กางแผน GAGA หลังอยู่ใต้ชายคา “ไมเนอร์” ขอเป็นชาไข่มุกที่เฟียสที่สุดในตลาด

ชานมไข่มุกยังคงเป็นธุรกิจสุดหอมหวานไม่แพ้หมาล่า ที่แบรนด์ใหญ่ต่างขอร่วมขบวน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นข่าวการซื้อกิจการของเชนใหญ่ๆ เพื่อขยายพอร์ตกันทั้งสิ้น

“ไมเนอร์ ฟู้ด” เอง ซึ่งเป็นหนึ่งในเชนร้านอาหารรายใหญ่ในไทย ก็ไม่พลาดที่จะตกขบวน ได้เข้าซื้อกิจการชาไข่มุก GAGA (กาก้า) เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 50.1% ในบริษัท กาก้า เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย)

จนถึงวันนี้ GAGA มีอายุแบรนด์ครบรอบ 5 ปีพอดิบพอดี และได้เข้ามาอยู่ใต้ชายคาไมเนอร์ครบ 1 ปีเช่นกัน ทางไมเนอร์ได้ดึง “อนุพนธ์ นิธิยานันท์” นั่งแท่น ผู้จัดการทั่วไป บริษัท กาก้า เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด ควบกับการเป็นผู้จัดการทั่วไปแบรนด์สเวนเซ่นส์ด้วย

GAGA

ไมเนอร์ต้องการอะไรจากการลงทุนใน GAGA?

แน่นอนว่าต้องการขยายพอร์ตร้านอาหารในกลุ่ม “เครื่องดื่ม” เพราะไมเนอร์เองยังไม่มีในกลุ่มนี้ มีเพียงแค่กลุ่มขนมหวานที่มีอยู่ 2 แบรนด์ ก็คือ สเวนเซ่นส์ และแดรี่ควีนส์ ในตลาดชาไข่มุกก็เป็นตลาดที่ร้อนแรง ประเทศไทยติดอันดับท็อปๆ ของโลกที่มีการดื่มชาไข่มุก

แต่การจะปั้นแบรนด์เองต้องใช้เวลานาน ทางลัดที่ประสบความสำเร็จทที่สุดก็คือ การเข้าซื้อกิจการนั่นเอง

อนุพนธ์ เริ่มเล่าว่า “การจะเข้าตลาดนี้มีอยู่ 2 อย่าง Built หรือ Buy ถ้า Built หรือสร้างแบรนด์เองต้องใช้เวลานาน แล้วตอนนี้ตลาดชาไข่มุกก็มีทุกเซ็กเมนต์ ราคาตั้งแต่ 20-150 บาท แต่ตอนนี้จากตลาดแมสได้อัพสเกลเป็นพรีเมียมแล้ว เลยตัดสินใจซื้อกิจการดีกว่า มีแบรนด์ที่เขาสร้างมาอยู่แล้ว ต่อยอดไปต่างประเทศได้ เราได้เห็นโอกาสของแบรนด์ GAGA เอามาเสริมพอร์ตขนมหวานได้ จากตอนแรกมีกลุ่มไอศกรีมแค่ 2 แบรนด์ ซึ่งนักลงทุนก็ถามมาตลอดว่าทำไมไมเนอร์ไม่มีกลุ่มเครื่องดื่มสักที แบรนด์นี้เลยมาเป็นตัวต่อยอดธุรกิจได้” 

GAGA

ขออัพสเกล ขยายต่างจังหวัด

แบรนด์ GAGA ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2561 วางจุดยืนเป็นแบรนด์เครื่องดื่มระดับพรีเมียม และขอเป็นแบรนด์เฟียสๆ ที่เวลาลูกค้าถือแก้วจะรู้สึกเท่ๆ คูลๆ พร้อมกับแท็กไลน์ของแบรนด์ที่ว่า Attitude In A Cup เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาด และมีเฉดสีส้ม ดำ ขาว อีกทั้งพนักงานก็มีชุดยูนิฟอร์มแบบเท่ๆ ด้วย มีเมนูเด่นก็คือชานมไข่มุกโอเวอร์โหลด รวมท็อปปิ้งทั้งไข่มุกดำ ไข่มุกฮันนี่ดรอป เฉาก๋วย และพุดดิ้ง ไว้ด้วยกัน

ปัจจุบัน GAGA มีสาขารวม 37 แห่ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาไมเนอร์ขยายสาขาทั้งหมด 15 แห่ง ซึ่งอีก 2 เดือนสุดท้ายของปีเตรียมเปิดอีก 4 แห่ง ทำให้ในสิ้นปีนี้จะมีสาขารวมทั้งหมด 41 แห่ง ได้เปิดสาขาต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกที่เซ็นทรัลพัทยา และแพชชั่นระยอง

ในปีหน้า GAGA เตรียมขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัวราวๆ 20 สาขา แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 10 สาขา และต่างจังหวัด 10 สาขา กระจายตามศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งโอกาสสำคัญอยู่ที่การขยายไปต่างจังหวัด พบว่าคนต่างจังหวัดพร้อมที่จะให้การตอบรับกับชาไข่มุกพรีเมียมแล้ว แต่อาจจะทดลองไปจังหวัดใกล้ๆ หรือหัวเมืองใหญ่ก่อน

GAGA

นอกจากในเรื่องการขยายสาขาแล้ว ไมเนอร์ยังใช้ประสบการณ์ของเชนร้านอาหารรายใหญ่ เข้ามาช่วยในเรื่องการปรับโครงสร้าง และปรับเรื่องระบบโลจิสติกส์ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อขยายไปต่างจังหวัดไปสมบูรณ์ ก็เตรียมพร้อมที่จะขยายไปต่างประเทศ

GAGA ไม่ได้จำกัดเป็นแค่แบรนด์ชาไข่มุก แต่เป็นแบรนด์เครื่องดื่ม ปัจจุบันมีเมนูรวมทั้งหมด 54 เมนู ราคาเริ่มต้น 65-145 บาท

ในช่วงเดือนพ.ย. แบรนด์จะจัดแคมเปญครบรอบ 5 ปี เตรียมออกแพ็กไซส์ใหม่ แก้ว XL หรือแก้วยีราฟ 28 ออนซ์ ราคา 135 บาท เป็นเมนูชานมไข่มุกโอเวอร์โหลด เหตุผลที่ทำเมนูนี้เพราะตอนช่วงวัน April Fool Day ได้ทำคอนเทนต์แก้วยีราฟออกมา แล้วลูกค้าอยากให้ทำจริงๆ จึงเอามาทำช่วงเดือนครบรอบพอดี

ต้องเฟียสที่สุด ต้องโต 2 หลัก

ตลาดชาไข่มุกเป็นตลาดเดียวที่เติบโตในช่วงวิกฤต COVID-19 เพราะยังสามารถสั่งเดลิเวอรี่ได้ หลายคนทานแล้วมีความสุข แต่ตลาดเรดโอเชียนนี้ก็การแข่งขันสูงมาก ทำให้แบรนด์ที่อยู่รอดได้ในตอนนี้เป็นเซ็กเมนต์พรีเมียมไปเลย หรือไม่ก็แบรนด์แมสที่เน้นเรื่องราคาถูกไปเลย

ไมเนอร์จึงวางเป้าหมายให้ GAGA เป็นแบรนด์เครื่องดื่มที่มีคาแรกเตอร์ที่สุด ต้องเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในแง่ของการขยายสาขาทั่วประเทศ และมีมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งให้ได้ โดยมีโจทย์ที่ว่าต้องเติบโตให้ได้ในอัตรา 2 หลักทุกๆ ปี

GAGA

ในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะเติบโต 25% หรือมีรายได้ 200 ล้านบาท

สัดส่วนรายได้ของ GAGA แบ่งเป็น ชานม 60% ชาไทย 10% ชาเขียว 10% ชาผลไม้ และอื่นๆ 10%

ลูกค้าของ GAGA ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 80% เป็นคนทำงาน นักศึกษา ยอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 200 บาท/บิล

อนุพนธ์ยังเปิดใจอีกว่า GAGA มีกลุ่มลูกค้าที่เด็กสุดของเครือไมเนอร์ เป็นวัยรุ่น นักศึกษา จะต่างจากกลุ่มลูกค้าของสเวนเซ่นส์ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัว พอได้มาทำแบรนด์วัยรุ่นก็สนุกดี ซึ่งสเวนเซ่นส์เองก็เคยทำแบรนด์เครื่องดื่ม SIP มาแล้ว ออกเป็นป๊อปอัพสโตร์

สำหรับร้าน GAGA ยังมีการขยายร้านในโมเดลเดียวอยู่ตามศูนย์การค้า พื้นที่เฉลี่ย 25 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 2 ล้านบาท จะต้องมียอดขายเฉลี่ย 4-5 แสนบาท/สาขา ยังไม่มีแผนในการทำโมเดลใหม่ๆ และยังเป็นการลงทุนของบริษัทเอง ยังไม่เปิดขายแฟรนไชส์

สาขาที่ขายดีที่สุด ก็คือ เซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัล ลาดพร้าว

อ่านเพิ่มเติม