ปมคดี – ใครเจ้าของ? ชี้ชะตาวินด์ฯ เข้าตลาดหุ้น

มหากาพย์วินด์เอนเนอร์ยี่จะจบลงอย่างไร? หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า คดีฟ้องร้องทั้งหลายจะจบลงอย่างไร และหลังจากนั้นสังคมก็จะได้คำตอบของคำถามว่า ใครเป็นเจ้าของหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่กว่า 59.46% ที่กลุ่มนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตถือหุ้นใหญ่ตั้งใจขายออกมา

จากคดีปลอมลายเซ็น ซึ่งผลพิสูจน์ลายมือชื่อของเกษม ณรงค์เดช โดยกองพิสูจน์หลักฐาน, นิติวิทยาศาสตร์ ที่ออกมาตรงกัน ตลอดจนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชี้ว่า ลายมือชื่อเกษมที่ปรากฏอยู่ในเอกสารการซื้อขายถ่ายโอนหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

กรณีดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นถึง “วาระซ่อนเร้น” ของผู้เกี่ยวข้องที่ต้องการฮุบหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ไว้เป็นสมบัติของตนเอง ทั้งที่เรื่องนี้จริงๆ แล้วปรากฏตามข่าวที่ระบุตรงกัน เกษมหัวหน้าครอบครัว มอบหมายให้ณพบุตรชายคนกลางเป็นผู้ดำเนินการเจรจาซื้อขายแทนตระกูลณรงค์เดช ซึ่งหมายความว่า หุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่เมื่อได้มาเป็นชื่อของเกษม และต้องจัดสรรให้ใครบ้าง สัดส่วนเท่าไหร่? หน้าที่นี้ ปกติย่อมเป็นเรื่องของหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ดำเนินการต่อใช่หรือไม่?

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง

เกษม ”คดีโกงเจ้าหนี้ชี้ชัดไม่รับรู้โอนหุ้นไม่รับรู้โอนหุ้น เรียกได้ว่า หากการซื้อขายถ่ายโอนหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ ดำเนินการไปด้วยความประสงค์ของเกษมหรือครอบครัวตั้งแต่แรกโดยไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ บรรดาข้อพิพาท และคดีความต่างๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เมื่อกลุ่มของ นพพร ที่เป็นเจ้าของเดิมตัดสินใจฟ้องณพ ในข้อกล่าวหา “โกงเจ้าหนี้” จากการซื้อขายหุ้นวินด์ฯ นพพรได้ฟ้องเกษมพ่วงไปด้วย เพราะเข้าใจว่า เกษมเป็นผู้ที่รับรู้ในกระบวนการของณพ

เนื่องเพราะอย่างที่ทราบกันก่อนหน้านี้ว่า เกษม และครอบครัวณรงค์เดช ได้มอบหมายให้ ณพ เป็นผู้เจรจาและดำเนินการซื้อขาย แต่หลังจากนั้นกระทั่งการชำระเงินที่ไม่ครบถ้วนให้ นพพร เกษมและครอบครัว ไม่ได้รับรายงานจากณพ กระทั่งธุรกรรมการโอนหุ้นไปให้บริษัทของคุณหญิงกอแก้วแม่ยายของณพด้วยเอกสาร และลายมือชื่อปลอมซึ่งเกษม และครอบครัว ตัดสินใจฟ้องณพ และคุณหญิงกอแก้วในเวลาต่อมา เรื่องราวการยื้อแย่งหุ้นวินด์ก็ชัดเจนขึ้นมา

ทั้งนี้ ข้อมูลตามสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ระบุว่า เกษม ณรงค์เดช ได้รับโอนหุ้นจาก บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 64,717,411 หุ้น ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2559

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 เกษม ณรงค์เดช ถูกปลอมลายมือชื่อและโอนหุ้นออกไปให้บริษัทโกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำนวน 43,895,570 หุ้น และ วันที่ 9 สิงหาคม 2560 เกษม ณรงค์เดช ถูกปลอมลายมือชื่อและโอนหุ้นออกไปให้บริษัทโกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด อีกจำนวน 11,814,072 หุ้น รวมจำนวนหุ้นที่ถูกปลอมลายมือชื่อโอนหุ้นไปให้แก่บริษัทโกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ดทั้งสิ้นจำนวน 55,709,642 หุ้น และนอกจากนั้นก็ยังได้มีการโอนหุ้นส่วนที่เหลือไปให้แก่บุคคลต่างๆ

ขณะเดียวกัน จากคดีโกงเจ้าหนี้ที่นพพรฟ้องก็ตอกย้ำมากขึ้นว่า ครอบครัวณรงด์เดชนั้น ไม่ได้มีส่วนรับรู้ในการดำเนินการของณพอย่างชัดเจน ซึ่งมีรายงานว่า ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณายกฟ้อง “เกษม ณรงค์เดช” ว่า ไม่มีมูลในคดีโกงเจ้าหนี้ดังกล่าว

กล่าวคือ กลุ่มบริษัทนพพร ศุภพิพัฒน์ ยื่นฟ้องณพ ณรงค์เดช และพวก ในข้อหาโกงเจ้าหนี้จากการซื้อขายหุ้นบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จํากัด โดยในการฟ้องครั้งนี้เกษม ณรงค์เดช ก็ได้ถูกฟ้องร่วมไปด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องไปก่อนหน้านี้ในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีมูล

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ศาลแขวงพระนครใต้ได้อ่านคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า เป็นกรณีที่ครอบครัวณรงค์เดช มอบหมายให้ณพ ณรงค์เดช ไปดำเนินการซื้อหุ้นบริษัท วินด์เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จํากัด “ให้เป็นของครอบครัวเพื่อมอบให้แก่บุตรทั้งสาม” นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เกษมเกี่ยวข้องกับการทําสัญญาซื้อขายหุ้นตามที่ทางกลุ่มบริษัทนายนพพรฟ้องมาแต่อย่างใด

แม้ว่าเกษมจะรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมูลหนี้การซื้อขายหุ้นกับกลุ่มบริษัทของนพพร แต่เกษมไม่ได้ร่วมกระทำการใดๆ อันแสดงว่ารู้เห็นเป็นใจให้มีการนําหุ้นวินด์ฯ ออกจําหน่ายตามที่ถูกฟ้อง และที่สำคัญ ทางไต่สวนได้ความว่า ลายมือชื่อของ เกษม ที่ปรากฏในสัญญาซื้อขายหุ้นวินด์ฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ตลอดจนการโอนหุ้นให้บริษัท โกลเด้นมิวสิค ตามคำฟ้องนั้น เป็นลายมือปลอมไม่ใช่ลายมือที่แท้จริงของเกษม ศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืน ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น ซึ่งถือว่าเป็นสิ้นสุดของกระบวนการพิจารณาแล้ว

หุ้นวินด์ฯ ที่ผ่านมาจนวันนี้ยุ่งเพราะ ณพ-นพพร

นั่นเป็นคดีที่พิสูจน์ว่า เกษม ไม่ได้มีส่วนไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการโอนหุ้นวินด์ฯ ไปให้คุณหญิงกอแก้ว แม่ยายของณพ

มีคำถามว่า ทำไมหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่จึงเกิดเป็นข้อพิพาทมากมายถึงเพียงนี้ ก็ต้องบอกว่า จุดเริ่มมาจากคนสองคน ระหว่าง “นพพร และ ณพ” ณพเคยอธิบายถึงคดีความต่างๆ ของบริษัทฯไว้ว่า “ธุรกิจวินด์ฯ จากวันแรกจนถึงวันนี้ ผลประกอบการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของผลประโยชน์”

เขาระบุว่า ปัจจุบัน โครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทฯ ประกอบด้วย บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ดที่จดทะเบียนในฮ่องกง และเป็นของคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ถือหุ้นประมาณ 40% ซึ่งจำนวนนี้รวมถึงหุ้น WEH ในส่วนของเขาก็ถูกโอนขายไปให้ด้วย ซึ่งเขายอมรับว่า มีการทำนิติกรรมบางส่วนที่ผ่านเกษม ณรงค์เดช บิดา ซึ่งต่อมากลายเป็นความขัดแย้งระหว่างตัวเองกับพี่น้องในครอบครัวณรงค์เดช ในคดีปลอมลายเซ็น

ในส่วนของคดีความณพ ระบุว่า มีอยู่หลายคดี ทั้งที่เริ่มโดยนพพร ผู้ขายหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง และครอบครัวของตน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีกลยุทธ์การสร้างคดีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อกดดันเขา ส่วนคดีอื่นๆ ที่นพพรฟ้องเขา ณพระบุว่า เขาชนะคดีเสียส่วนใหญ่

ขณะที่ นพพร ศุภพิพัฒน์ เคยโต้กลับคำแถลงของ ณพ ณรงค์เดช ผ่าน Zoom จากประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว ว่า ณพ ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบตามสัญญา จากมูลค่าหุ้น 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ณพได้ชำระเงินมาเพียง 2 งวด รวมเป็นเงิน 175.51 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ยังคงมียอดค้างชำระรวมดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่ศาลสั่งให้ณพชำระเนื่องจากแพ้คดีความ รวมแล้วกว่า 680 ล้านเหรียญสหรัฐ

การที่อนุญาโตตุลาการ มีคำสั่งว่าไม่สามารถยกเลิกการซื้อหุ้นได้นั้น และ ณพจะต้องชำระค่าหุ้นตามสัญญา หมายความว่า ณพเป็นผู้แพ้คดี เพราะจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องให้คู่กรณีด้วย

