กลับมาอีกครั้งกับการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 ในรอบ Thailand Competition การแข่งขันแผนธุรกิจสตาร์ตอัประดับโลกในรอบระดับประเทศภายใต้แนวคิด “Redefining the Future of Sustainable Ventures” โดยในปีนี้ทีม Defire จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) คว้าชัยชนะได้รับถ้วยรางวัลและเงินสดมูลค่า US$ 3000 (หรือกว่า 100,000 บาท) ไปครอบครอง ซึ่งในวันนี้ได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษกับเหล่าผู้ชนะ ถึงเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ และวิธีเอาชนะใจกรรมการ
ร่วมทำความรู้จักกับทีม Defire
พวกเราทีม Defireเป็นกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ที่รวมตัวกันเพื่อร่วมแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 รอบ Thailand Competition โดยทีมเรานำเสนอโครงการแพลตฟอร์มคาร์บอนเครดิตเพื่อลดการเผาไร่สำหรับเกษตรกรเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลิกเผาไร่ รวมถึงปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรให้ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น (Climate Change Mitigation) โดยสิ่งที่เกษตรกรต้องทำมีเพียง 4 ขั้นตอนง่ายๆ คือ “ลง เลิก รับ แลก”
- ลง คือ ลงทะเบียนพื้นที่แปลงเกษตร เอกสารสิทธิ์ และข้อมูลส่วนตัว เพื่อยืนยันการเป็นเจ้าของพื้นที่ทำกิน
- เลิก คือ เลิกเผาไร่ โดยเราจะใช้ข้อมูลจากดาวเทียม IoT และ AI มาประมวลผลว่าเกษตรกรเลิกเผาได้จริงหรือไม่
- รับ คือ เกษตรกรจะรับ Carbon Point ซึ่ง 1 Point จะเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนเทียบเท่า (CO2 Equivalent) ที่เกษตรกรสามารถลดไปได้จากการเลิกเผาไร่
- แลก คือ เกษตรกรสามารถนำ Point ที่ได้รับไปแลกเป็นเงินสด เกษตรภัณฑ์ เช่น ปุ๋ย เป็นต้น
แรงบันดาลใจหลักของทีม
ทีม Defireกล่าวว่า “แรงบันดาลใจหลักของโซลูชันนี้ ต้องย้อนกลับไปตอนที่พวกเราทำงานพัฒนากับเกษตรกรที่จังหวัดน่าน ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรที่น่ารักมากๆ พวกเรากินนอนทำงานร่วมกับพวกเขาด้วย แต่พวกเขาเหล่านี้กลับต้องกลายเป็นจำเลยของสังคมในทุกๆปี เนื่องจากกิจกรรมทางเกษตรที่พวกเขาต้องทำนั่นก็คือ “การเผาไร่” ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 พวกเราได้เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับลุง ป้า น้า อา พี่น้องและชาวเกษตรกรก็พบว่า ที่จริงแล้วไม่มีใครอยากเผาหรอก แต่พวกเขา “ไม่มีทางเลือก” เพราะการเผาเป็นวิธีที่เร็วที่สุด ง่ายที่สุด และถูกที่สุดในการเคลียร์พื้นที่เพื่อทำการเกษตรในรอบถัดไปเพราะฉะนั้นการเปลี่ยนวิธีก็หมายความว่าพวกเขาต้องเสียเงินมากขึ้น ซึ่งในแต่ละปีพวกเขาก็ได้กำไรกันน้อยหรือแทบไม่ได้กำไรกันอยู่แล้ว การเลิกเผาเลยเป็นเรื่องยากมากสำหรับพวกเขา”
