YouTube จุดเริ่มต้นปรากฏการณ์ Internet TV

จากคอนเซ็ปต์ง่ายๆ Upload-Watch-Share ทำให้ YouTube แจ้งเกิดตั้งแต่ปีแรกที่ให้บริการ 6 ปีผ่านไป YouTube ซึ่งมีสโลแกนประจำตัวว่า Broadcast Yourself ยังคงเป็นที่ 1 ในแง่ของแบรนด์วิดีโอที่มีผู้ชมสูงสุดในโลก และนับวันมีแต่จะเพิ่มพูนอิทธิพลมากขึ้น

ก่อนที่ Web TV หรือ Internet TV จะได้รับความนิยม และเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นทุกวันนี้ ผู้ที่ต้องการแชร์วิดีโอคอนเทนต์ของตัวเองแทบทุกราย ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคลหรือแบรนด์ ต่างใช้ YouTube เป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานสู่ Netizen ด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยวัตถุประสงค์บ้างคล้ายบ้างแตกต่าง เช่น เพื่อให้โลกรับรู้ถึงความสามารถที่มี เพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อการสื่อสารการตลาด ฯลฯ

คอนเทนต์วิดีโอนับล้านๆ จึงถูกอัพโหลดขึ้น YouTube ทั้งแบบเป็นทางการโดยเจ้าของสินค้าและบริการเอง รวมถึงทั้งแบบไม่เป็นทางการที่ลูกค้าผู้ภักดีและรักใคร่ในแบรนด์ยินดีจัดให้ และทำให้ YouTube เป็นช่องทางของ “ทีวีล้านช่อง วิดีโอล้านลิงค์” เหมือนที่ สกู๊ป Exclusive ฉบับตุลาคม 2550 ของนิตยสาร POSITIONING เคยรายงานไว้อย่างแท้จริง

ตัวอย่าง สถิติต่างๆ ที่น่าสนใจและยากจะหาคู่แข่งใดเทียบได้ เช่น

ปัจจุบัน YouTube เป็นเว็บไซต์อันดับที่ 3 ของโลกในแง่จำนวนคนที่เข้าใช้บริการรองจาก Google และ Facebook ที่ผู้ใช้งานใช้เวลาเฉลี่ย 15-20 นาทีต่อวันเพื่อดูวิดีโอต่างๆ ซึ่งมีผู้อัพโหลดวิดีโอความยาวรวมกันมากกว่า 35 ชั่วโมงในทุกๆ นาที

สถิติในเดือนเมษายน 2554 ที่ผ่านมา คนอเมริกันสตรีม 14.7 พันล้านวิดีโอ มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉลี่ยดูวิดีโอ 4.31ชั่วโมงต่อเดือน

ปัจจุบัน YouTube ให้บริการแบบ Localize ใน 25 ประเทศ มากถึง 43 ภาษา โดยจัดหมวดหมู่ตามประเภทความสนใจออกเป็น 15 กลุ่ม คือ การศึกษา กีฬา ข่าวและการเมือง ตลก ท่องเที่ยวและกิจกรรม บันเทิง บุคคลและบล็อก ภาพยนตร์และแอนิเมชั่น ยานพาหนะและรถยนต์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัตว์เลี้ยงและสัตว์ เกม เพลง แนวปฏิบัติและการใช้ชีวิต องค์กรไม่แสวงหากำไรและนักเคลื่อนไหว

ความนิยมของ YouTube ทำให้ผู้ผลิตสื่อหลายรายตัดสินใจเลือกเปิดช่องรายการของตัวเองใน YouTube ด้วยการเปิด Channel แทนที่จะเลือกเปิดเป็นสถานีโทรทัศน์ทางอินเทอร์เน็ตของตัวเอง ไม่เว้นแม้กระทั่งพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรก็มี YouTube Channel เช่นกัน