นพพร เชื่อว่า แม้ตนเองจะชนะคดีแต่เชื่อว่าณพไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนได้ตามสัญญา จึงมีการฟ้องร้องที่ศาลอังกฤษในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง Conspiracy โดยฮ่องกงใช้กฎหมายเดียวกับประเทศอังกฤษ และมีผลบังคับอย่างเคร่งครัด โดยระหว่างนี้ศาลมีการรับฟ้อง และสั่งห้ามบริษัทโกลเด้น มิวสิคโอนหุ้น WEH

นพพร มั่นใจว่า จะชนะคดีที่ประเทศอังกฤษอย่างแน่นอน ด้วยหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ตนเองมี และยืนยันว่า จะไม่เจรจาความกับณพแน่นอน ขอเพียงให้ณพชำระเงินมาตามสัญญา ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแค่นั้นพอ

รวมความทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่า วันนี้ของวินด์เอนเนอร์ยี่ แม้ธุรกิจจะยังดำเนินไปด้วยดี เพราะอยู่ในธุรกิจพลังงานที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานของประเทศ แต่คดีพิพาททั้งหมดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ตลอดจนครอบครัว ณรงค์เดช ที่จำเป็นที่ต้องใช้เวลาตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เพื่อจะพิสูจน์สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ และสะสางชำระบัญชีกันระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายก็ยังฉุดรั้งเป็นพันธนาการที่รอเวลา “ปลดล็อก”

อนาคตหุ้นวินด์ฯ พร้อมติดปีก

วันนี้หากถามถึงอนาคตของวินด์เอนเนอร์ยี่ ก็ต้องบอกว่า หากพิจารณาคุณสมบัติและเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ WEH แล้ว นักวิเคราะห์เชื่อว่า วินด์เอนเนอร์ยี่จะเป็นหุ้นที่นักลงทุนในตลาดหุ้นอยากจะลงทุนด้วยแน่นอน วัดได้จากความต้องการก่อนหน้านี้ที่มีนักลงทุนรายย่อยจำนวนกว่า 200 รายได้ลงทุนไปแล้ว

มีรายงานว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้นำข้อมูลไปปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการกับคณะทำงานของสำนักงาน ก.ล.ต. มาเป็นระยะๆ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่จะได้รับอนุญาตให้ทำ IPO และระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าต่อตามแผน โดยเชื่อมั่นว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย

ทว่า คดีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับ ณพ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพิจารณาของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเจ้าตัวเองก็ยอมรับเองว่า ภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขณะที่ความหวังของผู้ถือหุ้นวินด์ฯ คือ การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเคลื่อนไหวของ ประเดช กิตติอิสรานนท์ ผู้ก่อตั้งวินด์ฯ ร่วมกับนพพร ซึ่งปัจจุบันถือเป็นขาใหญ่ในแวดวงตลาดหุ้นที่ผ่านมาเคยเรียกร้องให้จัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการและกรรมการบริหาร ต้องการให้ ณพ ลาออกจากตำแหน่งภายในวินด์ฯ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร และลดกระแสกดดันจากข้อพิพาทต่างๆ ของณพ เพื่อผลักดันให้ WEH เข้าจดทะเบียนให้ได้

ต้นปีที่ผ่านมา ประเดช ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA พร้อมๆ กับการถือหุ้นในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำอย่างไรให้ “ผ่าทางตัน” มหากาพย์คดีวินด์ฯ ออกไปได้ เขาได้ทำในเรื่องที่เป็นประเด็นกล่าวขานกันในตลาดหุ้น โดย NUSA มีมติเพิ่มทุน แล้วนำหุ้นแลกหุ้น WEH

โดย NUSA แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติเพิ่มทุน นำหุ้นจำนวน 3,939 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้น WEH จำนวน 8.75 ล้านหุ้น โดยกำหนดราคาหุ้น WEH หุ้นละ 405 บาท และหุ้น NUSA ราคาหุ้นละ 90 สตางค์ สัดส่วนการจัดสรร กำหนด 1 หุ้น WEH ต่อ 450 หุ้น NUSA โดยหลังการจัดสรรหุ้นครั้งนี้ จะทำให้ NUSA ถือหุ้น WEH ในสัดส่วน 8.04% ของทุนจดทะเบียน ส่วนผู้ถือหุ้นที่ตกลงขายหุ้น WEH จะถือหุ้น NUSA รวมกันสัดส่วน 32.88% ของทุนจดทะเบียน

