องทาง จะเป็นเคเบิลดีหรือเปล่า แต่ในที่สุดก็มาลงตัวที่อินเทอร์เน็ต”

เส้นทางการทำงานจากฟรีทีวีมาเป็นทีวีออนไลน์ ในระยะแรกไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด อุปสรรคทั้งจากคามเร็วของอินเทอร์เน็ตที่ยังช้าอยู่ ความเข้าใจของผู้ชมที่ยังไม่เก็ทว่ารายการทางอินเทอร์เน็ตเป็นเช่นไร และที่สำคัญที่สุด คือ รายการยังสร้างความแตกต่างให้สะกิดต่อมดูอยากของผู้ชมไม่ได้

“ตอนนั้นก็เหมือนโยนหินถามทางไปเรื่อยๆ เพราะมันใหม่มาก ไม่ค่อยมีใครทำ พอเราทำขึ้นมาคนก็ยังไม่เข้าใจ 2-3 ปีแรกมียอดคนเข้ามาชมแค่หลักล้าน รายการที่มีตอนนนั้นก็รายการเก้าอี้เสริม จัดรายการกับดีเจพล่ากุ้ง จนกระทั่งผมกับพี่โรซี่ก็มาคุยกันว่าจะทำยังไงดีเพื่อทำให้ยอดผู้ชมมันขยับ ก็เลยทำรายการเจาะข่าวตื้น ตอนแรกพูดถึงปัญาที่มันมีอยู่แล้วในสังคม เช่น คอรัปชั่น, ตำรวจจราจร ยอดคนดูก็ยังนิ่งอยู่ ทำไป 7-8 เทป จุดเปลี่ยนจริงๆ อยู่ที่เทป โอเน็ท โอ้ก็อด ซึ่งมันทำให้เราจับทางถูก ว่าเราต้องเอาเรื่องที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นมาพูด พอเรารู้ เราก็เข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น”

Turning Point สำคัญของ I here TV หลังจากลองผิดลองถูกมาถึง 3 ปี จากจำนวนผู้ชมหลักล้านครั้งภายใน 3 ปี กลายเป็น 18,536,794 ล้านครั้งในปีที่ 4 นอกจากนี้ช่วงเวลาดังกล่าวยังทำให้รายการอื่นของ ihere ค้นหาตัวเองได้ตรงจุดตามยุคสมัย จากเดิมดีเจโมเม-นภัสสร บุรณศิริ ที่ทำรายการสอนภาษาอังกฤษ ก็ปรับตัวมาเป็น “โมเมพาเพลิน” รายการสอนแต่งหน้าที่ตอนนี้สาวๆ ทั้งหลายเริ่มรู้จักกันมากขึ้น ยังมีรายการ “พ่อหมอรับจ้างกระแทก” ที่หยิบเอานักร้องที่คัฟเวอร์เพลงในยูทูปมานั่งพูดคุย แล้วโชว์ฝีมือให้ดู ส่วนรายการ “เก้าอี้เสริม” ซึ่งเป็นรายการบุกเบิกของ ihere ก็มีฐานผู้ชมเพิ่มขึ้น รวมทั้งหมดรายการใน ihere มี 12 รายการ ภายใต้คอนเซ็ปต์เนื้อหาเข้มข้น กวนประสาท มีอิสระทางความคิด

นี่คือบทเรียนที่สอนให้รู้ว่า ในโลกของอินเทอร์เน็ต ทีวีคอนเทนต์คือส่วนที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่คนดังหรือดารา

Thinker here here-นักคิดอยู่ที่นี่ ตรงนี้

การขยายตัวของ ihere ไม่ได้อยู่ที่ผู้ชมเท่านั้น ihere ยังเปิดรับรายการใหม่ๆ กับพิธีกรหน้าใหม่ที่ไม่เคยทำรายการโทรทัศน์มาก่อน เข้ามาจัดทำเนื้อหา ด้วยชื่อชั้นของ โหน่ง-วงศ์ทนง ผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day ในรายการ a Here ที่งานนี้ทั้งโหน่ง-วงศ์ทนงก็ได้พื้นที่แสดงความคิดผ่านช่องทางใหม่ที่เขาไม่เคยทำมาก่อน ขณะที่ ihere เองก็ได้ผู้นำทางความคิดของกลุ่มเป้าหมายมาเป็นแม่เหล็กคนสำคัญ

