จับอาชีพ YouTuber มา 3 ปี จนมีผู้ติดตามกว่า 2.8 ล้าน Subscription สำหรับช่อง “Bearhug” ซึ่งทำคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวและอาหาร หลังจากตะเวนกินมาแล้วทั้งในและต่างประเทศ หนึ่งในเมนูที่ “ซารต์–ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช” ชื่นชอบมากที่สุดคือ “ชานมไข่มุก” ที่ประเทศไต้หวัน
หลังจากได้กินแล้วเลยมีความคิดว่า “ทำไมต้องทำชาไข่มุกไต้หวันในไทย ให้คนไทยมาต่อคิว ทำไมไม่ทำของไทยให้คนต่างชาติมาต่อคิวบ้าง” จึงปรึกษากับ “กานต์–อรรถกร รัตนารมย์” และด้วยนิสัยที่อยากทำอะไรต้องทำเลย ไม่อยากรออีกแล้วจึงลุกขึ้นมาทำ ณ ตอนนั้นเลย โดยเริ่มต้นเมื่อราว 1 ปีก่อน
ตอนแรกคิดจะนำแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาก่อน ทั้งคู่จึงเดินทางไปทั้งไปตามที่ต่างๆ ทั้งไต้หวันซึ่งเป็นดินแดนต้นตำหรับของชาไข่มุก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ พร้อมกับ “ภีรภัทร แจ้งยอดสุข” ที่ปรึกษาการตลาดซึ่งมีประสบการณ์ทั้งยูนิลีเวอร์ ธนาคารกสิกรไทย และปัจจุบันทำงานอยู่ที่เถ้าแก่น้อย เดินทางไปพร้อมกัน
สิ่งที่พบคือนอกจากจะต้องจ่ายเงินค่าแฟรนไชส์หลัก 10 ล้านบาทหากจะนำเข้ามา การเป็นแฟรนไชส์ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เลย ด้วยตามลักษณะของคนไทย การทำต้นฉบับมา 100% อาจจะไม่ถูกปากจึงต้องปรับกันบ้างอีกทั้งหากต้องการทำเมนูใหม่ๆ ต้องขอบริษัทแม่ก่อนซึ่งบ้างครั้งอาจจะไม่ทันรายอื่นๆ
ในที่สุดจึงลุกขึ้นมาทำเองเมื่อ 6 เดือนก่อนจึงบินไปเรียนการทำไข่มุกที่เชียงใหม่ กับชาวไต้หวันที่มีสูตรการทำไข่มุกของตัวเองอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงนำมาปรับสูตรด้วยตัวเอง ซึ่งกานต์พูดติดตลกว่า “ถึงทำอาหารไม่เก่ง แต่ชิมเก่งมาก” ลองผิดลองถูกมาพักใหญ่จึงออกมาเป็น “ไข่มุกโมจิ”
โดยไข่มุกสูตรเฉพาะที่คิดค้นและทำเองมีแป้งข้าวไทยเป็นส่วนประกอบ มีความหนึบหนับ มีกลิ่นโมจิ มีความไม่กลมและมีขนาดพิเศษ 7mm (เล็กกว่าปกติ) ส่วนสูตรชาก็คิดขึ้นเองทั้งหมด พยายามใช้วัตถุดิบในเมืองไทยเป็นหลัก ยกเว้นบางอย่าง เช่น ชาเขียวที่นำมาจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ถึงตลาดชาไข่มุกค่อนข้างแข่งกันรุนแรง แต่ตลาดมูลค่าราว 2,500 ล้านบาท ยังมีโอกาสเติบโต เพราะเมื่อเทียบกับตลาดร้านกาแฟ 17,000 ล้านบาท เล็กกว่าถึง 7 เท่า ซึ่งชาไข่มุกมีโอกาสพัฒนาไปแมสเหมือนกับกาแฟได้ ที่สำคัญเมนูนี้ไม่จำเป็นต้อง Educate ตลาดแล้ว ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี
ทั้งคู่ใช้ชื่อร้านแรกว่า “Bearhouse” จับตลาดกลาง – บน ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์เดียวกับแบรนด์เช่น KOI Thé ซึ่งแม้ตลาดนี้จะมีคู่แข่งมาก หากแต่ละรายก็มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน อย่างร้านที่ทำก็เด่นเรื่องไข่มุกทำเอง โดยขายราคาเริ่มต้นรวมไข่มุก 75 บาทไปจนถึงหลักร้อยต้นๆ
