คุยกับข้าราชการเกษียณผู้บุกเบิกผ้าบาติก ของฝากขึ้นชื่อจากเกาะภูเก็ต และการต่อลมหายใจศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นด้วยออนไลน์กับดีแทค เน็ตทำกิน

  • รับนักท่องเที่ยวเปิดเกาะเข้าเมืองไม่ตรวจโควิด-19 ฟื้นเศรษฐกิจภูเก็ต

ประเทศไทยได้ประกาศยกเลิกมาตรการ Test & Go สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งจังหวัดท่องเที่ยวอย่างเกาะภูเก็ตนั้น ถูกจับตาว่าจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไข่มุกแห่งอันดามัน” ด้วยลักษณะเป็นเกาะตั้งอยู่ในทะเลอันดามันของมหาสมุทรอินเดีย เพียบพร้อมด้วยความงามทางธรรมชาติทั้งหาดทราย ชายทะเล และเกลียวคลื่น จนติดหนึ่งในจุดหมายอันดับต้นๆ ของนักเดินทางทั่วโลก

นอกจากความงามทางธรรมชาติแล้ว ภูเก็ตยังรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ประกอบสร้างจากทั้งชนพื้นเมือง นักเดินเรือ และพ่อค้าต่างชาติสมัยอยุธยา ทำให้ภูเก็ตจึงเปรียบเหมือนเป็นอีกหนึ่ง “Melting Pot” ซึ่งหนึ่งในตัวบ่งชี้สำคัญก็คือ “ผ้าบาติก”

หลงใหลในศิลปกรรมท้องถิ่น

”ด้วยความเป็นคนนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด และหลงใหลในศิลปะวาดเขียนตั้งแต่อนุบาล เราจึงเลือกศึกษาต่อในวิทยาลัยศิลปหัตถกรรม นครศรีธรรมราช ก่อนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยเพาะช่าง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันศิลปะ โรงเรียนเพาะช่าง) วิชาเอกมัดย้อมทอย้อม ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้สั่งสมวิชาการตกแต่งผ้าด้วยเทคนิคบาติก” พัชรีย์ แสงจันทร์ หรือปิ๋ว ข้าราชการเกษียณ วัย 62 ปี เล่า เธอคืออดีตศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และหนึ่งในผู้บุกเบิกหัตถกรรมผ้าบาติกในภูเก็ต

บาติก (Batik) หรือ ปาเต๊ะ เป็นคำในภาษาชวา หมายถึงผ้าชนิดหนึ่งที่ผลิตโดยการใช้เทียนปิดในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี จากนั้นจึงระบาย แต้ม หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสีลงไปบนผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายที่สวยงามตามต้องการ โดยสันนิษฐานว่าการทำบาติกของไทยได้รับการเผยแพร่องค์ความรู้มาจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่ชาวไทยก็สามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์และวิถีชีวิตความเป็นไทยลงไปบนผ้าบาติกด้วยความวิจิตรบรรจงได้อย่างงดงาม จนกลายเป็นสินค้าที่มีเสน่ห์เฉพาะ

เมื่อพัชรีย์สำเร็จการศึกษาจากเพาะช่าง เธอเลือกสอบบรรจุเป็นข้าราชการสังกัด กศน.โดยประจำหลายจังหวัดในภาคใต้ และท้ายสุดได้ประจำที่ จ.ภูเก็ต ในช่วงปี 2535 ซึ่งในขณะนั้นการทำผ้าบาติกยังไม่เป็นที่แพร่หลายในท้องที่นัก พัชรีย์จึงร่วมมือกับ อ.ชูชาติ ระวิจันทร์ แห่งวิทยาลัยครูภูเก็ต (มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตในปัจจุบัน) ในการพัฒนาหลักสูตรการตกแต่งผ้าด้วยเทคนิคบาติก และต่อมามีการขยายหลักสูตรไปทั่วประเทศ

