BEARHOUSE ชาไข่มุก 100 ล้าน ผุดไซรัป “ชูการ์ฟรี” รายแรก เตรียมเข้าตลาดใน 5 ปี

แม้ตลาดชานมไข่มุกในไทยจะแข่งขันกันดุเดือด แต่ก็ไม่วายจะมีแบรนด์ใหม่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีโอกาส และช่องว่างในตลาดเสมอ BEARHOUSE แบรนด์ชานมไข่มุกจาก 2 ยูทูบเบอร์ชื่อดังที่ผันตัวมาทำธุรกิจส่วนตัวที่สร้างแบรนด์ได้ 3 ปี กางแผนพาบริษัทเข้าตลาดฯ ภายใน 5 ปีข้างหน้าให้ได้ ผุดไซรัปสูตร “ชูการ์ฟรี” ตอบรับเทรนด์ดูแลสุขภาพ

อุดเพนพอยท์ ดื่มชาไข่มุกแล้วรู้สึกผิด

ใครที่เป็นสาย YouTube ต้องคุ้นเคยกับช่อง Bearhug กันมาบ้าง ปัจจุบันมีผู้ติดตาม 3.77 ล้านราย ก่อตั้งโดย ซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช และกานต์-อรรถกร รัตนารมย์ แต่ด้วยความที่ทั้งคู่เป็นสายท่องเที่ยว สายกิน ชื่อชอบชานมไข่มุกเป็นชีวิตจิตใจ จึงเริ่มต้นสนใจทำธุรกิจชานมไข่มุกเป็นของตัวเอง

แรกเริ่มได้ติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์จากประเทศไต้หวัน แต่สุดท้ายดีลไม่ประสบความสำเร็จ จึงตัดสินใจสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง ในปี 2562 ได้เปิดตัวแบรนด์ BEARHOUSE สาขาแรกที่สยามสแควร์ ใช้ชื่อบริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด ในการบริหาร มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

ในช่วงที่เปิดตัวต้องยอมรับว่า BEARHOUSE ค่อนข้างได้รับความสนใจเยอะ ที่ร้านมีคนต่อคิวอย่างเนืองแน่น อย่างแรกคือได้ฐานแฟนคลับ คนที่รู้จักชารต์กับกานต์จาก Bearhug เป็นทุนเดิม แต่อีกประการหนึ่งก็คือ ในตอนนั้นคนไทยคลั่งชานมไข่มุกอย่างมาก แบรนด์ไหนเปิดตัวใหม่ก็พ้รอมที่จะพุ่งตัวไปลอง

ซึ่ง BEARHOUSE ได้ใช้จุดเด่นด้วยการใช้ “ไข่มุกโมจิ” สีขาว ที่จะแตกต่างจากท้องตลาดที่เป็นไข่มุกสีดำ หรือสีทอง เป็นอะไรที่แปลกใหม่ ทำให้หลายคนอยากลองมากขึ้น

กานต์เริ่มเล่าว่า “ย้อนกลับไป 3 ปีก่อนที่เริ่มสร้างแบรนด์ ใช้เวลาพัฒนาแบรนด์ไม่นานมาก จะใช้เวลาเยอะไปกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการไปไต้หวัน ดูตลาดต่างๆ มากกว่า ที่เลือกใช้ไข่มุกโมจิ เพราะส่วนตัวพบ Pain Point ของไข่มุกปกติ ทานเรื่อยๆ แล้วฟันผุเพราะน้ำตาลเยอะ จึงอยากทำไข่มุกที่ไม่ใส่สารกันบูด ไม่ใส่น้ำตาลเยอะ เอาข้าวไทยมาผสม ทำให้ได้เนื้อสัมผัสที่แตกต่างจากไข่มุกอื่นๆ”

แต่ต้องยอมรับว่าชานมไข่มุกย่อมมาคู่กับ “ความอ้วน” เพราะส่วนผสมมีทั้งน้ำตาล แป้ง ครีมเทียม ทำให้หลายคนกังวลในเรื่องสุขภาพ และรูปร่าง โดยเฉพาะสาวๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก พอทานแล้วจะรู้สึกผิดขึ้นมาทันที จะเห็นได้ว่าหลายแบรนด์พยายามทำสูตร หรือเมนูใหม่เพื่อลดน้ำตาลกันมากขึ้น

