ทำได้จริงไหม! ‘อียู’ ประกาศคว่ำบาตร ‘น้ำมันรัสเซีย’ 90% ภายในปลายปีนี้

ตั้งแต่ ‘รัสเซีย’ เปิดศึกเริ่มสงครามกับ ‘ยูเครน’ ราคาน้ำมันทั่วโลกก็พุ่งสูงขึ้น แต่ที่ราคาน้ำมันสูงหลายคนคิดว่าเป็นเพราะการ ‘คว่ำบาตร’ จาก ‘อียู’ (EU) หรือ ‘สหภาพยุโรป’ แต่ความเป็นจริงแล้วที่น้ำมันทั่วโลกแพงเป็นเพราะรัสเซียมีกำลังผลิตน้ำมันที่ลดลง จนทำให้ประเทศในยุโรปต้องไปดึงเอาน้ำมันจากประเทศผู้ผลิตอื่น แต่ล่าสุด อียูก็มีมติที่จะคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียจริง ๆ ภายในสิ้นปีนี้

หลังจากที่อียูได้เสนอเข้าร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ในการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว ล่าสุดของอียู อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดเผยว่า อียูมีมติในการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 90% ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อลดแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่สำหรับการทำสงครามกับยูเครน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ อาทิ การตัด Sberbank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียออกจากการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ SWIFT, ห้ามผู้แพร่ภาพกระจายเสียงของรัฐรัสเซียอีก 3 ราย และคว่ำบาตรบุคคลที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน

อย่างไรก็ตาม อียูจะยกเว้นมาตรการดังกล่าวกับประเทศ ฮังการี เนื่องจากประเทศไม่มีดินแดนติดทะเล ดังนั้น การขนส่งน้ำมันจึงทำได้ยากกว่าประเทศอื่น ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพิงการส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียผ่านทางท่อส่งน้ำมัน

ที่ผ่านมา อียูกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซียมาแล้ว 5 ครั้ง นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เพื่อบีบให้รัสเซียหยุดก่อสงคราม อย่างไรก็ตาม พวกเขาประสบปัญหาในการแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซีย เนื่องจากมันก่อความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป

เนื่องจาก ยุโรปถือเป็นผู้ซื้อพลังงานรัสเซียรายใหญ่ที่สุด โดยในปี 2020 ยอดส่งออกน้ำมันดิบ 27% ของรัสเซียถูกส่งไปยังยุโรป หรือคิดเป็นประมาณ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ประเทศ ฮังการี, สาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย ถือเป็น 3 ประเทศที่พึ่งพาน้ำมันของรัสเซียมากที่สุด โดยคิดเป็น 86%, 97% และ 100% ตามลำดับ

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 2 ของโลก โดยช่วงก่อนเกิดสงครามสามารถผลิตได้เฉลี่ย 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 11% ของความต้องการทั่วโลก แต่ตั้งแต่เกิดสงคราม ปริมาณการผลิตของรัสเซียก็ลดลงมาเหลืออยู่ราว 9-10 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่านั้น หรือหายไปประมาณ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงเพราะไม่เพียงพอต่อความต้องการ

Source