การเป็นสื่อกลางของ YouTube ทำให้คนที่เลือกพัฒนาช่องรายการของตัวเองหลายต่อหลายรายประสบความสำเร็จไปด้วย ตัวอย่างเช่น Rian Riga กับบทบาทที่สร้างสรรค์คาแร็กเตอร์ต่างๆ หยิบยกสถานการณ์ปัจจุบันในวงการบันเทิงมาล้อเลียน ซึ่งเป็น YouTube Celebrity อันดับ 1 ที่มีผู้สมัครติดตามกว่า 3.88 ล้านคน และไม่มีการทำ Internet TV แยกเป็นเอกเทศ แต่ก็ยังมีจำนวนคนติตตามและคนดูมหาศาล โดยมีคนดูทุกรายการที่เขาอัพโหลดรวมกันกว่า 800 ล้านครั้ง ประมาณการกันว่าเขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากความสำเร็จนี้ด้วยตัวเลขจาก TubeMogul บริษัทซื้อสื่อ Real-time ซึ่งรายงานว่าเขามีรายได้จาก YouTube Channel ในปี 2553 ราว 151,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.6 ล้านบาทต่อปี

“ทีวีล้านช่อง” หรือ “รายการล้านคลิก” เป็นไปได้ที่ YouTube
ในเมืองไทยเอง ก็มีคนดังหลายคนที่เลือกใช้ YouTube เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับแฟนๆ ล่าสุดแม้กระทั่งพี่เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย์ ก็ยังออกมาบอกบรรดาแฟนเพลงของตัวเองว่า “อยากได้ตอนจบมิวสิกวิดีโอแบบไหน บอกเบิร์ดด้วย” โดยจัดทำมิวสิกวิดีโอที่มีตอนจบหลายแบบให้เลือกคลิกดูใน YouTube เพื่อให้แฟนๆ โหวตตอนจบที่ชอบ แม้ว่าจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ต้นสังกัดจะมีสื่อบันเทิงหลายช่องทางในมืออยู่แล้วก็ตามที ทั้งรายการประจำในฟรีทีวี และช่องรายการในทีวีดาวเทียม นั่นเท่ากับยืนยันความนิยมของ YouTube Channel ที่ให้ผลในวงกว้างได้เป็นอย่างดี

บัตรเครดิตที่มีฐานลูกค้าประมาณ 2.2 ล้านคนอย่างเคทีซี ก็มีแผนที่จะเปิด KTC Channel ของตัวเองบน YouTube เช่นกัน เพราะเริ่มตระหนักแล้วว่า ลงทุนทำหนังโฆษณาเรื่องหนึ่งต้นทุนอาจจะไม่เท่าไร แต่ค่าซื้อเวลาออกอากาศในฟรีทีวีกินต้นทุนมหาศาล แถมตัวเลขที่วัดได้ก็ไม่แน่นอน กว่าจะรู้ผลก็ผ่านไปแล้วเป็นเดือน ต่างจากคลิปใน YouTube ที่มีผู้ชมจนเป็นกระแส แถมวัดจำนวน Viewer และ จำนวน Subscriber ได้ชัดเจนกว่าเสียอีก

นอกจากจะเปิดกว้าง วัดผลได้ชัดเจน การเปิดช่องของตัวเองบน YouTube ยังประหยัดต้นทุนซึ่งเคทีซีเชื่อว่า สามารถนำต้นทุนค่าเวลาของฟรีทีวีมาใช้ผลิตโฆษณาได้อีกหลายเวอร์ชั่นแล้วให้ลูกค้าเลือกดูได้ตามอัธยาศัย ที่สำคัญน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกจริตกับผู้บริโภคยุคนี้มากกว่า

ยังมีตัวอย่างของคนดังหน้าใหม่อีกหลายรายที่แจ้งเกิดใน YouTube ตัวอย่างกรณี เชฟหมี เจ้าของรายการครัวกากๆ ผู้ปฏิวัติรูปแบบรายการทำอาหาร ลองคิดดูว่า หากเป็นรูปแบบการเสนอหรือแค่คิดจะทำรายการอาหารแบบเดิมๆ คอนเซ็ปต์กากๆ ร้อยทั้งร้อยไม่มีทางขายสปอนเซอร์รายไหนได้ คงไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องไหนให้เวลา หรือแม้แต่เจ้าของคอนเทนต์อย่างเชฟหมีเองก็คงต้องคิดหนักเช่นกันว่า ถ้าจะทำเอามันตามใจจะคุ้มค่าที่จะเสี่ยงกับการลงทุนนั้นไหม และอาจจะไม่เต็มที่ในสไตล์ที่คิดเท่าที่ปรากฏเป็นคอนเทนต์อยู่บน YouTube จนโด่งดัง

