EICกังวล ‘เงินเฟ้อ’ ไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 24 ปี แม้ท่องเที่ยวฟื้นช่วยดัน GDP ไทยโต 2.9%

Economic Intelligence Center หรือ EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตที่ 2.9% จากเดิม 2.7% จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการหลังเปิดประเทศ แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี และการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกถือเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย

ท่องเที่ยวฟื้นแรงแซงส่งออก

EIC ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขึ้นจาก 2.7% เป็น 2.9% เนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ ผ่านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทยและการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนในหลายประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศในปีนี้รวม 7.4 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่ามีจำนวน 5.7 ล้านคน อีกทั้งกิจกรรมในภาคบริการในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ตามอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ

อีกส่วนที่สำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ คือ ภาคเกษตร โดยผลผลิตภาคการเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อีกทั้ง ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานที่ถูกกระทบจากสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก

เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 24 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้การใช้จ่ายในประเทศที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ รายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) จากกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ แต่ก็ยังมีแรงกดดันจาก เงินเฟ้อ ที่จะเร่งตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ 5.9% ขณะที่ภาครัฐเองก็ทยอยลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งจะยิ่งกดดันกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงชะลอการลงทุนในภาคธุรกิจลง

ส่งผลให้ รายได้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตช้า ตามตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จะเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการรับมือกับค่าครองชีพที่เร่งตัวสูงในปีนี้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งมีจำนวนถึงกว่า 7 ล้านครัวเรือน หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด ที่ปัญหาเงินเฟ้อสูงในปีนี้จะส่งผลซ้ำเติมทำให้สถานะทางการเงินถดถอยลง ทั้งจากสภาพคล่องที่ลดลงและหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากครัวเรือนบางส่วนที่ต้องกู้มาใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ

Photo : Shutterstock

เศรษฐกิจโลกอาจทำไทยชะลอตาม

ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเฟ้อ แต่ การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในระยะต่อไป ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในปี 2565 มีแนวโน้มปรับชะลอลงจากปีก่อนหลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  • สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ปัญหาอุปทานคอขวดกลับมาแย่ลงและยืดเยื้อกว่าที่คาด อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะในภาคพลังงานและอาหาร ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
  • นโยบาย Zero Covid ของจีน ที่ส่งผลให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์และควบคุมการแพร่ระบาดที่จะกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ และซ้ำเติมปัญหาอุปทานโลกเพิ่มเติม จากบทบาทของจีนที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ และหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งของโลก
  • การดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเศรษฐกิจหลักเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเพิ่มความผันผวนในภาคการเงินโลก โดย EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ (รวมขึ้นทั้งหมด 7 ครั้งตลอดปี 2565) และจะปรับขึ้นถึงครั้งละ 50 bps ใน 3 รอบการประชุมหน้า ส่งผลให้กรอบบนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อาจแตะระดับ 3% ภายในสิ้นปี รวมถึงได้เริ่มกระบวนการลดขนาดงบดุลลงแล้วในเดือนมิถุนายน

ด้วยเหตุนี้ EIC จึงปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงมาอยู่ที่ 3.2% ในปี 2565 ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 5.8% ตามการชะลอตัวลงพร้อมกันของกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เศรษฐกิจโลกจึงเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งความไม่สมดุลหลังวิกฤตโควิด และหลายเศรษฐกิจมีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า จะส่งผลให้การส่งออกที่เป็นฟันเฟืองสำคัญสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง จากอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นและจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนตลาดยุโรปที่มีความเสี่ยงจากภาวะสงคราม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชนที่เดิมประสบปัญหาการชะงักของอุปทานและต้นทุนวัสดุและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านแรงส่งจากภาครัฐ แม้การก่อสร้างภาครัฐยังจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีนี้จากความคืบหน้าของโครงการขนาดใหญ่ แต่ในภาพรวมจะมีแรงส่งที่ลดลงเนื่องจากเม็ดเงินสำหรับดำเนินโครงการใหม่ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเหลืออยู่เพียง 4.8 หมื่นล้านบาทเพื่อไว้ใช้จ่าย

คาดกนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75%

ด้านนโยบายการเงิน EIC คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสที่ 3/65 จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูง และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาและชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เริ่มปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย ในปัจจุบันยังติดลบและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจากไทย และเงินบาทมีโอกาสปรับอ่อนค่าลง

สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ต้นปี 65 จนถึงวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงราว 3.6% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าในทิศทางเดียวกัน และใกล้เคียงกับสกุลอื่นในภูมิภาค EIC มองว่า ในระยะสั้นค่าเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และ ความเสี่ยงของภาวะสงคราม ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิ้นปี EIC คาดว่า เงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์