BEARHOUSE จึงพัฒนา “ไซรัป ชูการ์ฟรี” หรือน้ำเชื่อมแบบไม่มีน้ำตาล ใช้สารให้ความหวานอื่นๆ แทน ทำให้มีแคลอรี 0% อธิบายง่ายๆ คือตัวน้ำเชื่อมจะให้แคลอรี 0% แต่ถ้าใส่ในเครื่องดื่มก็ยังมีแคลอรีจากส่วนผสมอื่นๆ อยู่นะ ถือว่าเป็นการเปิดตลาดชูการ์ฟรีเต็มตัว

ทั้งกานต์ และชารต์ ร่วมกันเล่าว่า พอคนที่ทานชานมไข่มุกจะมีความรู้สึกผิดเสมอ เลยอยากได้สูตรอะไรที่รู้สึกผิดน้อยลง แต่ยังต้องการความอร่อย ไม่ได้ถึงขนาดอยากกินอาหารคลีน เลยพัฒนาสูตรไซรัปชูการ์ฟรี ทำให้รู้สึกผิดน้อยลง ทำให้ต้องรื้อสูตรทั้งร้านใหม่ทั้งหมด เพื่อรองรับไซรัปตัวนี้

bearhouse

ใช้เวลาพัฒนา 6 เดือน ความยากคือ ส่วนใหญ่สารชูการ์ฟรีจะมีรสชาติเฝื่อนๆ ติดลิ้น จึงใช้เวลานานในการทดลอง ทีม R&D ได้สั่งสารให้ความหวานทดแทนมาลองทั้งหมด มาลองปรุงกับเมนูต่างๆ สุดท้ายมาจบที่ “หล่อฮังก๊วย” พบว่ารสชาติดี เข้ากับได้กับทุกเมนู อีกทั้งยังไม่กระตุ้นเบาหวาน แต่ต้นทุนก็สูงกว่าสารอื่นๆ

นอกจากนี้ยังได้เปิดตัว “เมนูปั่น” 2 เมนูใหม่ “ชานมปั่น Sugar Free syrup” และ “ชาดำยูซุปั่น Sugar Free syrup” โดยใช้ไซรัปใหม่เป็นหลัก ได้ลงทุนเครื่องปั่น เปลี่ยนน้ำแข็ง รื้อสูตรใหม่ให้เข้ากับไซรัปตัวนี้ หวังตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

ไซรัป ชูการ์ฟรีจะเป็นทางเลือกแก่ลูกค้า หากสั่งเมนูใดๆ แล้วต้องการไซรัปตัวนี้จะเพิ่มเงิน 10 บาท มีการตั้งเป้าว่าลูกค้าในสัดส่วน 20-30% จะเลือกไซรัป ชูการ์ฟรี

ชาไข่มุก 100 ล้าน รายได้แซง YouTuber

BEARHOUSE ได้ขึ้นแท่นเป็นแบรนด์ชานมไข่มุก 100 ล้านบาท ทำให้กานต์ และซารต์ก็พ่วงตำแหน่ง “อายุน้อยร้อยล้าน” เต็มตัวด้วยเช่นกัน เพราะทั้งคู่อายุ 30 และ 29 ปี

โดยในปี 2562 มียอดขาย 17 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 82 ล้านบาท ในปี 2563 ส่วนปี 2564 มีรายได้ 117 ล้านบาท มีกำไรเฉลี่ยปีละ 15% โดยในปี 2565 คาดการณ์มีรายได้ 180 ล้านบาท 

bearhouse

ทำให้ในตอนนี้รายได้จากการขายชาไข่มุกแซงหน้ารายได้จากการเป็น YouTuber ได้แล้ว ปัจจุบันช่อง Bearhug มีรายได้เฉลี่ย 13-14 ล้านบาท เคยมีรายได้สูงสุดอยู่ที่ 30 ล้านบาท แม้รายได้จะต่างกันมหาศาล แต่ทั้งคู่ก็ยังยืนยันว่าจะทำคอนเทนต์ใน YouTube ต่อ

ซารต์ บอกว่า “ทุกวันนี้อยู่ในช่วงปรับตัว วางแผนทุกอย่างใหม่ มีช่วงหนึ่งที่ไม่ได้ลงคลิปเลย ไม่ได้โฟกัสเต็มที่ ตอนนี้ต้องมาจัดเวลาใหม่ เพราะสื่อก็ยังมีความสำคัญ ตอนนี้ให้เวลาธุรกิจ 80% ช่อง Bearhug 20% ต้องกลับมาให้ความสำคัญของ YouTube มากขึ้น เรามองว่ามันเป็นความสุข เป็นวิตามินให้รู้สึกดีต่อร่างกาย แต่ก็ต้องพัฒนาการเป็นผู้บริหาร ทำธุรกิจให้มั่นคงคู่กันไป”

