เชื่อว่าในช่วงปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะต้องเห็นแบรนด์ที่ขายไอศกรีมและเครื่องดื่มแสนสะดุดตาอย่าง Mixue (มี่เสวี่ย) เพราะด้วยโลโก้ลายตุ๊กตาหิมะสีขาวกับพื้นหลังสีแดงสดแสนสะดุดตา และชื่อแบรนด์ที่แอบอ่านยาก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ Mixue จะเป็นแบรนด์ที่คนไทยค้นหาเป็นอันดับต้น ๆ บน Google ซึ่ง Positioning จะพาไปรู้จักกับ Mixue ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
หากวัดจากแบรนด์ที่มีการค้นหาผ่าน Google ในไทย Mixue เป็นรองแค่สุกี้ตี๋น้อยและชาตรามือเท่านั้น โดยหนึ่งในสาเหตุคนไทยให้ความสนใจแบรนด์ Mixue คงหนีไม่พ้น สาขา ที่ขยายอย่างรวดเร็ว และ ราคา ที่เข้าถึงได้ โดยเพียงระยะเวลาแค่ 1 ปี ก็สามารถขยายสาขามากกว่า 200 สาขา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คำถามคือ Mixue เป็นใคร ทำไมถึงขยายสาขาได้เร็วขนาดนี้?
จุดเริ่มต้นของ Mixue นั้นต้องย้อนไปเมื่อ 26 ปีก่อน ในปี 1997 นักศึกษาชายปี 4 นามว่า จาง หงเซา (Zhang Hongcho) เป็นผู้ให้กำเนิด ในตอนแรก จางไม่ได้มีไอเดียเปิดร้านไอศกรีม แต่เริ่มต้นจาก ร้านขายน้ำแข็งไส เนื่องจากจากเคยมีประสบการณ์เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ในร้านน้ำแข็งไสมาก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่เวิร์ก
จากนั้นจางก็ปรับจากน้ำแข็งไสแบบเดิมมาเป็น บิงซู พร้อมเปิดร้านร้านใหม่ชื่อ Mixue Bingcheng (แปลว่า ปราสาทหิมะรสน้ำผึ้ง) แต่จุดเปลี่ยนสำคัญมาจากกระแส ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ จากญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในจีน ทำให้ Mixue ลองบ้าง แต่จุดสำคัญที่ทำให้แบรนด์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าก็คือ ราคา โดย Mixue ขายเพียง 2 หยวน หรือประมาณ 10 บาท เท่านั้น จากที่ตลาดขายกันอยู่ประมาณ 10 หยวน หรือประมาณ 50 บาท จากนั้น Mixue ก็เพิ่มสินค้าอื่น ๆ เข้ามา อาทิ ชานมไข่มุก, น้ำผลไม้ และสมูทตี้
โดยสาเหตุที่ทำให้ Mixue สามารถทำราคาได้ดีกว่าคู่แข่งก็คือ การพัฒนาระบบการบริหาร Supply Chain เป็นของตัวเอง ทำให้ Mixue มีต้นทุนที่ถูกกว่าคู่แข่งถึง 20% แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ราคาที่ทำให้ Mixue มาได้ไกลขนาดนี้ แต่การตลาดของแบรนด์ก็เป็นจุดสำคัญ ด้วยโลโก้ ตุ๊กตาหิมะสีขาว ตัดกับพื้นหลังสีแดง และยังมีเพลงโฆษณาฮิตติดหู
จนมาปี 2007 จางก็ตัดสินใจขายแฟรนไชส์ Mixue Ice Cream & Tea ทำให้สามารถขยายสาขาในจีนได้อย่างรวดเร็ว และในปี 2008 ก็ได้ขยับออกจากจีนโดยเปิดสาขาแรกที่ เวียดนาม จนปัจจุบัน Mixue ได้ขยายไปใน 11 ประเทศ มีสาขามากกว่า 30,000 สาขา มากสุดเป็น อันดับ 5 ของโลก เป็นรองเพียงแมคโดนัลด์, ซับเวย์, สตาร์บัคส์ และ เคเอฟซี
ทั้งนี้ รายได้ของ Mixue ปี 2021 อยู่ที่ 1.36 หมื่นล้านหยวน (ราว 6.6 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 31.15% เมื่อเทียบเป็นรายปี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.3% และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 1.54 หมื่นล้านหยวน (7.4 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีกำไรสุทธิ 51%
และเพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศ ขยายกำลังการผลิต และปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ Mixue มีแผนจะทำ IPO ในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยตั้งเป้าจะระดมทุนให้ได้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.4 หมื่นล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้ Mixue เคยระดมทุนได้รวม 8.5 พันล้านหยวน หรือราว 4.25 หมื่นล้านบาท และหากการ IPO ครั้งนี้สำเร็จ มีการประเมินว่า Mixue จะมีมูลค่าบริษัทกว่า 3.3 แสนล้านบาท
สำหรับประเทศไทย Mixue ตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดแฟรนไชส์ให้ได้ 2,000 สาขา ภายใน 3 ปี สำหรับใครที่สนใจจะซื้อแฟรนไชส์ Mixue ก็อาจจะต้องมีทุนหนาสักหน่อย เพราะต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 30 ตร.ม. และต้องจ่าย
-
ค่าแฟรนไชส์ 50,000 บาทต่อปี
-
ค่าการจัดการ 25,000 บาทต่อปี
-
ค่าฝึกอบรม 10,000 บาทต่อปี
-
ประกัน 100,000 บาท
-
อุปกรณ์ 450,000 บาท
-
วัตถุดิบ 250,000 บาท
-
ค่าตรวจสอบรายปี ในกรุงเทพฯ 2,500 บาท และ ต่างจังหวัด 5,000 บาท
คงต้องรอดูกันว่าปราสาทน้ำแข็งรสน้ำผึ้งของ King Snowman จะไปได้ไกลแค่ไหน เพราะด้วยความที่ตลาดส่วนใหญ่มีสินค้าคล้าย ๆ กัน ทำให้การแข่งขันค่อนข้างรุนแรง และหากจะใช้แค่กลยุทธ์ด้านราคาจะยั่งยืนเพียงพอหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป