แบกต้นทุนไม่ไหว! หลายแบรนด์เนียน ‘ลดปริมาณสินค้า’ ใน ‘ราคาเดิม’ หลังเจอปัญหาเงินเฟ้อ

ตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ลากยาวกว่า 3 เดือน ส่งผลในวัตถุดิบขาดตลาด จนกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคไปทั่วโลก ตั้งแต่กระดาษชำระ โยเกิร์ต กาแฟ ไปจนถึงข้าวโพดอบกรอบ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘shrinkflation’ ที่ผู้ผลิตต่างลดขนาดบรรจุภัณฑ์อย่างเงียบ ๆ โดยไม่ลดราคาไปทั่วโลก

หลายแบรนด์ทั่วโลกต้องออกมาปรับราคาสินค้า เนื่องจากแบกต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว แต่บางส่วนก็เลือกที่จะ ลดปริมาณ เพื่อจะคุมต้นทุนให้ได้ อย่างในสหรัฐอเมริกา คลีเน็กซ์ กระดาษทิชชู่กล่องเล็ก ๆ ก็ปรับจาก 65 แผ่น เหลือ 60 แผ่น โยเกิร์ต Chobani Flips ได้ลดปริมาณจาก 5.3 ออนซ์เหลือ 4.5 ออนซ์ หรืออย่าง กาแฟกระป๋อง เนสท์เล่ ก็ลดปริมาณจาก 100 กรัมเป็น 90 กรัม แม้แต่ในอินเดีย แบรนด์สบู่ Vim ลดปริมาณจากก้อนละ 155 กรัมเหลือ 135 กรัม

แน่นอนว่าการลดปริมาณไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มักจะเกิดขึ้นในเวลาที่เงินเฟ้อสูง เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ แรงงาน และการขนส่งที่สูงขึ้น โดยปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของสินค้าผู้บริโภคทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ +7% และยังมีแนวโน้มว่าจะลากยาวต่อไปจนถึงเดือนกันยายน ตามรายงานของ S&P Global

Edgar Dworsky ผู้สนับสนุนผู้บริโภคและอดีตผู้ช่วยอัยการสูงสุดในรัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า การลดปริมาณนั้นส่งผลน้อยกว่าการขึ้นราคา เพราะผู้ผลิตรู้ว่าลูกค้าจะสังเกตเห็นการขึ้นราคา แต่จะไม่สังเกตถึงน้ำหนักสุทธิหรือรายละเอียดเล็ก ๆ เช่น จำนวนแผ่นบนกระดาษชำระหนึ่งม้วน นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถใช้การเปลี่ยนรูปร่างของบรรจุภัณฑ์เพื่อดึงความสนใจออกจากการลดขนาด เช่น ฉลากใหม่ที่สดใสซึ่งดึงดูดสายตาของนักช้อป เป็นต้น

“อย่างขนม Fritos ที่เคยมีขนาด 18 ออนซ์ สำหรับปาร์ตี้ แต่ปัจจุบันได้กำลังโฆษณา Fritos Scoops ไซส์สำหรับปาร์ตี้เหมือนกัน แต่ลดปริมาณเหลือ 15.5 ออนซ์ แถมมีราคาแพงกว่า”

อย่าง Pepsi ก็ยอมรับว่าได้ปรับปริมาณของขวด เกเตอเรด (Gatorade) เครื่องดื่มเกลือแร่ จาก 32 ออนซ์ เหลือ 28 ออนซ์ โดยระบุว่าขวดจะมีรูปทรงเรียวตรงกลางเพื่อให้ถือได้ง่ายขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ดำเนินมาหลายปีแล้วและไม่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าขนาด 28 ออนซ์กลับมีราคาแพงกว่า

แต่ก็มีบางบริษัทที่เปิดเผยตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง อย่าง Calbee บริษัทผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวในญี่ปุ่น ได้ประกาศ ลดน้ำหนักสินค้าลง 10% และขึ้นราคา 10% สำหรับผลิตภัณฑ์จำนวนมากในเดือนพฤษภาคม รวมถึงมันฝรั่งทอดกรอบและถั่วแระญี่ปุ่นกรอบ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้วยการเนียนปรับลดขนาดสินค้าดังกล่าว ส่งผลให้ลูกค้าบางรายที่สังเกตเห็นการลดขนาด ทำให้มีบางคนเริ่มเปลี่ยนนิสัยการซื้อของ ผู้บริโภคบางคนระบุว่า เขารู้ตัวว่าตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ราคาสินค้าก็มีการปรับตาม แต่ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและการหดตัวของบรรจุภัณฑ์ทำให้ตกใจมากกว่า

“เราเตรียมใจในระดับหนึ่งแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ยังขึ้นแบบไม่มีขีดจำกัด ก็หวังว่าเราจะพบเพดานนั้นในไม่ช้า”

อย่างไรก็ตาม Edgar Dworsky ทิ้งท้ายว่า บางครั้งแนวโน้มสามารถย้อนกลับได้ เมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลง และการแข่งขันอาจทำให้ผู้ผลิตลดราคาหรือแนะนำบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ขึ้นอีกครั้ง

Source