เป็นเพราะความชื่นชอบเทคโนโลยี และภาพยนตร์ที่เขาคุ้นมาตั้งแต่วัยเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณชายอดัม หรือ หม่อมราชวงศ์ เฉลิมชาตรี ยุคคล เปิดบริษัท FukDuk Production เพื่อทำอินเทอร์เน็ตทีวี ซึ่งเขาใช้เงินไปไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท อยู่ในช่วงคืนทุน
นับจากวันแรกจนถึงวันนี้ รวมเวลา 5 ปี บนเส้นทาง Internet TV รุ่นบุกเบิก ที่ ทำให้เขาพบเห็นทั้งโอกาสและอุปสรรคจากธุรกิจนี้
สำหรับโลกธุรกิจแล้ว อินเทอร์เน็ตทีวีไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทำให้หลายรายต้องเดินออกจากธุรกิจนี้ไปอย่างน่าเสียดาย FukDuk เองกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ต้องผ่านการปรับตัวมากมาย จาก 20รายการต้องปรับเหลือ 3 รายการ
แต่เขายอมรับว่า ด้วยต้นทุนต่ำ มีอิสระทางความคิด ไม่ต้องยึดติดกับผังรายการแบบเดิมๆ เข้าถึงกลุ่มคนดูที่เป็นแฟนคลับตัวจริง รู้ฟีดแบ็กคนดูทันที เสน่ห์แบบนี้หาไม่ได้ในฟรีทีวีแบบเก่า
FukDuk เลือกยืนหยัดอยู่บนเส้นทางนี้ท่ามกลางความหวัง และความฝันที่ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม
คุณชายอดัมให้คำจำกัดความ FukDuk ไว้ว่าเป็นผู้ผลิตสื่อ New Media แนวหน้าของประเทศไทย โดยมีโปรดักต์หลักอยู่ที่ทีวีออนไลน์
ปัจจุบัน FukDuk มีรายการทั้งสิ้น 3 รายการ 1.View Finder รายการสอนถ่ายภาพ จากคนธรรมดาที่รักการถ่ายรูป ถึงไม่ใช่มืออาชีพแต่ก็สนุกกับการเก็บภาพได้ ต่างจากรายการสอนถ่ายภาพทางฟรีทีวีตรงที่ไม่มีโฆษณาขายกล้องกับนางแบบพริตตี้ 2. Never Die รายการเพลงร็อก พูดคุยเรื่องประวัติเพลงร็อกและแนะนำศิลปินหน้าใหม่ 3.ดาวประกาย นำเสนอศิลปะการแสดงหลากหลายแขนง นอกจากนี้ FukDuk ยังมีอี-แมกกาซีน, บล็อก, โปรดักชั่นผลิตภาพยนตร์, รายการโทรทัศน์ และสื่ออินเทอร์เน็ตอื่นๆ
ช่วง 3 ปีแรก FukDuk ผลิตรายการของตัวเองมากถึง 28 รายการ ด้วยพนักงาน 70 คน และทำรายการแบบไม่ง้อสปอนเซอร์ ก่อนจะเรียนรู้ว่าคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ และต้องบริหารต้นทุนให้เหมาะกับรายได้ จนตอนนี้ปรับลดลงมาเหลือ 3 รายการกับทีมงาน 20 กว่าคน
ผู้ผลิตรายการที่บุกเบิกเส้นทางอินเทอร์เน็ตทีวีมาพร้อมๆ กับ FukDuk เช่น Duo Core, ช่างคุย, sukiflix หลายรายต้องพักตัวเอง อัพเดตรายการน้อยลง หรือบางรายก็ปิดตัว ปล่อยเว็บไซต์ให้ร้างไป