ด้วยกลไกของ กศน. ที่มุ่งเสริมสร้างและพัฒนาทักษะอาชีพแก่คนในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวสวน รับจ้างกรีดยาง ชาวประมง และมีเวลาทำงานเป็นกะ ทำให้เหลือเวลาว่างในการเสริมสร้างทักษะอาชีพอื่นๆ พัชรีย์จึงทำหน้าที่ฝึกอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ทั่วจังหวัด โดยหนึ่งหลักสูตรใช้เวลาทั้งสิ้นราว 100 ชั่วโมง

จุดเริ่มต้นภูเก็ตบาติก

เมื่อมีการให้ความรู้ฝึกปรือทักษะแก่ชาวบ้าน มีผลิตภัณฑ์ออกมามากมายแต่ไม่มีช่องทางขาย พัชรีย์จึงรับสินค้าผ้าบาติกที่ผลิตโดยชาวบ้านมาขายผ่านร้าน “ภูเก็ตบาติก” ซึ่งเธอขอพื้นที่ของบริษัททัวร์ที่สามีเธอทำงานอยู่มาใช้เป็นพื้นที่ขายสินค้า

“เชื่อไหมว่า จากตอนแรกที่ผ้าบาติกเยอะมาก ขายไม่ค่อยออก พอทัวร์นักท่องเที่ยวมาเจอเท่านั้นแหละ สินค้าหมดภายใน 3 วัน เรียกว่าทำไม่ทันเลยทีเดียว เพราะผ้าบาติกเป็นงานฝีมือ ผ้าหนึ่งชิ้นใช้เวลาทำ 2-3 วัน” พัชรีย์เล่าย้อนไปถึงยุครุ่งเรืองของการท่องเที่ยวภูเก็ต

ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มแยกออกไปขายสินค้าในลักษณะวิสาหกิจชุมชนบ้าง ขณะที่บางส่วนยังฝากร้านภูเก็ตบาติกขาย รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีจะชอบผ้าบาติกแบบตัดเย็บเป็นผ้าพันคอ ชาวยุโรปจะชอบแบบผ้าคลุม ขณะที่ชาวจีนจะชอบผ้าบาติกแบบเสื้อยืด

“การทำผ้าบาติกต้องใช้การลงทุนสูง สีที่ใช้คือสีบาติก ราคากิโลกรัมละ 1,800-2,000 บาท ยังไม่นับรวมอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ผ้า กรอบไม้ขึงผ้า ปากกาเดินเทียน เตาไฟฟ้า เทียนขี้ผึ้งพาราฟิน ฯลฯ นอกจากนี้ เมื่อก่อนยังมีข้อจำกัดของเนื้อผ้าที่ต้องเป็นเส้นใยธรรมชาติ มีเนื้อบางเท่านั้น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าป่านมัสลิน ผ้าไหม เพราะง่ายต่อการติดสี” พัชรีย์อธิบายเพิ่มเติม

แรงบันดาลใจจากธรรมชาติสู่ผืนผ้า

อย่างไรก็ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้น (นายเจด็จ อินสว่าง) ได้ออกนโยบายในการส่งเสริมอาชีพท้องถิ่น และกำหนดให้ข้าราชการใช้ผ้าบาติกเป็นชุดทำงานในทุกวันศุกร์ ซึ่งพัชรีย์นั่นเองเป็นผู้ออกแบบลายยูนิฟอร์มภายใต้แนวคิด “ทะเลเฟื่องฟ้า” เพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของจังหวัด นั่นคือ ทะเล และเฟื่องฟ้า ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ขณะเดียวกัน เธอได้ทดลองการตกแต่งด้วยเทคนิคบาติกกับผ้าชนิดอื่นที่เป็นที่นิยมของตลาด เช่น ผ้าฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์ ผ้าเรยอน ซึ่งผลตอบรับจากตลาดนั้นดีเกินคาด

“ความยากของการทำผ้าบาติกคือ มือต้องนิ่ง ถ้ามือไม่นิ่งแล้ว เส้นลายจะไม่สวย ขยุกขยิก ไม่ได้คุณภาพ ส่วนการลงสีก็เป็นอีกเรื่องที่อยู่กับจินตนาการของคน ซึ่งจุดเด่นของการทำผ้าบาติกแบบไทยคือ การลงสีแบบไล่สี ทำให้ภาพดูมีมิติ ต่างจากแบบดั้งเดิมของอินโดนีเซียที่จะใช้วิธีจุ่มย้อม ทำให้ภาพไม่มีมิติ” พัชรีย์ กล่าวเสริม

