จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทคครั้งที่ 3 สำหรับกลุ่มนักวิชาการ ของ กสทช. เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 65 ณ สำนักงาน กสทช. โดยมี รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.เป็นประธาน พร้อมนำเสนอการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู – ดีแทค ที่กสทช. ได้ศึกษาโดยใช้แบบจำลองMerger Simulation และ Upward Pricing Pressure Model (UPP) และสรุปผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการควบรวม โดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium : CGE Model)
โดยในงานโฟกัสกรุ๊ป ยังมีนักวิชาการที่เข้าร่วมรับฟังความเห็นในครั้งนี้ และแสดงความเห็นแตกต่างจากผลการศึกษาของ กสทช. โดยส่วนใหญ่ “เห็นด้วย” กับการควบรวมของ “ทรู-ดีแทค” และยังเห็นว่าการศึกษาของ กสทช.ที่นำเสนอยังไม่ครอบคลุมในทุกมิติ ดังนี้
รศ.พรภวิษย์ บุญศรีเมือง รองคณบดีวิจัย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดยอ้างถึงการศึกษาของ กสทช. ในโมเดลUPP เรื่องผู้ประกอบการ 3 ราย ปัจจัยกำหนดอุปสงค์ อาทิ ความครอบคลุมของบริการ 4จี และ 5จีซึ่งผู้ถือครองสัมปทานมี NT ด้วย แต่แบบจำลองที่ กสทช.นำเสนอไม่มีNT ดังนั้นแบบจำลองนี้จึงไม่เที่ยง ถ้าเราไม่ได้ดูจำนวนผู้ใช้ เราดูจากสัมปทาน ใบอนุญาต ช่องสัญญาณNT มีอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นแบบจำลองจึงมีสมมติฐานไม่ครอบคลุม ทำให้ปัจจัยอื่น ๆ คลาดเคลื่อนไป จึงต้องเพิ่ม NT เข้าไปในแบบจำลองด้วย
ดร. รุจิระ บุนนาค อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและเป็นนักเขียนบทความทางสื่อหนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต “เห็นด้วยว่าการควบรวมระหว่าง ทรู-ดีแทค มีประโยชน์”เพราะมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาด้วย เท่าที่ฟังการสำรวจเรามุ่งเน้นโทรคมนาคมโดยแท้ มุ่งพิจารณาการสื่อสารด้วยเสียง ดาต้า เรามองข้ามตัวแปรที่สำคัญพอสมควร นั่นคือ “ดิจิทัลดิสรัปชัน” หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งมีการอ้างข้อมูลอยู่ช่วงหนึ่งซึ่งเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นข้อมูลปี 2558 ซึ่ง 7 ปีแล้ว ก่อนโควิด-19 อีก ดังนั้น การทำข้อมูลของ กสทช. ต้องทันสมัยซึ่งข้อมูลนี้นานเกินไป เรื่อง ดิจิทัลดิสรัปชัน เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมา กสทช. ก็เคยคาดการณ์ผิด เช่นทีวีดิจิทัล ที่ไม่ได้มองถึง OTT หรือบริการสื่อทางอินเทอร์เน็ตที่มีการสตรีมมิ่งในเรื่องของวิดีโอและภาพยนตร์ พอมาย้อนในเรื่องของโทรคมนาคม OTT ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นบริการสื่อทางอินเทอร์เน็ต ทั้งบริการข้อความ เสียง และวิดีโอ ซึ่งเป็นการใช้ FacebookLINEGoogleWhatsapp และผลการศึกษาของบริษัทชั้นนำด้านกลยุทธ์อันดับหนึ่งของโลกแมคเคนซีย์ ก็มีผลการศึกษาว่า ปัจจุบันบริษัทด้านโทรคมนาคมต้องลงทุนเพื่อให้บริการด้าน 5จีเพิ่มขึ้นถึง 300% ผู้ให้บริการด้านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือลงทุนมากแต่รายได้ลดลง ดังนั้น กสทช.ต้องมองให้รอบด้าน และต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งกำหนดข้อมูลของตลาดให้เหมาะสม เพราะเมื่อมีการควบรวมผู้บริโภคจะเข้าถึงได้มากขึ้น เครือข่ายมากขึ้น