แต่คุณชายอดัมก็ยังมองเห็นศักยภาพของอินเทอร์เน็ตทีวีที่ไม่มีในฟรีทีวี ทั้งเรื่องของ “ความง่าย” ของเทคโนโลยี ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตมีความเร็วมากขึ้น ฮาร์ดดิสก์เก็บข้อมูลราคาลดลง การถ่ายทำที่เดี๋ยวนี้ใช้กล้อง DSLR พร้อมเลนส์อีก 2 ตัว ในงบประมาณ 5 หมื่นบาท ก็สามารถทำรายการโทรทัศน์ระดับคุณภาพได้แล้ว
รูปแบบรายการเปิดกว้าง ไม่ต้องถูกจำกัดเหมือนฟรีทีวี การผลิตไม่เสียเวลา พิธีกรคนเดียวเพียงคนเดียว ผลิตรายการได้เองเบ็ดเสร็จ เป็นได้ทั้ง ครีเอทีฟ โปรดิวเซอร์ ตัดต่อด้วยตัวเอง
จำนวนไม่สำคัญเท่าความรัก
วิธีการทำธุกิจในทีวีออนไลน์สำหรับ FukDuk ได้พยายามสร้าง Blue Ocean ขึ้นมาโดยมองข้ามเครื่องมือวัดผลด้วยปริมาณแบบเดิมๆ ด้วยการไม่สนใจจำนวนผู้ชม ยอดคลิกแบบที่ทีวีออนไลน์หรือมีเดียเอเยนซี่ตั้งมาตรฐานไว้ แต่ใช้วิธีสร้างฐานผู้ชมที่ชื่นชอบรูปแบบรายการจริงๆ ถึง FukDuk ไม่มีผู้ชมหลักล้านเหมือนเว็บไซต์อื่น ไม่ต้องมีแฟนเพจหลักแสนในเฟซบุ๊ก แต่กลับใช้พลังของความรักที่มีในรายการ กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคมาเป็นโอกาส
“คนไทยเปิดกว้างที่จะจ่ายเงินมากขึ้น ทั้งๆ ที่ช่องทางการชำระเงินยังไม่สะดวกมากพอ ผมประกาศไปในรายการสดว่าอยากได้เว็บแคมตัวใหม่มาจัดรายการ ผมต้องการเงิน 3 พันบาท ณ บัดนี้ แล้วก็บอกเบอร์บัญชี แล้วผมก็ได้ ในต่างประเทศผมเห็นการระดมทุนวันละหมื่นเหรียญทุกวันก็ยังทำได้”
การสื่อสารผ่าน Social Media เป็นอีกช่องทางที่ทำให้ FukDuk สร้างความสัมพันธ์กับผู้ชม FukDuk เพิ่งปรับปรุงเว็บไซต์ขนานใหญ่ ทั้งระบบหลังบ้านที่ทำให้เชื่อมโยงกับ Social Media ง่ายขึ้น พื้นที่คอมเมนต์จะผูกเข้าด้วยกัน จากเดิมที่คอมเมนต์จำกัดแค่ในเว็บไซต์เท่านั้น ตอนนี้จำนวนคนดูก็มากขึ้น แถมยังลดภาระของเว็บไซต์ FukDuk ให้ตัวเบา ผลที่ตามมาก็คือมีผู้ที่ได้รับชมรายการมากขึ้น และมีความหากหลายมากขึ้น ตั้งแต่วัย 20 อัพจนถึงวัยกลางคน
นอกจากนี้ FukDuk ยังมีช่องทางออกอากาศทางอื่น ทุกวันนี้รายการของ FukDuk จึงอัพขึ้นสู่เว็บไซต์โดยเฉลี่ยอาทิตย์ละ 1 เทป ด้วยความยาว 11 นาที ซึ่งเมื่อรวม 2 เทป ก็จะกลายเป็น 1 ตอน ที่มีความยาว 22 นาที เหตุผลที่ต้องแบ่งช่วงเวลาเช่นนี้ก็เพราะเอื้อต่อการนำคอนเทนต์ไปออกอากาศทางรายการเคเบิลที่เป็นพันธมิตรกับ FukDuk ทั้งๆ ที่ระยะเวลาการออกอากาศที่เหมาะสมสำหรับอินเทอร์เน็ตทีวีน่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 2 อาทิตย์ ต่อ 1 เทป