คงจะมีแต่ฟรีแวร์ของ YouTube เท่านั้นที่เปิดโอกาสให้อัพโหลด เปิดโอกาสให้คนเข้ามาดู แชร์กันต่อได้อย่างไม่จำกัด จนทำให้รายการครัวกากๆ กลายเป็นฮอตโพสต์

แน่นอนว่า นอกจากรูปแบบรายการแปลกใหม่คงไม่พอ หากรูปแบบรายการที่นำเสนอนั้นไม่ถูกจริตกับผู้บริโภคส่วนใหญ่

ดังนั้นต้องยอมรับด้วยว่า ครัวกากๆ คือมิติของรายการอาหารที่แตกต่างและเป็น Insight ของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ที่หลายคนคงจะแอบเอียนอยู่ในใจไม่น้อยกับรายการอาหารสวยๆ เพราะทั้งเกินจินตนาการและความน่าจะเป็นเมื่อพวกเขาคิดจะย้อนกลับไปลองทำอาหารแบบที่เห็นในรายการอาหารสวยๆ นั้นดูในครัวที่บ้านตัวเอง แต่เมื่อมีรายการที่พูดได้โดนใจและสะท้อนสภาพครัวที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่มากที่สุด ครัวกากๆ กับคำพูดหยาบๆ ที่ฟังอย่างไรก็คงออกฟรีทีวียากสักหน่อย เลยแจ้งเกิดเป็นฮอตโพสต์ฮาๆ ที่ได้สาระของการใช้ชีวิตตามสภาพความเป็นจริงดังที่ปรากฏอยู่ใน YouTube

นอกจากรายการที่เลือกเกิดใน YouTube แม้แต่รายการฟรีทีวีที่ว่าดังก็ยังต้องถูกวัดเรตติ้งซ้ำอีกครั้งใน YouTube อยู่บ่อย จน YouTube กลายเป็นตัวตอกย้ำและการันตีความนิยมให้กับรายการทีวีอีกทีหนึ่ง ที่เพิ่งจบไปล่าสุดอย่างรายการ Thailand Got Talent ซึ่งกระแสจากฟรีทีวี อินเทอร์เน็ต และการดูคอนเทนต์ของรายการซ้ำใน YouTube คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยๆ หากเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมจริง

ในอีกสถานะหนึ่ง YouTube จึงไม่ต่างจากการเป็นคลังคอนเทนต์ออนไลน์ที่ใช้เช็กฟีดแบ็กของปรากฏการณ์ทั้งจากฟรีทีวีและจากกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ความนิยมของ YouTube ย่อมเป็นที่จับตาของคู่แข่ง ซึ่งหากพิจารณาจากระยะเวลาในการชมต่อครั้งจะพบว่า YouTube หล่นมาอยู่อันดับที่ 5 ตามหลัง Tudu, Hulu, Megavideos และ CBS Sports และเมื่อเทียบกับการรับชมผ่านจอโทรทัศน์ยิ่งพบว่าใช้เวลาน้อยกว่ามาก เพราะเฉลี่ยแล้วคนเฝ้าหน้าจอนานถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้ YouTube กลายเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Netflix, Hulu, Amazon และ Apple TV ที่ให้บริการด้านนี้อย่างจริงจังมาก่อนหน้า

YouTube เองก็ตระหนักในจุดอ่อนนี้ดี และมีการพัฒนา YouTube Movie เพื่อให้บริการชมภาพยนตร์เต็มๆ เรื่อง ขึ้นเมื่อพฤษภาคม 2554 ทั้งในรูปแบบของการให้บริการฟรี (ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ฟอร์มเล็กและอินดี้) และให้บริการแบบคิดค่าบริการแบบเดียวกับร้านเช่าวิดีโอออนไลน์ คิดค่าบริการสำหรับภาพยนตร์เก่า 2.99 เหรียญ และ 3.99 เหรียญสำหรับภาพยนตร์ มีภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดให้เลือกกว่า 3 พันเรื่อง แต่ยังจำกัดการให้บริการเฉพาะในอเมริกาเท่านั้น โดยหวังว่าบริการที่เพิ่มเข้ามานี้จะทำให้คนดูใช้เวลากับ YouTube ในการชมต่อครั้งมากขึ้น เช่นเดียวกับโอกาสสร้างประสบการณ์กับแบรนด์ (Brand Experience) ก็มีมากขึ้นด้วย