นัยที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของประเดช ที่ต้องการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทางหนึ่ง สร้างสะพาน “ปลดล็อก” หรือหาทางออกให้ผู้ถือหุ้นวินด์ฯ รายย่อย ที่ไม่รู้อนาคตว่า WEH จะเข้าอยู่ในตลาดหุ้นเมื่อใด ประการที่สอง เพื่อที่ประเดชจะถือโอกาสรวบรวมหุ้นที่มากขึ้นเหนือกว่ากลุ่มของ ณพ เพื่อจะควบคุมบริหารจัดการ วินด์เอนเนอร์ยี่เบ็ดเสร็จนั่นเอง

บทสรุปของ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) บริษัทพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนจากแรกก่อตั้งแล้วเปิดดำเนินธุรกิจมากระทั่งเผชิญทิศทางลมเปลี่ยนทิศผู้ถือใหญ่อย่างนพพรจำต้องขายหุ้น และครอบครัวณรงค์เดช เข้ามาขอซื้อจนเกิดกรณีพิพาทขึ้นยืดเยื้อเป็น “มหากาพย์” มากว่า 5 ปีนั้น แต่ไม่ว่าจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน คดีข้อพิพาทต่างๆ ในที่สุดย่อมคลี่คลายไปตามกระบวนการยุติธรรมของศาล จากหลักฐานและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่จะชี้ขาดว่า ใครมี “ความชอบโดยธรรม” ที่จะเป็นเจ้าของวินด์เอนเนอร์ยี่อย่างแท้จริง

หลังจากนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า อนาคตของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 1,088 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์มากกว่า 50,000 ล้านบาท กำไรปีละกว่า 5,000 ล้านบาท นี้จะเป็นอย่างไร

ว่ากันว่า 2 ปีที่ผ่านมา บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ได้มีการอนุมัติการจ่ายเงินปันผลไปแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง รวมกว่า 41.9 บาทต่อหุ้น

ล่าสุดบริษัทฯ ได้ขออนุมัติจ่ายปันผลกว่า 2,700 ล้านบาท โดยกลุ่มของณพ และ คุณหญิงกอแก้ว พยายามผลักดัน ทว่าครอบครัวณรงค์เดช ในฐานะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตาม “ข้อตกลง” ที่เกษมได้ให้ณพเป็นตัวแทนตกลงซื้อขายหุ้นจากกลุ่มนพพร ยื่นต่อศาลคัดค้าน ซึ่งมีรายงานว่า ศาลได้สั่งคุ้มครองฉุกเฉินระงับการจ่ายปันผลไว้ก่อนเรียบร้อย

จนถึงวันนี้ เรื่องราวทั้งหมดยังคงไม่ถึงบทสรุป Wind Energy Holding ยังดำเนินกิจการต่อไป โดยในปี 2564 ผู้ถือหุ้นมีมติปลดนายณพกับพวกออกจากบริษัท และฟ้องร้องค่าเสียหายจำนวนมากกว่า 5,000 ล้าน ด้วยเหตุมีคดีพัวพันทุจริตมากมาย และขัดขวางการดำเนินการทางธุรกิจ สร้างความเสียหายกระทบชื่อเสียงของบริษัท ขณะที่ณพยังมีคดีความฟ้องร้องไม่ต่ำกว่า 30 คดี ซึ่งสาระของแต่ละคดีนั้น เป็นเรื่องของการทุจริตคดโกง ไม่ชำระหนี้กับคู่ค้าทั้งสิ้น

งานนี้ ก็จะเห็นว่า ตราบเท่ายังมีความขัดแย้ง และคดีความคาราคาซัง วินด์เอนเนอร์ยี่จะถูกกระทบเป็นระยะๆ โอกาสติดปีกโบยบินเข้าตลาดหุ้นก็ยังอีกยาวห่างไกล อนาคตชี้ชะตากันที่คดีพิพาทว่า “ใครวิน” หากสะสางกันเสร็จสิ้นหุ้นวินด์ฯ ก็พร้อมเข้าสู่ตลาดหุ้นเมื่อนั้น ทว่าลึกๆ หลายฝ่ายเชื่อว่า เรื่องนี้มีทางออกและจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งได้ โดยผู้รู้ทางกฎหมายที่เชี่ยวชาญคดีหุ้นอธิบายว่า “เรื่องนี้เริ่มขึ้นอย่างไรก็ควรจะจบลงเช่นนั้น!”

นั่นคือ หุ้นวินด์ฯ ในวันที่ถูกขายออกจากนพพรก็ควรเป็นกลับไปจุดเริ่มที่ “เกษม” และครอบครัวณรงค์เดช ที่เป็นผู้ซื้อ …หรือ อีกนัยหนึ่ง ว่าด้วย ทรัพย์สินของตระกูลณรงค์เดช ก็ต้องเป็นเรื่องของครอบครัวจัดสรรกันเองนั่นเอง

Source