ส่วนการขายกับผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ FukDuk มอง ก็จะใช้วิธีการขายแบบเหมาทั้งเว็บไซต์ เมื่อมีสินค้าเข้ามาซื้อพื้นที่ โฆษณาทั้งหมดของหน้าเพจก็จะเป็นของสินค้าแบรนด์เดียว และถ้าหากให้เข้าไปช่วยเรื่องโปรดักชั่นด้วยก็ทำได้ ทำให้เจ้าของสินค้าเกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยเน้นการขายโดยตรงกับเจ้าของสินค้ามากกว่าเอเยนซี่
ทีวีดีไม่ช่วยอะไรเลย
เขามองว่า “คอนเทนต์” ควรเป็นน้ำ และมีเดียทำหน้าที่ภาชนะ ในเมื่อ “คอนเทนต์” คือ อำนาจ ในเมื่อปัจจุบันผู้ผลิตคอนเทนต์ยังดึงเอาจุดแตกต่างของอินเทอร์เน็ตทีวีมาใช้ได้ไม่เต็มที่ การมีโทรทัศน์แบบสมาร์ททีวีก็ไม่อาจช่วยให้วงการทีวีออนไลน์พัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ แต่ต้องเป็นการขยับหาเป้าหมายร่วมกัน แล้วจึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยเสริมเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ
“หลายคนยังไม่เข้าใจสื่อทีวีออนไลน์ ศักยภาพที่แท้จริงของทีวีออนไลน์คือการลดลงของ Space and Time หมายถึงคุณอยู่ที่ไหน เวลาอะไร คุณก็ดูทีวีได้ เราไม่ต้องอดหลับอดนอนเพื่อรอดูมันอีกแล้ว แล้วเสน่ห์ก็คือการแชร์กับผู้อื่น ทีวีทั่วไปแชร์ได้เต็มที่แค่การโทรไปบอกคนอื่นให้ดู แต่มันแชร์เป็นพันเป็นหมื่นคนได้ หรือเราปรับเปลี่ยน Infrastructure ของตัวเองได้ตลอด ผมอยากจะทำรายการคุณภาพ HD ก็ทำได้เลย ไม่ต้องรอข้อจำกัดอื่น นี่คือศักยภาพที่ผมยังไม่เห็นใครใช้ได้แม้แต่คนเดียว”
“การที่เจ้าใหญ่ (ผู้ผลิตทีวี) ขยับก่อนคอนเทนต์ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะนั่นแปลว่าการตลาดถูกบีบ แปลว่าเราถึงจุดอิ่มตัวของเทคโนโลยีทีวีแล้ว ขณะที่ Infrastructure ของบ้านเรายังไปไม่ถึง คนต้องการฟังก์ชันในทีวีเพิ่ม ทั้งๆ ที่ความเข้าใจยังคลุมเครือ ทำให้ทิศทางไม่มี ผู้ผลิตคอนเทนต์ก็ยังไม่ชัดเจน”
ทีวีออนไลน์ ก้าวที่ไร้ทิศทาง
ในฐานะของคนที่ทำงานในสื่ออินเทอร์เน็ตทีวีมานาน FukDuk เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของเพื่อนร่วมอาชีพและสั่งสมความผิดพลาดในอดีตของจนมองเกมออก ว่าสิ่งที่ผู้เล่นหลายรายกำลังพาธุรกิจทีวีออนไลน์ไปสู่ทางตัน แล้วไปแข่งขันกับตลาดฟรีทีวีด้วยคอนเทนต์สำเร็จรูปที่ไร้จุดต่าง