เมื่อคอนเทนต์พร้อมอุปกรณ์ต้องเติมเต็ม

ในยุคที่กระแสอินเทอร์เน็ตและโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมาแรง สินค้าไอทีทั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พกพาอย่างโทรศัพท์มือถือไปจนถึง Tablet ที่กำลังฮิตที่สุดตอนนี้ กลายเป็นหน้าจอที่ผู้บริโภคเลือกใช้ ขณะที่สื่อเก่าๆ อย่างโทรทัศน์ แม้จะมีความพยายามขยายจอภาพให้ใหญ่และบาง เน้นดีไซน์สวยหรูเพียงใด แต่การเป็นเพียงแค่เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองผู้บริโภคในยุคนี้ เพราะคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคต้องการและรู้สึกสนุกด้วยกับการใช้ชีวิตยุคใหม่ ตอบสนองพวกเขาได้เร็วกว่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ตมากกว่า

หลายปีที่ผ่านมา โทรทัศน์จึงกลายเป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ประจำบ้าน ยิ่งบ้านไหนมี Netizen เป็นผู้อยู่อาศัยหลักแล้วล่ะก็ โทรทัศน์บ้านนั้นก็อาจจะเป็นหม้ายไปเลย

จนเมื่อวันหนึ่งที่ผู้บริโภครู้สึกว่า อยากจะย้ายหน้าจอเล็กๆ ของคอมพิวเตอร์และมือถือ มาเป็นจอภาพขนาดใหญ่ที่สั่งงานได้ไม่ต่างจากเดิม และได้คอนเทนต์ออนดีมานด์ที่หาดูได้ทันที โอกาสของการรวมฟีเจอร์ของอินเทอร์เน็ตไว้ในโทรทัศน์ จึงเริ่มมีการพัฒนาและทำตลาดกันอย่างจริงจังมากขึ้น สื่อโทรทัศน์ที่ต้องปรับตัวแข่งขันกับคลิปวิดีโอ และทำให้เจ้าของคอนเทนต์หลายรายเลือกที่จะทำสื่อโดยอิงไว้กับ “ฟรีแวร์” ที่ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตมากว่าจะลงทุนพัฒนาช่องโทรทัศน์อินเทอร์เน็ตของตัวเองขึ้นมา เพราะอย่างน้อยโอกาสของการถูกค้นพบก็ง่ายและเร็วกว่าการออกอากาศด้วยรูปแบบเดิมๆ ที่สำคัญต้นทุนถูกกว่าเป็นร้อยเป็นพันเท่าเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ในต่างประเทศวิเคราะห์ว่า อินเทอร์เน็ตทีวี หรือสมาร์ททีวี ซึ่งกำลังออกสู่ตลาดกันอย่างคึกคัก เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้นั้น อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะทุกครั้งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้งานอินเทอร์เน็ตพวกเขาจะต้องเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์ไปพร้อมๆ กับ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งผู้ผลิตทีวีอินเทอร์เน็ตเองก็พยายามในฟีทเจอร์นี้ลงไปในทีวีของพวกเขาด้วยเช่นกัน

โดยการทำงานของอินเทอร์เน็ตทีวี หรือที่ผู้ผลิตบางรายเรียกว่าสมาร์ททีวี นอกจากจะทำหน้าที่เป็นเบราว์เซอร์สำหรับการดูคอนเทนต์ผ่านชาแนลต่างๆ เช่น YouTube หรืออย่างในเมืองไทยก็มีเว็บ MThai ที่รวมคลิปหลากหลายประเภทไว้ให้เลือกดูกันแล้ว ก็ยังทำหน้าที่เป็น Personal Interactive Communication ของผู้ใช้ได้ด้วย

