Peter Moore สุดยอดนักการตลาดแบรนด์ ผู้ปฏิวัติ Nike และ Adidas

น่าเศร้าไม่น้อยที่มีข่าวออกมาว่า “ปีเตอร์ มัวร์” (Peter Moore) ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบที่โด่งดังที่สุดในธุรกิจรองเท้าผ้าใบยุคใหม่ ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 78 ปี ผลงานของชายผู้นี้ถูกยกเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมสนีกเกอร์ระดับโลก ทั้งในมุมการเป็นผู้สร้างโลโก้จั๊มป์แมน (Jumpman) ของไนกี้ และโลโก้ 3 แถบรูปภูเขาของอาดิดาส

2 โลโก้นี้มีอิทธิพลมากอย่างเหลือเชื่อในวงการธุรกิจสากล แม้หลายคนที่ไม่ได้เป็นสนีกเกอร์เฮดหรือแฟนคลับผู้หลงใหลการสวมรองเท้ากีฬา ก็ยังเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แอร์จอร์แดน (Nike Air Jordan) และจดจำโลโก้ 3-Stripes อันเป็นเอกลักษณ์ของอาดิดาสได้แม่น ผลลัพธ์นี้เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งจากแนวคิดและเส้นทางการทำงานของมัวร์ ซึ่งมีเกร็ดการทำงานน่าสนใจควรค่าที่จะหยิบมาพูดถึง

ในขณะที่ครอบครัวได้ขอความเป็นส่วนตัว และไม่เปิดเผยรายละเอียดสาเหตุการเสียชีวิตของมัวร์ สื่อหลายสำนักตีพิมพ์เรื่องราวของอดีตหัวหน้าแบรนด์ Jordan ของไนกี้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดตัวอาดิดาสอเมริกา (Adidas America) ในพอร์ตแลนด์ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งทั้งหมดเริ่มจากเส้นทางอาชีพน่าทึ่งของมัวร์ที่ออกตัวแรงในปี 1977 เมื่อครั้งตอบรับงานจากไนกี้ ในฐานะลูกค้าที่สตูดิโอออกแบบของตัวเอง

ไม่แค่ดีลไนกี้และไมเคิล จอร์แดน

หลังจบการศึกษาจากสถาบันศิลปะ Chouinard Art Institute มัวร์ในวัยหนุ่มมีลูกค้าหลายแบรนด์ในสตูดิโอที่ตัวเองตั้งขึ้น แต่มัวร์ตกลงใจร่วมหัวจมท้ายกับแบรนด์เดียว และตอบรับเข้าร่วมงานกับไนกี้ที่ตำแหน่ง Creative Director ในฐานะผู้บุกเบิกตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนแรกของบริษัทเมื่อปี 1983 และเพียง 1 ปีต่อมา ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพาให้ไนกี้บรรลุดีลเขย่าโลกกับไมเคิล จอร์แดน ซึ่งนำไปสู่ไลน์ผลิตภัณฑ์แอร์จอร์แดนอันโด่งดัง

จากคำบอกเล่า มัวร์นั้นมีชื่อเสียงเรื่องการสื่อสารด้านแบรนด์สูงเป็นพิเศษ ทำให้โดดเด่นในยุคนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลายปีก่อนจะเกิดเทรนด์ที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมักต้องเข้ารับการฝึกอบรมด้านการสื่อสาร เพื่อถ่ายทอดข้อความเกี่ยวกับแบรนด์ สำหรับมัวร์แล้ว รูปแบบการสื่อสารที่ตรงไปตรงมานั้นเป็นจุดขายพิเศษ ซึ่งชัดเจนมากจนหลายคนไม่เคยสงสัยหรือมีคำถามเกี่ยวกับจุดยืนของมัวร์เมื่อเกิดประเด็นปัญหาใดขึ้นมา