เบื้องต้นได้มีการตั้งบริษัทชื่อบริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ถือหุ้น 50:50 โดยซารต์อยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และ กานต์เป็นผู้จัดการทั่วไป ใช้งบลงทุนกว่า 8 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าครึ่งถูกไปกับเครื่องจักรสำหรับทำไข่มุก โดยสร้างครัวกลางที่เขตประเวศมีกำลังผลิต 70 – 80 กิโลกรัมต่อวัน
ส่วนที่สองการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีทีม 3 คนและสุดท้ายการทำร้านสาขาแรกที่สยามสแควร์ ริมถนนอังรีตูนังต์ ซึ่งเป็นย่านไข่แดงของชาไข่มุก เหตุที่เลือกปักหมุดที่นี่เพราะเป็นย่านที่มีวัยรุ่น นักศึกษา และวัยเริ่มทำงาน หรือกลุ่มเฟิร์สจ๊อบเบอร์อยู่มาก ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของชาไข่มุก
ตัวร้านได้เริ่ม Soft Opening ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ปัจจุบีนมียอดขาย 700 – 800 แก้วต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาพบมีการต่อคิวอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากกระแสของแฟนคลับที่ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ทั้งคู่ก็ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า
การทำร้านชาไข่มุกไม่ได้ทำมาขายให้แฟนคลับอย่างเดียว ถ้าจะทำอย่างนั้นจริงคงเอารูปตัวเองไปทำเป็นโลโก้ของร้านแล้ว แต่ที่ออกมาทำร้านเพราะอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองจริงๆ เป็นแผนที่วางไว้อยู่แล้ว สำหรับ YouTuber จะทำต่อไป แม้ตอนนี้เวลา 70% จะถูกทุ่มให้กับดูแลร้าน ต่อไปจะปรับให้เท่ากัน
วันนี้ (14 มิถุนายน) เป็นเปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังจากนี้ตั้งเป้ายอดขายวันละ 1,000 แก้วคาดปี 2019 มียอดขายรวม 15 ล้านบาท ภายใน 2 ปีตั้งเป้าขยายสาขาในรูปแบบ Full Scale ทั้งหมด 5 สาขา ทั้งสาขาศูนย์การค้าและสแตนอโลน
แม้ตอนนี้มีผู้สนใจติดต่อขอเป็นแฟรนไชส์จำนวนมาก แต่ยังไม่พร้อมเพราะต้องปรับปรุงอีกหลายจุด เช่น การทำชาไข่มุกให้เร็วขึ้น ทุกวันนี้ยังต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กับร้านอีกมาก ซึ่งหากอยู่ตัวจึงจะเริ่มขยับตัวต่อไป อีกทั้งยังคิดไกลขนาดบุกไปเปิดในต่างประเทศและส่งออกไข่มุกเป็นวัตถุดิบด้วย
ไม่ใช่แค่นั้นยังได้วางแผนต่อยอดไปยังเมนูอื่นๆ ที่อยู่ในเซ็นเมนต์ของหวานเหมือนกัน เร็วๆ นี้เตรียมวางขายไอศกรีมมีทั้งหมด 4 รสชาติ ราคา 79 บาท แม้จะขยายเมนูมากขึ้นแต่ทุกร้านจะใช้ชื่อ “Bearhouse” เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามการลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจในวัย 26 และ 27 ปี ถือเป็นความท้าทายอยู่ไม่น้อย แต่กานต์ก็เปรียบว่า การทำร้านเหมือนกับการเรียนปริญญาโท และปริญญาเอกแต่ไม่มีใบปริญญา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ตัวตนเอง
กลายเป็นว่าการทำร้านกลับจุดไฟให้กับการทำ YouTuber ด้วย เพราะยิ่งทำให้อยากออกไปเจอผู้คนต่างๆ นำแนวคิดกลับมาปรับปรุงร้านของตัวเอง