“เรื่องพวกนี้ต้องใช้ความอดทน แต่คนไทยไม่มีความอดทนเท่าไรนัก พอเห็นว่าไม่เวิร์คก็กลับไปทำสื่อเดิม คนไทยยังอยู่ในวังวน คือต้องแรงเอาไว้ก่อน แต่คนต้องโตขึ้น คนเรามันจะตีอกชกตัวได้สักกี่วัน การทำงานแบบเน้นปริมาณ หวือหวาชั่วขณะ การขาย Sex, Drug, Violent มันจะดึงยอดคนดู ยอดคนแชร์ได้แค่ชั่วคราว แล้วมุกก็จะหมด ฟองสบู่แตก ลูกค้าก็หมด แต่คอนเทนต์ที่ขายได้ในโลกของ Long Tail อย่างนิวมีเดีย คือคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ”
“ผมมีที่ลงหลักปักฐานแล้วคืออินเทอร์เน็ต ขณะที่ทุกคนมาจากที่อื่นแล้วมาอินเทอร์เน็ต ความจริงแล้วอินเทอร์เน็ตน่ากลัวกว่าที่คุณคิด มันสามารถหาเงินได้มหาศาล ถ้าเกิดเราเริ่มต้นอย่างจริงๆ จังๆ แต่ตอนนี้นอกจาก ihere TV แล้วผมไม่เห็นใครทำเงินได้”
ที่มาของชื่อ
FukDuk เกิดขึ้นจาก Passion ของคุณชายอดัม หลังจากที่เขาจบการศึกษาด้านภาพยนตร์จากออสเตรเลีย เขาจึงเอาความสามารถด้านการเล่าเรื่อง และความสนใจด้านสื่อดิจิตอลของเขา ชื่อฟุ๊กดุ๊กมาจาก คำอุทาน Fu(c)k Du(c)k ภาพสัญลักษณ์ของ FukDuk ในเฟซบุ๊กจึงเป็นรูปเป็ด โดยมีเขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพเป็ด
@adamy ชื่อที่เขาใช้ใน Social Media เป็นชื่อหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในฐานะ Geek สำหรับวงการบันเทิงเขาเจริญรอยตามบิดา หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เช่น เป็นผู้กำกับบันทึกกรรม ทางช่อง 3 คุณชายอดัมส์ยังรับหน้าที่บรรยายในงานสัมมนาต่างๆ ถือเป็นนักคิด นักทำไฟแรง ประกอบการที่เขาเป็นคนไม่ถือตัว ทำให้เขาเป็นหนึ่งในไอดอลของคนรุ่นใหม่ ที่ลงมือสร้างธุรกิจด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ตามงานสังคมต่างๆ ก็ยังเชิญเขาไปในฐานะเซเลบริตี้
ฐานทัพเป็ด
เมื่อถึงเวลานัดหมายเวลา 11.00 น. ทีมงานของ FukDuk ยังคงนอนเรียงกันอยู่ในออฟฟิศเพราะว่าเพิ่งเดินทางกลับจากการทำงานในต่างจังหวัด ภาพของการที่พนักงานปูถุงนอนอยู่ด้วยกันสำหรับที่นี่ถือเป็นเรื่องปกติ
พลอยพิชชา พิภพวรไชย ผู้กำกับและพิธีกรรายการ Viewfinder หนึ่งในคนที่ถูกเราปลุกขึ้นมาเล่าว่า การทำงานที่นี่อยู่เหมือนอยู่ที่บ้าน อยู่ด้วยความศรัทธาและความรักใน FukDuk การที่เธอเป็นคนถ่ายภาพไม่เก่ง แต่รักการถ่ายภาพ แต่เรียนรู้ทุกอย่างจากการทำงาน นั่นทำให้รู้สึกภูมิใจในตัวเองมากกว่า
แนวทางการเลือกเพื่อนร่วมงานของคุณชายอดัม เขาแทบไม่เลือกคนที่มีประสบการณ์เลย เพราะอยากได้ทุกมองของคนใหม่ แล้วพร้อมเรียนรู้ด้วยกัน สเป็กพนักงานที่เขาอยากได้จึงมีแค่ “มีความฝัน, เล่าเรื่องได้, บ้า แล้วก็ร้องคาราโอเกะเก่ง”