4 ปีผ่านไป มัวร์ออกจากไนกี้เพื่อก่อตั้งบริษัท สปอร์ตอิงค์ (Sports Inc) ในปี 1987 โดยมีโรเบิร์ต สตราสเซอร์ (Robert Strasser) เป็นหุ้นส่วนร่วมสร้างแบรนด์ชุดกีฬาคุณภาพเยี่ยม ทั้งคู่ใช้เวลา 6 ปีก่อร่างบริษัทจนฉายแววโดนใจอาดิดาส (Adidas AG) นำไปสู่การเสนอซื้อกิจการในปี 1993 เพื่อเป็นรากฐานสำหรับอาดิดาสอเมริกา (Adidas America)

หลังจากข่าวการเสียชีวิตของมัวร์ ทีมงานอาดิดาสออริจินัลส์ (Adidas Originals) ออกมาทวีตขอบคุณที่มัวร์ได้ “แสดงให้บริษัทมองเห็นอนาคต” ก่อนจะแสดงความรู้สึกระลึกถึงคุณงามความดีที่มัวร์ได้ทำมาตลอดไป ขณะที่ในแถลงการณ์ซึ่งออกโดยโฆษกของอาดิดาส ยกให้มัวร์เป็นตำนานและไอคอนตัวจริงในอุตสาหกรรม

 

ความดีของมัวร์ที่ทิ้งร่องรอยซึ่งลบไม่ออกให้กับแบรนด์กีฬาชั้นนำของโลก คือการขยายความสำคัญของการตลาดที่ชาญฉลาดและรอบคอบ ซึ่งช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์จากการเป็นเพียงแบรนด์รองเท้าผ้าใบธรรมดา ความเชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ของมัวร์ยังเห็นได้บนหลายโลโก้ที่ออกแบบมาเพื่อไนกี้และอาดิดาส โดยเฉพาะโลโก้ “ภูเขา” ของอาดิดาส ที่ถูกปรับใช้สำหรับคอลเลกชันรองเท้าและเครื่องแต่งกายแบบครอบคลุมทุกประเภทในกลุ่อาดิดาสอิควิปเมนท์ (Adidas Equipment) โดยที่มัวร์ชี้ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางดั้งเดิมของผู้ก่อตั้งอาดิดาส นั่นคือแอดดิ ดาสเลอร์ (Adi Dassler) บนสโลแกนที่สื่อถึงสิ่งที่ดีที่สุดของอาดิดาส (The best of Adidas.)

อินโทรเวิร์ตที่เชื่อในพลังของการคุย

รายงานจาก WWD บอกเล่าเกร็ดการทำงานของมัวร์ว่า เมื่อบริษัทเริ่มใช้อีเมลในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มัวร์กลับกระตุ้นให้พนักงานเดินไปคุยกับเพื่อนร่วมงานโดยตรง หลักฐานส่วนนี้พบจากบันทึกภายในของบริษัท แสดงว่ามัวร์ต้องการสื่อสารกับพนักงานแบบใกล้ชิดแทนที่จะส่งอีเมลหรือโทรศัพท์ ดังนั้นแม้จะเป็นคนเก็บตัวหรืออินโทรเวิร์ต แต่มัวร์กลับยกย่องในพลังของการติดต่อและการฟังแบบตัวต่อตัว

สำหรับกรณีการโต้เถียงกันว่าใครควรได้รับเครดิตสำหรับดีลกระหึ่มโลกปี 1984 ของไมเคิล จอร์แดนกับไนกี้ ที่นำไปสู่ธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ มัวร์ไม่ได้เก็บแต่เรื่องดีไว้ที่ตัวเอง โดยให้เครดิตกับคู่หูอย่างสตราสเซอร์ (Robert Strasser) ในฐานะเป็นผู้ตัดสินใจว่าไนกี้จำเป็นต้องคว้าความร่วมมือกับดาวดังบาสเกตบอลให้ได้ และมองเห็นว่ากีฬาบาสเกตบอลจะเป็น “โอกาสทางการตลาดที่ยิ่งใหญ่” ขณะเดียวกันก็มีการให้เครดิตกับคนแวดล้อมในวงการบาสเกตบอลชายทีมชาติสหรัฐฯ ชุดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1984 ซึ่งล้วนมีดีลหักเหลี่ยมซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนสนับสนุนให้ดีลนี้เกิดขึ้น