“ผมรู้จักกับพี่โหน่ง-วงศ์ทนง เพราะไปขอสัมภาษณ์พี่เขาในรายการเก้าอี้เสริม หลังจากนั้นผ่านไปสัก 2 เดือน พี่เขาโทรมาแล้วบอกว่า เฮ้ย…อยากทำรายการว่ะ ขอทำได้ไหม ผมก็บอกว่า ได้ แต่ผมไม่มีเงินค่าตัวให้พี่นะ ซึ่งพี่เขาก็ตกลง”

“ความจริงคนที่อ่านอะเดย์ ก็คือคนดู ihere อยู่แล้ว กลุ่มเป้าหมายเราเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่สำหรับคนที่เป็นแฟนอะเดย์ แล้ว ihere ได้พี่โหน่ง-วงศ์ทนง ที่เป็นศาสดาของพวกเขามาอยู่ในเว็บไซต์ของเรา ก็คงทำให้เขาติดตามเรามากขึ้น เรียกว่าได้ Loyalty เพิ่มขึ้น ดูน่าเชื่อถือ แล้วพี่โหน่งเองก็เพิ่มความหลากหลายให้กับรายการของเรา เทปแรกเป็นคุณเนวิน ชิดชอบ ต่อมาก็เป็นตูน บอดี้สแลม มีคุณตัน แล้วพี่โหน่งก็เป็นคนที่เปิดกว้าง ปรับตัวได้ดี เขายอมรับในข้อเสียของเขา ว่าเขาอาจจะทำหนังสือมา แต่สกิลด้านทีวีอาจจะยังต้องเสริม เขาก็พร้อมปรับปรุงตลอด ทำการบ้าน เข้ามาอัดรายการกับเรา เข้ามาดูตอนตัดต่อ”

เสน่ห์อย่างหนึ่งของทีวีออนไลน์ ก็คือ พิธีกรแต่ละคน ต้องออกไอเดียทำรายการของตัวเอง ซึ่งถือเป็นความท้าทายอีกขั้นของคนทำงาน ถึงแม้ว่ารายได้จะไม่เท่ากับความสามารถและชื่อเสียงของพวกเขา แต่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แสดงออกถึงตัวตน และสนอง Passion ได้ชัดเจนกว่ารายการทางฟรี ทีวี ตรงนี้เองที่ทำให้ ihere เป็นแหล่งรวมเซเลบบริตี้ในเครือข่ายของจอห์น กลุ่ม ก๊วน ดีเจ ที่ต้องการทำรายการอย่างอิสระ

และนั่นทำให้ ihere พลิกบทบาทจากเดิมที่ดึงเอาพิธีกรวัยรุ่นทางฟรีทีวีลงมาไว้ที่ทีวีออนไลน์ ตอนนี้เส้นทางตีกลับกลายเป็น ihere กระโดดเข้าไปอยู่ในฟรีทีวีอย่าง TPBS

“มีฟรีทีวีติดต่อเข้ามาเยอะมาก ในที่สุดเรามาคิดกันว่า เราขอเลือกรายการที่คอนเซ็ปต์ตรงกับเรา จนเป็นที่มาของประกาศภาวะฉุดคิด เนื้อหาของรายการมุ่งเน้นให้คนไทย ตื่นตัว คิดแบบมีสติ รู้จักคุ้มครองสิทธิ์ของตัวเอง เพราะจะรอให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยมันก็เป็นเรื่องเพ้อฝัน ซึ่งเรื่องพวกนี้เราพูดในเจาะข่าวตื้นมาแล้ว แต่ก็ทำให้ใกล้ตัวคนมากขึ้น แล้วก็สุภาพขึ้นเพื่อให้มันออกทางฟรีทีวีได้ ก็ต้องทำความเข้าใจกับแฟนประจำของเจาะข่าวตื้น ที่เขาดูแล้วเขารู้สึก ทำไมมันไม่แรงเหมือนออนไลน์”

จริงใจการขาย

“ไม่ได้มีสมองไว้กั้นหู”

“ดูถูกสติปัญญา”