แต่สิ่งที่ผู้ผลิตหลายรายอาจจะลืมคิดไปก็คือ หน้าที่เดิมของทีวีนั้น คือจุดศูนย์รวมของบ้าน ที่ทุกคนในบ้านนิยมใช้งานร่วมกัน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็น Group Activity อาจไม่เหมาะกับคนที่ในสังคมออนไลน์ ที่ชื่นชอบ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก นอกจากนี้ หากการใช้งานยังมีความซับซ้อน ผู้บริโภคต้องเรียนรู้การใช้งานใหม่ ก็จะเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการใช้งานที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

แต่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกาการเติบโตของอินเทอร์เน็ตทีวีก็พุ่งสูงอย่างรวดเร็ว และคาดว่าภายในปี 2557 จำนวนทีวีที่ผลิตในตลาดโลกจะมีมากกว่า 122 ล้านเครื่องนั้น และจะมาพร้อมติดตั้งการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจนกลายเป็นมาตรฐานของทีวีทั่วไป

ช่วงปี 2553 ที่ผ่านมาเฉพาะในอเมริกา มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับทีวีเพิ่มขึ้นถึง 41.90% (ม.ค.2553) สูงกว่าหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นที่มีเพียง 27.70% เป็นตัวเลขที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทีวีรุ่นใหม่ที่ผลิตออกจำหน่ายทั่วโลกต้นปีนี้ก็มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของตลาดที่เป็นอินเทอร์เน็ตทีวี โดยมีจีนเป็นตลาดใหญ่สุดและตลาดอื่นๆ ทั่วโลกก็ตอบรับอย่างรวดเร็วพอๆ กัน

จึงคาดการณ์กันว่าตลาดทีวีไทย ซึ่งมักจะเติบโตไล่หลังประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาอย่างน้อยไม่เกิน 1-2 ปี จะพัฒนาเข้าสู่ตลาดอินเทอร์เน็ตทีวีอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน เวลานี้มีอยู่ประมาณปีละ 2.1 ล้านเครื่องในตลาดปัจจุบัน และอย่างน้อยก็ได้รับการการันตีจากทุกค่ายทีวีที่ออกมาเปิดตัวอินเทอร์ทีวีกันเกือบครบทุกรายแล้วตั้งแต่ต้นปีนี้ อีกทั้งหลายธุรกิจ ก็เริ่มสนใจที่จะพัฒนาอินเทอร์เน็ตของตัวเองเพื่อลดต้นทุนการสื่อสารและหาช่องทางใหม่ๆ ในการเข้าถึงลูกค้าที่ถูกลง และเข้าถึงลูกค้าในแบบที่ลูกค้าคุ้นเคยมากขึ้น

iPad ทางเลือกที่ต้องจับตา

นอกจากนี้การตื่นตัวของผู้พัฒนาคอนเทนต์ โดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์คนที่ชอบดู Internet Streaming เป็นประจำ และเบื่อเต็มที่กับการที่ต้องดูผ่านจอเล็กๆ ในคอมพิวเตอร์ คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกของอินเทอร์เน็ตทีวีที่น่าจะมีความสุขที่สุด ตัวอย่างเช่น พวกเขาสามารถดูละครออนไลน์ได้โดยไม่มีโฆษณาทีเดียวหลายตอนและไม่จำกัดว่าเป็นคอนเทนต์จากประเทศไหน ฯลฯ

ด้วยเหตุผลของความต้องการขนาดจอที่ใหญ่ขึ้นสำหรับการดูวิดีโอสตรีมมิ่งแบบออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ต้องการเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์แบบเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน นี่เอง ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะมาลงตัวที่ iPad หรืออาจจะเป็นแท็บเล็ตพีซีที่ถูกใจผู้ใช้สักเครื่อง

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ฝ่ายผู้ผลิตทีวียอมแพ้ตั้งแต่ในมุ้งเสียเมื่อไร เมื่อพวกเขาก็มีผลงานวิจัยที่ทำให้ใจชื้นได้บ้าง