เธอบอกว่า สินค้าของเธอแต่ละผืนล้วนเป็นสินค้าที่มีชิ้นเดียวในโลก แต่ละลายล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากธรรชาติและจินตนาการ เช่น เกลียวคลื่น หน้าผา ดอกไม้

“สมัยก่อนพี่ดำน้ำไปเห็นอะไรก็เอามาวาด อย่างท้องฟ้าของภูเก็ตยามพระอาทิตย์ตกดินก็เอามาไล่สี เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติอย่างมาก หรือแม้แต่กราฟิตี้ซึ่งเป็นลวดลายสมัยนิยมก็เอามาลงสีบนผืนผ้า ถูกใจวัยรุ่นไปอีก” เธอกล่าว

ธุรกิจสะดุดด้วยโควิด

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 2562 ซึ่งเป็นยุคทองของการท่องเที่ยวไทยก่อนที่วิกฤตโควิดจะมาเยือนในช่วงต้นปี 2563 ภูเก็ตมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้นราว 14 ล้านราย สร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า 4.7 แสนล้านบาท

สถานการณ์ของภูเก็ตบาติกกำลังดูไปได้สวย แต่เมื่อวิกฤตโควิดเข้าตีเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต นักท่องเที่ยวจากสิบกว่าล้านคนเหลือเป็น “ศูนย์” พัชรีย์จึงตัดสินใจเลือกพึ่งพาช่องทางออนไลน์อย่างไม่ลังเล

“ช่วงแรกพี่ได้ลูกสาวมาช่วยเปิดเพจ สอนวิธีการทำคอนเทนต์และยิงโฆษณาให้ ซึ่งก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่ด้วยพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน ช่องว่างระหว่างวัยก็ทำให้การเรียนรู้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร ข้าราชการวัยเกษียณวัย 62 ปีเล่า ก่อนจะเสริมต่อว่า “วันหนึ่งเห็นข่าวดีแทคเน็ตทำกินรับสมัครผู้ประกอบการวัยเก๋า จึงสมัครและได้รับการคัดเลือกไปอบรม หลักสูตรครอบคลุมความต้องการของแม่ค้าออนไลน์มือใหม่มากๆ อย่างเช่น เขียนคอนเทนต์ยังไงให้น่าสนใจ จัดวางสินค้า ถ่ายรูปยังไงให้สวย เมื่อก่อนก็ทำแบบบ้านๆ นั่นแหละ วางสินค้าที่พื้นแล้วถ่ายเลย ส่วนน้องๆ ก็สอนอย่างใจเย็น อธิบายซ้ำเเล้วซ้ำอีกในเรื่องเดิมๆ จนเราเข้าใจ”

พัชรีย์ยังบอกอีกว่า เดี๋ยวนี้เธอชวนหลานๆ ไปทำคอนเทนต์ถ่ายรูปริมทะเล อวดผ้าบาติกสีสันสดใสกับเกลียวคลื่นสีฟ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ต ทำให้เพจขายสินค้าของเธอมีชีวิตชีวามากขึ้น แถมยอดขายก็ดีขึ้นอีกด้วย

“โชคดีที่ได้ออนไลน์ต่อชีวิต แม้ยอดขายอาจไม่ได้เยอะเหมือนตอนท่องเที่ยวบูมๆ แต่ก็ช่วยให้พี่ไม่ขัดสน แถมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่เหงา รู้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ขนาดคนในภูเก็ตยังสั่งสินค้าให้พี่ส่งออนไลน์เลย และตอนนี้เราตั้งหน้าตั้งตารอ ที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวกลับมายังเกาะภูเก็ต สำหรับการดีเดย์เปิดประเทศครั้งนี้” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ท่านใดที่สนใจผ้าบาติกลายสวยงามหรือจะสั่งออกแบบลายของตัวเอง สามารถติดต่อไปที่คุณพัชรีย์ได้ที่ https://www.facebook.com/phuketbatiksamkong/