คำพูดเหล่านี้ คือคำพูดที่รายการเด่นๆ ของ ihere ไม่ว่าจะเป็น เจาะข่าวตื้น ทางเว็บไซต์ และประกาศภาวะฉุกคิดทาง ตัวองค์กรอย่าง ihere เองก็ต้องทำหน้าที่บอกคนดูไปพร้อมๆ กับ หารายได้มาหล่อเลี้ยงบริษัท

“ในรายการของเรา เราจะบอกเลยว่ารายการนี้จะพูดถึงอะไร แล้วมีสินค้าตัวไหนเป็นสปอนเซอร์บ้าง เราใช้วิธีนี้บอกกันตรงๆ อย่างจริงใจ เพราะเราไม่ดูถูกคนดูของเรา ผมเชื่อเสมอว่าคนดูของเราไม่ใช่คนโง่ แล้วพอเราบอกเขาไปแบบนี้ เขาก็เข้าใจว่าการที่เราหารายได้เข้ามาก็เพื่อทำให้เราอยู่ได้ แล้วก็ทำอะไรดีๆ กลับไป”

จากเดิมที่ ihere ยังมียอดผู้ชมไม่มาก ในตอนนั้นแบรนด์ที่เข้ามาสนับสนุนยังมีจำนวนน้อย ส่วนมากเป็นกลุ่มขนมขบเคี้ยว จนกระทั่ง ihere เพิ่มยอดผู้ชมได้หลักสิบล้าน และฐานแฟนคลับผ่านเฟซบุ๊คกว่า 150,000 แอคเคาน์ ส่วนทวิตเตอร์ส่วนตัวของจอห์น-วิญญูก็มีผู้ติดตามเขา 50,000 ราย การเสริมช่องทางออกอากาศใหม่ ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เริ่มต้นด้วยดีแทคก่อน และกำลังจะครบ 3 ค่ายใหญ่เร็วๆ นี้ รวมทั้งอินเทอร์เน็ต ทีวี ที่ตอนนี้อยู่ในระหว่างการดีลว่าโทรทัศน์แบรนด์ใดจะเปิดกว่าให้คอนเทนต์ของ ihere มากที่สุด เรียกได้ว่า ตอนนี้ ihere กำลังไต่ระดับการเติบโต

“ราคาของเราอาจจะแพงกว่าทีวีออนไลน์เจ้าอื่น แต่เราการันตีได้ เช่น บอกว่าจะมีผู้ชมคลิปนี้ 2 แสนคน เราก็ทำได้ ผ่านการโปรโมตทางยูทูป เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และทีมงานของเราก็เป็นทีมงานที่เราอยู่กันไม่ถึง 20 คน แต่ทุกคนเคยทำรายการทางฟรี ทีวีมาแล้ว คุณภาพงานของเราก็ไม่แพ้รายการอื่น”

“ผมว่าทีวีออนไลน์ หรือว่าพลังของอินเทอร์เน็ตน่าสนใจกว่าทีวีทั่วไป ตรงที่เช็กได้ทุกอย่างยอดผู้ชม เวลาที่ดู ดูจากที่ไหนบ้าง ฟรีทีวีไม่มีใครบอกได้หรอกว่าจริงๆ มีคนดูกี่คน ทีนี้ก็คงต้องรอว่าคนถือเงิน, เจ้าของสินค้า เข้าใจมากแค่ไหน ถ้าเขาเข้าใจก็น่าจะหันมาลงทุนด้านนี้มากขึ้น เราอยูได้ เพราะว่าสื่อออนไลน์ ลงทุนไม่เท่าฟรีทีวี แต่เราก็อยู่จนมีน่าเชื่อถือ เป็นเรื่องที่ต้องคุยกับลูกค้าว่าทีวี ออนไลน์ดูซ้ำได้ แชร์ได้ ก็คงต้องรอให้เจ้าใหญ่ๆ อย่างยูนิลีเวอร์เป็นคนสร้างกระแส แล้วถ้าเกิดว่าคนเห็นว่ามันมีเรื่องตื้นเต้น ทีวีออนไลน์ก็คงมีสีสัน มีอะไรสนุกมากกว่านี้”