มัวร์มองว่าทุกอย่างสมเหตุสมผลดีในช่วง 30 ปีต่อมา เพราะเวลานั้นไนกี้ไม่อาจรับความเสี่ยงปล่อยให้ดีลนี้หลุดไปได้ นำไปสู่เรื่องราวเบื้องหลังซับซ้อนมากพอจะนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งเบน เอฟเฟล็กซ์ (Ben Affleck) และแม็ตต์ เดมอน (Matt Damon) ได้ประกาศแผนการสร้างภาพยนตร์โดยอิงจากความพยายามของไนกี้ในการเซ็นสัญญารองเท้าผ้าใบกับดาวดังบอสเกตบอลยุคนั้น

นิสัยยกย่องเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มที่ของมัวร์ สะท้อนชัดเมื่อคู่หูอย่างสตราสเซอร์เสียชีวิต โดยในฤดูใบไม้ร่วงปี 1993 มัวร์กลายเป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาดิดาสอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจของอาดิดาสในสหรัฐฯ เวลานั้นมัวร์ดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูงไม่กี่สัปดาห์ หลังสตราสเซอร์มีอาการหัวใจวายเมื่ออายุ 46 ปีขณะเข้าร่วมการประชุมการขายระหว่างประเทศ

เวลานั้นมัวร์ยกย่องเพื่อนว่าเป็นผู้สร้างทีมงานในสหรัฐอเมริกา บนความมุ่งมั่นที่จะทำให้ความฝันเรื่องการฟื้นแบรนด์อาดิดาสประสบความสำเร็จ ซึ่งแผนการพัฒนาสินค้ากลุ่มหลักเช่นรองเท้าวิ่งผู้ชาย รองเท้าบาสเกตบอลและเทนนิส และคอลเลกชันเสื้อผ้าสตรีในฤดูใบไม้ผลิแบบจำนวนจำกัด ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนจากไอเดียของสตราสเซอร์ที่มัวร์รับมาปฏิบัติตาม

Photo : Shutterstock

แม้จะถ่อมตัวเช่นนี้ แต่จอห์น ฟรีด (John Fread) ซึ่งเคยเป็นผู้นำทีมสื่อสารของอาดิดาสอเมริกา กล่าวยกย่องว่ามัวร์เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่ช่างสังเกต และมีอัจฉริยะด้านความคิดสร้างสรรค์ ทำให้สามารถมองบางสิ่งบางอย่าง แล้วตีความคำจำกัดความ หรือวิธีแก้ปัญหา ก่อนจะถ่ายทอดสิ่งนั้นไปยังทั้งการออกแบบภาพและการใช้งาน ที่ทุกคนจับต้องได้

สำหรับการจากไปของมัวร์ ภรรยาและลูกชาย 3 คน ได้แก่ เดวิน ดิลลอน และฮาเกนแจ้งแก่ผู้ร่วมไว้อาลัยว่าขออนุญาตงดใช้ดอกไม้ และครอบครัวขอให้บริจาคเงินกับโรงพยาบาลเด็กของมหาวิทยาลัยในโอเรกอน Oregon Health & Science University Doernbecher Children’s Hospital หรือสมาคมกอล์ฟเยาวชน Oregon Junior Golf Association แทน

เป็นการรูดม่าน 78 ปี ปิดตำนานสุดยอดนักการตลาดแบรนด์ผู้ปฏิวัติ Nike และ Adidas ที่สร้างประโยชน์ให้สังคมต่อไปอีกนาน

ที่มา : WWD, Design Taxi, USA Today