ทีม Defire กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทีมพวกเราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับทั้งสองฝ่าย ในเมื่อทุกคนควรได้อากาศสะอาดไว้หายใจ แต่ก็ไม่ควรจะมีใครต้องกลายเป็นจำเลยของสังคมเพียงเพราะเขาไม่มีทางเลือกเราเลยเชื่อว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน เราต้องกลับไปแก้กันที่ปัญหาปากท้อง คือทำให้ชาวบ้านท้องอิ่มก่อน หลังจากนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมถึงจะคลี่คลาย ซึ่งหนึ่งในหลักการที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานพัฒนาที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและตรงกับบริบทนี้มากๆ คือ “ถ้าคนหิว ป่าก็ยังหาย” เพราะฉะนั้น “การปลูกป่า ต้องเริ่มจากการปลูกคน” จึงเป็นเหตุผลให้พวกเราใช้กลไกของคาร์บอนเครดิตเพื่อมาสร้างแรงจูงใจจากการสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวบ้าน”
ความรู้สึกหลังคว้าชัยชนะ
“กดดัน มันส์ เติบโต” นี่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ทีม Defireกล่าวต่อว่า “ในตอนแรกไม่กล้าสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังค่อนข้างใหม่ในวงการธุรกิจ และกิจกรรมนี้จัดโดยโรงเรียนสอนธุรกิจอันดับต้นๆของประเทศ (Sasin) ร่วมกับองค์กรชั้นนำของไทย (SCGC) ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ทั้งกรรมการและผู้เข้าร่วมแข่งขัน ว่าง่ายๆคือกลัวไม่รอด แต่คิดไปคิดมาก็รู้สึกว่า ก็ไม่มีอะไรจะเสีย แค่ทำให้เต็มที่ แค่ไหนแค่นั้น แข่งขันกับตัวเอง ก็เลยลองสมัครดู ปรากฏว่าเข้ารอบซึ่งสองวันของการแข่งขันจัดว่ามันส์มากจริงๆ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยต้อง pitch และแก้สไลด์ถี่ขนาดนี้ ซึ่งในทุกรอบที่ได้ผลตอบรับเรารู้สึกว่าทีมได้แรงกระตุ้นให้เร่งเครื่องเต็มกำลังมากขึ้น เหมือนมีกูรูมาช่วยให้คำแนะนำและชี้จุดบกพร่องในธุรกิจของเรา หน้าที่ของพวกเราคือปิดช่องโหว่งในเวลาที่จำกัด ซึ่งถือว่าดีมากๆในเชิงธุรกิจที่เหมือนย่อเวลาจากหลายเดือน หรืออาจจะเป็นปีมาอยู่ภายในการแข่งขันสองวัน ทำให้พวกเราได้เรียนรู้แล้วก็เติบโตขึ้นมาก จากการแข่งขันครั้งนี้”
ทีม Defire กล่าวต่อไปว่า “ในส่วนของการได้รับรางวัล แน่นอนพวกเรารู้สึกดีใจมากเพราะเราเข้ามาด้วยความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ในตอนแรกจนมาถึงจุดนี้ถือว่าเกินความคาดหวังของพวกเราไปมาก รวมถึงรู้สึกภูมิใจกับทุกคนในทีมที่สามัคคีกันมากในยามคับขัน เหมือนเป็นการช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในทีมไปในตัว สุดท้ายรู้สึกมีกำลังใจในการทำโซลูชันนี้ พวกเราตั้งใจกันมากเพื่อให้แพลตฟอร์มนี้สามารถทำให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น และแก้ปัญหาฝุ่นควันได้อย่างยั่งยืน การที่กรรมการทั้งสามรอบเห็นศักยภาพของพวกเราจนพวกเราได้รางวัลชนะเลิศจากการแข่งครั้งนี้เหมือนเป็นแรงผลักดันและแรงใจให้พวกเราต้องทำให้สำเร็จให้ได้”
เผยเคล็ดลับที่ชนะใจกรรมการ
สำหรับทีม Defire คงเป็นความ “จริงใจ กับจริงจัง” ที่ชนะใจกรรมการ คือทั้งการนำเสนอและตอบคำถาม ทีม Defire กล่าวว่า “พวกเราจริงใจกับกรรมการมากๆ คือทำจริงแค่ไหน เล่าแค่นั้น ไม่พูดเกินจริงไม่โกหก ไม่ตอบสิ่งที่ไม่รู้ ส่วนจริงจังคือเราตั้งใจพัฒนาโซลูชันนี้จริงๆ ทั้งลงพื้นที่จริงใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านและคนซื้อเครดิต เข้าไปพูดคุยกับรัฐและเอกชนมาแล้ว กรรมการน่าจะเห็นว่าพวกเราเอาจริง และอยากแก้ไขปัญหานี้จริงๆ ไม่ได้ทำเพื่อมาแข่งขันเพียงอย่างเดียว ก็เลยสนับสนุนพวกเรา”
ประสบการณ์การแข่งขัน และการนำไปต่อยอดในอนาคต