ตัวอย่างเช่น จากผลการวิจัยของ Yahoo พบว่า ในขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ดูทีวีคอนเทนต์ผ่านออนไลน์ แต่ในทางกลับกันก็พบว่าเมื่อมีอินเทอร์เน็ตทีวี หรือสมาร์ททีวี พวกเขาก็ดูคอนเทนต์ออนไลน์ผ่านทีวีด้วยเช่นกัน นั่นเท่ากับว่าการแก้เกมของฝั่งผู้ผลิตทีวีที่เพิ่มคุณสมบัติการใช้งานเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตช่วยกู้สถานะของอุปกรณ์บันเทิงยุคเก่าภายในบ้านกลับมาได้บ้างแล้ว

คาดว่าขั้นตอนต่อจากการคอนเวอร์เจนซ์ระหว่างทีวีกับอินเทอร์เน็ตนี้ จะกลายเป็นโอกาสใหม่สำหรับนักการตลาดและนักโฆษณาที่คงหาช่องทางสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ สนุกๆ ให้เกิดขึ้นได้อีกมาก โดยบรรดานักการตลาดและนักโฆษณาจะต้องนำพฤติกรรมของผู้ผลิตที่มีบทบาทต่อการเติบโตของอินเทอร์เน็ตทีวีเหล่านี้ไปคิดต่อ

จากการวิจัยของ Yahoo ซึ่งทำเซอร์เวย์กลุ่มผู้บริโภคในอเมริกาที่ใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับทีวี พบว่า มีครัวเรือนถึง 1 ใน 3 ของบ้านที่ใช้บรอดแบนด์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับทีวีแล้วในตอนนี้ และพวกเขาก็สนใจที่จะใช้งานอินเทอร์เน็ตทีวีมากถึง 32% แทนที่จะสนใจใช้ทีวีกับเครื่องเล่นดีวีดีหรือเคเบิลแบบเดิมๆ

ส่วนประเภทของคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมดูมากที่สุดตามลำดับได้แก่ รายการทีวีหรือภาพยนตร์ (68%) รายงานสภาพอากาศ (65%) เกม (64%) และเพลง (44%) จากผลการเซอร์เวย์ยังพบว่า ผู้บริโภคนิยมพูดคุยกับเครือข่ายเพื่อนๆ ระหว่างที่ดูรายการเกมโชว์ มีถึง 60% ที่ชอบคลิกเข้าไปดูคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับรายการทีวีที่ดูอยู่ มี 28% ที่อยากจะพูดคุยกับเพื่อนในสังคมออนไลน์ระหว่างที่ดูรายการ หลังจากที่ 34% อยากแนะนำเพื่อนให้ดูรายการที่ตัวเองดูอยู่ และอีกหลากหลายความต้องการที่ผู้บริโภคสามารถและต้องการทำร่วมกันกับเพื่อนในสังคมออนไลน์ระหว่างดูรายการทีวี

ถึงตอนนี้ จึงอาจจะพูดได้ว่า แม้โลกเอวีและไอทีจะคอนเวอร์เจนซ์กันโดยสมบูรณ์ แต่ด้วยศักดิ์ศรีของแต่ละตลาดที่มีจุดแข่งของตัวเอง หน้าที่ของนักการตลาดจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาครีเอตดีมานด์ และแบ่งปันความสำคัญของอุปกรณ์แต่ละชนิดให้ผู้บริโภคเลือกใช้งานได้อย่างลงตัวและมีสีสัน เพื่อบาลานซ์ตลาดของสินค้าแต่ละหมวด ให้เติบโตต่อไปได้อย่างมีทางของตัวเอง

YouTube Timeline
กุมภาพันธ์ 2548 ก่อตั้ง
สิงหาคม 2549 เปิดตัวรูปแบบในการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ตุลาคม 2549 Google ซื้อกิจการด้วยเงินสด 1.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ธันวาคม 2549 ขึ้นปกนิตยสาร Time
มิถุนายน 2550 เปิดตัวเวอร์ชั่นสำหรับสมาร์ทโฟน
มิถุนายน 2551 ร่วมมือกับโซนี่ บราเวีย
เมษายน 2552 ให้บริการภาพยนตร์และทีวีซีรี่ส์
พฤศจิกายน 2552 ให้บริการแบบ Full HD
มกราคม 2553 ให้บริการ YouTube Rentals
มีนาคม 2553 เปิดตัวดีไซน์ใหม่
พฤษภาคม 2554 ให้บริการ YouTube Movie