ถ้าถามว่าในอนาคตจะมีธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ชารต์บอกว่า ตอนนี้มีความลงตัวแล้วธุรกิจชานมไข่มุก เยลลี่ และช่อง YouTube อยากทำให้กระบวนการหลังบ้านแน่นก่อน ยังไม่คิดถึงธุรกิจใหม่

ปัจจุบันสาขาสยามสแควร์เป็นสาขาที่ขายดีที่สุด เมนูยอดนิยมก็คือ ชานมไข่มุก ลูกค้าส่วนใหญ่ทานความหวานระดับ 50% มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 150-170 บาท/บิล

อยากเข้าตลาดใน 5 ปี ระดมทุนไปต่างประเทศ

ปัจจุบัน BEARHOUSE มีสาขาทั้งหมด12 สาขา เพิ่งเปิดสาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วานเป็นสาขาล่าสุด ในปีนี้เตรียมขยายเพิ่มเป็น 20 สาขา จะกระจายออกนอกตัวเมืองมากขึ้น เช่น โซนราชพฤกษ์ และสายไหม ส่วนในช่วงไตรมาส 4 จะเริ่มบุกต่างจังหวัดแห่งแรก คาดว่าใช้งบลงทุนทั้งหมด 40 ล้านบาท เฉลี่ยลงทุนสาขาละ 2.5-4.5 ล้านบาท ใช้ขนาดพื้นที่สาขาละไม่ต่ำกว่า 50 ตารางเมตร

bearhouse

ส่วนแผนระยะยาวในอีก 4-5 ปี ทั้งคู่อยากพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนและบุกตลาดต่างประเทศ ในตอนนี้จึงเป็นช่วงวางระบบต่างๆ ให้พร้อม มีเมนูหลากหลาย เปิดเซ็กเมนต์ใหม่ๆ

“คาดว่าจะเข้าตลาดฯ ในอีก 4-5 ปี แต่ตอนนั้นระบบหลังบ้านต้องแน่น อยากได้เงินลงทุนเพื่อไปเปิดตลาดต่างประเทศ มองไว้ทั้งที่เอเชีย และยุโรป ตอนนี้อยู่ในช่วงวางไทม์ไลน์ต่างๆ ต้องมีออดิท ค่อยๆ ทำระบบ เริ่มโฟกัสที่ระบบบัญชีก่อน มองว่าถ้าจะเข้าตลาดฯ รายได้ตอนนั้นต้องเกิน 500 ล้านบาท”

bearhouse

สำหรับความยากในการทำธุรกิจของทั้งคู่ในตอนนี้ มีทั้งเรื่องระบบภายใน และการพัฒนาสินค้าต่างๆ มีบทเรียนต่างๆ จากการทำ “ชานมกระป๋อง” ทำให้ขาดประสบการณ์ด้านการวางแผนสต็อก แต่ก็เป็นข้อผิดพลาดที่เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ประกอบกับการหาบุคลากรที่เก่ง และเข้ากับองค์กรได้ ให้อยู่ด้วยกันไปนานๆ ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน

ส่วนความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าไม่เบื่อ และเลือกแบรนด์ต่อไปในทุกๆ วัน ต้องมีเมนูใหม่ๆ โดยที่ทำให้น้องๆ หน้าร้านทำงานไม่โอเวอร์โหลดด้วย ต้องดีไซน์ให้ชงอร่อย แต่ต้องไม่ใช้พลังงานเยอะเกินไป ถือว่าท้าทายในการทำโอเปอเรชั่น

bearhouse

ส่วนประเด็นที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ แบรนด์ชานมไข่มุกหลายเจ้าได้ถูก “ปลาใหญ่” เทกโอเวอร์ไปมากมาย ทั้ง KAMU KAMU และ Brown ต่างอยู่ภายใต้ชายคาของเครือยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น เพราะเป็นธุรกิจดาวรุ่ง แต่ละเจ้าต้องเสริมพอร์ตตัวเองให้สมบูรณ์

ทั้งคู่ได้ให้ความเห็นว่า ถ้าแบรนด์ใหญ่ติดต่อมา และสามารถทำให้แบรนด์เราเติบโตขึ้นจริงก็ยอมรับได้ เพราะอยากให้แบรนด์เติบโตไปต่างประเทศ แต่ถ้าเป็นการเข้ามาเทกโอเวอร์ แล้วทั้งคู่ต้อง Exit คงไม่เกิดขึ้น เพราะอยากบริหารอยู่

อ่านเพิ่มเติม