What’s inside “จอห์น”
• มันสมองและประสบการณ์ถูกดึงมาใช้เพื่อควบคุมภาพรวมของ ihere
• แว่นตาดำ เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของพิธีกรรายการเจาะข่าวตื้น
• “นะฮาว์ฟฟฟฟฟ” ประโยคนี้เอาไว้พูดในรายการเจาะข่าวตื้น
• “ฮาบ่เฮ้ย” = “ไม่น่าเลยตรู” ก้อปปี้ติดหู-ติดปาก ผู้ชมรายการประกาศภาวะฉุกคิด
• แอ็คชั่นมันส์ๆ ที่จอห์น ใส่ไม่ยั้งในทุกรายการ

จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ เป็นลูกคนสุดท้องของ รศ. ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับคุณแม่ ผศ.แจนนิช เอ็ม วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร พี่ชายกับพี่สาวของเขาอีก 2 คนเรียนเก่งระดับได้ทุนคิงไปเรียนต่อต่างประเทศ บวกกับพี่สาว โรซี่ ทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์กับโทรทัศน์มาก่อน จอห์นเริ่มต้นทำงานในวงการบันเทิงตั้งแต่ ม.3 จากการชักชวนของโมเดลลิ่งจนถึงตอนนี้ ทั้งหมดหลอมรวมให้ จอห์น-วิญญู เป็นผู้นำความคิดของคนรุ่นใหม่ ผ่านทีวีออนไลน์ และการเขียนหนังสือลง จีเอ็ม และมติชนสุดสัปดาห์

เจาะ ihere ลึกๆ

Who?: เบื้องหลังการถ่ายทำรายการทุกรายการของ ihere จะอยู่ภายใต้การดูแลของ โรซี่-จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ พี่สาวของจอห์น-วิญญู โรซี่ ที่จบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ และเรียนต่อด้านการเขียนบทภาพยนตร์ ทจากแวนคูเวอร์ แคนาดา อดีตเคยทำงานในวงการภาพยนตร์ และเคยทำรายการข่าวมาก่อน ทำหน้าที่ Creative Director นอกจากนี้ยังมี นัทธพงศ์ เทียนดี พี่เขยของจอห์น ช่วยควบคุมทางฝ่ายโปรดักชั่น ส่วนการเจรจาทางธุรกิจจะมี แพร ซึ่งนอกจากจะรับผิดชอบด้านนี้แล้ว ยังทำหน้าที่พิธีกรรายการ Wine Line Up รีวิวไวน์ใน ihere

Where?: Cotton Bud Studio อดีตสตูดิโอบันทึกเสียง ที่ โรซี่-จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ ลงขันร่วมกับเพื่อนๆ ต่อมาเมื่อไอเดียเรื่อง ทีวีออนไลน์ อุปกรณ์บางอย่างของสตูดิโอแห่งนี้จึงถูกแปลงสภาพเป็นออฟฟิศของ ihere ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก เป็นเพียงห้องแถว 1 ห้อง ความสูง 5 ชั้น ในเวลาฝนตกกต้องหยุดถ่ายทำ เพราะเสียงฝนจะเข้าไปในกล้อง แต่ก็สามารถผลิตรายการทั้งหมดออกมาได้

What’s NEXT? ปัจจุบันที่ลงคลิปรายการได้เดือนล่ะ 2 ครั้ง ด้วยข้อจำกัดของเวลากับจำนวนของทีมงาน เป้าหมายต่อไปของจอห์น คือการอัพเดตรายการอย่างสม่ำเสมอให้ได้อาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้ทันกับความต้องการของผู้ชม

    ทีวีออนไลน์ จะเกิดทั้งทีต้องมีบุคลิก

  1. ดึงเอาเรื่องใกล้ตัว Up to Date มานำเสนอ อย่างตรง แรง จิกกัด เหน็บแหนม ประชดประชัน
  2. การมีคนดังร่วมรายการ ยังไงก็มีภาษีดีกว่า
  3. เริ่มก่อนได้เปรียบ
  4. อัพเดตรายการอย่างสม่ำเสมอ
  5. ใช้ช่องทางโซเชี่ยลมีเดียให้เป็นประโยชน์ พูดคุยกับแฟนๆ และเล่นเกม จัดกิจกรรมเป็นครั้งคราว