ผศ. สุรวุธ กิจกุศล อาจารย์พิเศษด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า แบบจำลองที่นำเสนออยากให้พิจารณาในส่วนที่สำคัญคือ สถานะบริษัท หรือความสามารถในการแข่งขัน เพราะถ้าดูสัดส่วนของตลาดตอนนี้และดูกำไร-ขาดทุนของ 3 เจ้าใหญ่ จะเห็นความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ถ้าใช้สูตรที่ กสทช.นำเสนอ ต้องอยู่บนสมมติฐานที่สถานะของบริษัทแข็งแกร่งใกล้ๆกัน ซึ่งถ้าเรานำบริษัทที่แข็งแกร่งมากๆ มาแข่งขันกับบริษัทที่แข็งแกร่งน้อยกว่า ก็จะทำให้การแข่งขันลดระดับลง เชื่อว่าถ้าปล่อยไปในสภาพนี้อีกไม่นานก็อาจมีบางเจ้าต้องถอยจากตลาดไป สุดท้ายก็จะเหลือสองเจ้าที่ต่างกันเยอะมาก ซึ่งผม “เห็นด้วยถ้าสองบริษัทควบรวม” เชื่อว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่านี้ ถ้าดูสัดส่วนตามสูตร อาจจะดูเหมือนเป็นเบอร์ 1 ขึ้นมาได้ แต่ผมเชื่อว่าสภาพการแข่งขันอีกไม่นาน อดีตเบอร์ 1 คือ AIS น่าจะต้องทำให้ตัวเองกลับขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ได้ ซึ่งสุดท้ายประโยชน์จะตกอยู่กับผู้บริโภค และสุดท้ายเราจะได้ 2 บริษัทที่แข็งแกร่ง และถ้ามีนักลงทุนรายใหม่ เงินหนามองเห็นโอกาส สามารถนำโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์มากขึ้น ผมมองว่าถ้าการควบรวมของสองบริษัทเกิดได้ จะยิ่งเกิดผลดีกับผู้บริโภคทั้งเรื่องราคาและการแข่งขัน
ผศ.ดร.พัชรินทร์ คำสิงห์ จากวิทยาลัยการบิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง “เห็นด้วยที่จะเกิดการควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค” เพราะการพัฒนาในด้านต่างๆของเศรษฐกิจในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะมาเป็นทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เฉพาะคุณภาพของเน็ตเวิร์คที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เราจะมาพิจารณาเฉพาะเรื่องของราคาที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเดียวไม่ได้เพราะว่าประชาชนทั่วไปก็ต้องการที่จะใช้อินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น
ขณะที่ ดร.ณัฏฐพงศ์ จันทราทิพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แย้งการศึกษาของ กสทช. เรื่องการควบรวมจะทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดว่า ถ้าค่า HHI (Herfindhal-Hirschman Index) สูงอาจทำให้เป็นปัญหาได้ ปกติแล้วถ้าค่า HHI อยู่ต่ำกว่า 1,000 ก็จะไม่มีการผูกขาด ถ้าค่า HHI อยู่ระหว่าง 1,000 – 2,500 ก็จะอยู่กลาง ๆ แต่ถ้าค่า HHIเกิน 2,500 ขึ้นไปก็เป็นการผูกขาดต้องระวัง และที่มีการนำเสนอผลการศึกษาว่าเมื่อมีการควบรวมแล้ว GDP จะเป็นอย่างไรเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไรต้องลงไปดูในรายละเอียดให้ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งในต่างประเทศผู้ประกอบการมีมากกว่า 3 ราย ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเวลา 2 บริษัทมารวมกันแล้วความสามารถในการแข่งขันจะสูงขึ้น มันไม่ใช่ ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับต้องตกอยู่กับประชาชนเป็นส่วนใหญ่ และทำให้การแข่งขันกระจายเพื่อให้ผลประโยชน์เกิดกับประชาชนมากที่สุด
ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ อดีตประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกล่าวว่า การวัดด้วยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์เป็นวิธีการที่ทั่วโลกยอมรับดังนั้นเราจะตั้งค่า HHI สูงแค่ไหนอยู่ที่การกำกับดูแลของเรา อยู่ที่สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น อยู่ที่การคุ้มครองผู้บริโภค จะเห็นได้ว่ามี factor สำคัญอยู่ 3 ตัว คือ 1.คลื่นความถี่ ในต่างประเทศให้ใช้ฟรีเพื่อถือเป็นสมบัติของชาติและประชาชน ถ้าเรายังประมูลกันที่ความถี่ที่สูงขนาดนี้ แน่นอนผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ที่มีกำลังซื้อมากที่สุด ที่มีคลื่นความถี่มากที่สุดต้องตั้งข้อสังเกต ท่านกักตุนคลื่นความถี่ไว้ทำไม เช่น บริษัทใหญ่ทั้งหลาย NT กิจการทหารก็มีคลื่นความถี่มากมาย 2.infrastructure มีแล้วก็ไม่ใช่ว่าแค่นั้นพอ ต้อง support เรื่อง infrastructure ไม่ว่าจะเป็น base station ไม่ว่าจะเป็น optical fiber คนที่ดูแลเรื่องคลื่นความถี่ infrastructure ต้อง integrate กัน
การรวมกัน 2 เจ้า เหลือจาก 3 จริงๆ ไม่ใช่ครับ ถ้าท่านมองดีๆ ผมยังมีความเชื่อมั่นว่า NT ถ้ากระตุ้น โดยเฉพาะมีคนหนุ่มไปเป็น ซีอีโอ กระตุ้นให้ทำงาน ผมว่าไปได้ infrastructure เขามากที่สุดในไทย เพราะคลื่นเยอะสุดแต่ประเด็นอยู่ที่ กสทช.ต้องมีฐานข้อมูตรงนี้ ต้องรู้ว่าโครงข่ายอยู่ตรงไหน และ 3.เพื่อนบ้านของเราพัฒนาไปถึงไหนแล้ว พอเทคโนโลยีดีขึ้น การใช้ก็สะดวกขึ้น ประชาชนก็ได้ประโยชน์มากขึ้น ถ้าเพิ่มกำลังซื้อให้เขาดีขึ้นหรือว่าลดราคาให้ถูกลง สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเทคโนโลยีบางอย่างถ้าเราไม่จับมันไว้ก็จะหลุดออกไปเลย ผมได้ข่าวมาว่า Space x ไม่สนใจประเทศไทย เนื่องจากเขามั่นใจว่าเขาไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย เผลอๆไปเวียดนาม เหตุผลก็เพราะว่ากิจการโทรคมนาคมของเขาเอื้อประโยชน์ให้ลงทุนได้
รศ.ดร.ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางธุรกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า แบบจำลองที่นำเสนอเป็นการพิจารณาจากเศรษฐศาสตร์ แต่อยากให้คณะกรรมการพิจารณาจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจริง ๆ แล้ว HHI ที่สูงขึ้นจะแปลว่าราคาสูงขึ้นเสมอไปหรือเปล่า ยกตัวอย่างประเทศอินเดียค่า HHI 1,440 แต่มีราคาเมื่อเปรียบเทียบกับ GDP per Capita ของรายได้ประชาชนค่อนข้างสูง ขณะที่จีนมีค่า HHI ค่อนข้างสูงแต่ราคาต่ำ อันนี้คือตัวอย่างของความแตกต่างสิ่งที่ระบุไว้ในทฤษฎีกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งงานวิจัยของ OECD ที่มีการศึกษาวิจัย 18 ชิ้น ในช่วงเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี 2000-2015 พบว่า การควบรวมไม่ได้หมายถึงราคาที่สูงขึ้นเสมอไป แต่รวมไปถึงการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ และต้องยอมรับว่าเทคโนโลยี ดิสรัปชัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยสรุปแล้วมองว่า “การควบรวมมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย”
นอกจากนี้ ความเห็นของนักวิชาการอีกหลายท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในวันนี้ ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า “เห็นด้วยกับการควบรวม” เพราะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภค และมองว่าการศึกษาที่ กสทช. นำเสนอยังไม่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยสิ่งที่ขาดไปคือจิตวิทยา วันนี้ไม่มีธุรกิจใดเอาเปรียบผู้บริโภคแล้วจะอยู่รอด และเราก็มี กสทช. เป็นผู้กำกับดูแลคงไม่ยอมให้เกิดการขึ้นราคาที่สูงอย่างแน่นอน