พวกเขาได้อะไรกลับไปเยอะมากทีมได้เห็นทั้งจุดแข็งที่ควรรักษาเอาไว้ และได้เห็นจุดอ่อนของทีมที่ต้องพัฒนาต่อ คำแนะนำและคำถามจากกรรมทุกท่านไม่ใช่เพียง feedback เพื่อให้แข่งชนะ แต่เพื่อทำให้ธุรกิจของเราพัฒนาต่อได้อย่างแข็งแรงมากขึ้นจริงๆ ทีม Defire อยากขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านอีกครั้ง
คำแนะนำให้กับผู้เข้าแข่งขันในปีต่อไปและการแก้ปัญหาร่วมกัน
ทีม Defireได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญที่เป็นตัวช่วยในการแข่งขัน รวมถึงการทำ startup ในชีวิตจริงด้วยคือการมี 4P ที่ไม่ใช่ product / price / place / promotion แต่คือ
- Purpose จุดประสงค์ของการทำธุรกิจ สำคัญมากเพราะมันจะเป็นแรงขับเคลื่อนทุกอย่างของธุรกิจ
- People คนที่เก่งต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน อันนี้หายากมาก แต่ถ้าหาเจอได้นี่โชคดียิ่งกว่าถูกหวย คนเหล่านี้จะลุยกับเราไปตลอดทาง ลองผิดลองถูกด้วยกัน อาจจะเห็นต่างกันได้ แต่จะไม่มีทางล้มเลิก เพราะมีเป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน
- Perfect Timing อันนี้เป็นอันเดียวที่เราสร้างเองไม่ได้ แต่เราคาดการณ์และเตรียมตัวเองให้พร้อมกับโอกาสได้ เพราะหลายครั้งจุดประสงค์ที่เรามีอาจจะไม่ตรงกับระยะเวลาที่ใช่ เพราะฉะนั้นเลยจำเป็นที่เราต้องมี P ที่สี่
- Perseverance ความอุตสาหะ หรือความไม่ล้มเลิก ความถึก หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ พวกเราเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนต้องเจอกับอุปสรรคและความท้าทายมากมายรวมถึงในการแข่งขันนี้ด้วย การทำสิ่งที่ตัวเองเชื่ออย่างไม่ลดละและเรียนรู้จากทุกครั้งที่ล้มคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ซึ่งทีม Defireเองก็ล้มบ่อยมากจากการแข่งขันนี้เช่นเดียวกันแต่พวกเรายังสู้ ลุกต่อและไปไหว
เชิญชวนเพื่อนๆ ทั่วโลกมาสมัครรอบ Global
ทีม Defire กล่าวว่า “ถ้าคุณกำลังมีธุรกิจที่กำลังปลุกปั้น แล้วอยากเห็นมันสำเร็จและอยากพัฒนามันให้ดียิ่งขึ้น มาสมัครเถอะ การแข่งขันนี้มีทุกส่วนประกอบที่จะทำให้คุณไปได้ไกลและไปได้อย่างแข็งแรงมากขึ้น ทุกคอมเม้นจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ทุกคนล้วนหาตัวจับยาก มานั่ง feedback ให้คุณแบบละเอียดยิบ มองว่าหาไม่ได้จากที่ไหนอีกแล้ว รวมถึงคอนเนคชั่นที่คุณจะได้ในงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากกรรมการเอง เพื่อนร่วมแข่งขันทีมอื่น หรือจากผู้สนับสนุนทุกท่านสามารถต่อยอดธุรกิจคุณได้จริงๆ
“สมัครเถอะ เชื่อเรา มันคุ้มค่ามากๆ ขอแค่เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองและทำให้เต็มที่ หวังว่าจะได้เจอเพื่อนๆทุกคนในรอบ Global Competition”ทีม Defireกล่าวปิดท้าย
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน Global Competition ได้ตั้งแต่วันนี้ – 20 พฤษภาคม 2565 โดยงานแข่งขันรอบสุดท้ายจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 10 กรกฎาคม 2565 ร่วมชิงถ้วยพร้อมเงินรางวัล รวมทั้งโอกาสในการ networking กับทีมต่าง ๆ ทั่วโลก
มาร่วมเป็นหนึ่งในทีมนิสิตนักศึกษาไทยที่ก้าวไกลสู่เวทีระดับโลก ด้วยไอเดียและนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ สมัครได้แล้ววันนี้ที่ https://submit.link/QY สนใจข้อมูลเพิ่มเติม https://bbc.sasin.edu/2022/ หรือ Facebook page: bangkokbusinesschallenge