“มหากิจศิริ” ผนึกพันธมิตรญี่ปุ่นขึ้นคอนโดฯ “125 สาทร” วางเป้าดึงลูกค้าต่างชาติ 20-30%

125 สาทร
ตระกูล “มหากิจศิริ” จับมือพันธมิตรญี่ปุ่น KRD และ TCC ขึ้นโครงการคอนโดฯ ลักชัวรี “125 สาทร” จับตลาดคนทำงานออฟฟิศและ Expat ต่างชาติ หวังยอดขาย 3,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ด้านข้อพิพาทกับลูกบ้าน “THE MET” ยืนยัน EIA ผ่านการรับรองแล้ว แม้มีการร้องเรียนต่อเนื่องที่ศาลปกครองกลาง

“อุษณา มหากิจศิริ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผยความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาโครงการ “125 สาทร” คอนโดมิเนียมหรูมูลค่าโครงการกว่า 8,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 3 ไร่ ริมถนนสาทร ติดกับสถานทูตสิงคโปร์ ระยะ 500 เมตรจากสถานี BTS ช่องนนทรี

โดยโครงการเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ (KRD) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของญี่ปุ่น และ บริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด (TCC) บริษัทด้านการก่อสร้างและอสังหาฯ จากญี่ปุ่นเช่นกัน การร่วมทุนครั้งนี้ TTA ถือหุ้น 60% บริษัท KRD ถือหุ้น 30% และ TCC ถือหุ้น 10%

(จากซ้าย) อุษณา มหากิจศิริ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA และ โทชิฮิโระ อิเคะอุจิ ผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (KRD)

125 สาทร เป็นคอนโดฯ ระดับลักชัวรีบนที่ดินหน้ากว้าง 97 เมตร ออกแบบแบ่งเป็น 2 อาคาร จำนวนห้องชุดรวม 755 ยูนิต ห้องชุดพื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 28.5 ตร.ม. ราคาเฉลี่ย 250,000 บาทต่อตร.ม. เริ่ม 5.9 ล้านบาทต่อยูนิต

อุษณากล่าวว่า ย่านสาทรถือเป็นย่านที่มีดีมานด์สูงแต่มีซัพพลายไม่มาก เนื่องจากเป็นแหล่งออฟฟิศ มีคนทำงานประจำในพื้นที่ทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 260,000 คน และในอนาคตจะมีเมกะโปรเจ็กต์ในย่านใกล้เคียงเกิดขึ้น เช่น วันแบงค็อก (หัวมุมแยกวิทยุ พระราม 4-สาทร), ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (หัวมุมแยกพระราม 4-สีลม) ซึ่งจะทำให้ความเจริญยิ่งมากขึ้น และมีความต้องการที่พักอาศัยสูงขึ้น

125 สาทร
ภาพตัวอย่างสระว่ายน้ำความยาว 50 เมตร

ขณะที่ราคาของ 125 สาทร บริษัทเชื่อว่าเป็นราคาแข่งขันได้ในคอนโดฯ ระดับเดียวกัน เนื่องจากราคาเริ่มต้นไม่ถึง 6 ล้านบาท ซึ่งหาได้ยากแล้วในย่านนี้

Positioning สำรวจคอนโดฯ ใกล้เคียงที่ยังอยู่ระหว่างขาย เช่น ศุภาลัย ไอคอน สาทร ราคาเริ่มที่ 9 ล้านบาท (ห้องชุดขนาด 42 ตร.ม.) เทตต์ 12 สาทร ราคาเริ่มที่ 9 ล้านบาท (ห้องชุดขนาด 40 ตร.ม.) อนิล สาทร 12 ราคาจะเริ่มที่ 11 ล้านบาท (ห้องชุดขนาด 45 ตร.ม.) เดอะ รีเซิร์ฟ สาทร ราคาเริ่ม 12.9 ล้านบาท (ห้องชุดขนาด 50 ตร.ม.) เห็นได้ว่าการเลือกพัฒนาห้องชุดเริ่มต้นขนาดเล็ก ทำให้คนทำงานออฟฟิศมีโอกาสเอื้อมถึงคอนโดฯ ย่านสาทรได้มากขึ้น

 

เน้น Expat ญี่ปุ่น-ยุโรป

ภัทร์กร วงศ์สวรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กล่าวต่อว่า พื้นที่สำนักงาน 1 ใน 4 ของกรุงเทพฯ อยู่ในย่านสาทร-สีลม ทำให้บริษัทตั้งใจดึงดูดเรียลดีมานด์กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ

125 สาทร
ห้องตัวอย่างห้องชุดแบบ 2 ห้องนอน

สำหรับกำลังซื้อต่างชาติจะเน้น Expat ที่เป็นเรียลดีมานด์มากกว่านักลงทุนจากต่างประเทศ คาดหวังว่าจะได้ยอดขายจากต่างชาติราว 20-30% โดยการมีพันธมิตรเป็นบริษัทญี่ปุ่นจะช่วยผลักดันตลาดได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มยุโรป ทั้งจากออฟฟิศและสถานทูตที่รายล้อมสาทร

โครงการ 125 สาทรจะเริ่มเปิดขายอย่างเป็นทางการ 18-19 มิถุนายนนี้ ภัทร์กรกล่าวว่า บริษัทคาดหวังเป้ายอดขาย 3,000 ล้านบาทภายในสิ้นปี และจะเริ่มการก่อสร้างปลายปี 2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2569

 

ข้อพิพาทกับ THE MET ยังอยู่ในศาลปกครอง

โครงการ 125 สาทรนั้นยังมีประเด็นที่ต้องจับตา เนื่องจากที่ดินโครงการตั้งอยู่ด้านหน้าคอนโดมิเนียม THE MET คอนโดฯ สูง 66 ชั้น ที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2552 พัฒนาโดย Hotel Properties Limited Group กลุ่มทุนสิงคโปร์ แต่เดิมที่ดินด้านหน้าคอนโดฯ มีแผนจะก่อสร้างเป็นโรงแรมและคาดว่าจะพัฒนาให้เป็นตึกเตี้ยที่ไม่บังวิวคอนโดฯ แต่สุดท้ายเจ้าของที่ดินไม่ไปต่อ และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือมาสู่กลุ่มมหากิจศิริ

125 สาทร THE MET
125 สาทรจะขึ้นด้านหน้าตึก THE MET ทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้น

แม้บริษัทจะออกแบบให้ 125 สาทรแยกออกเป็น 2 อาคาร เพื่อให้มีช่องวิว แดด สายลมผ่านตรงกลางได้ แต่ลูกบ้าน THE MET ยังมีความกังวลใจ ทำให้มีการคัดค้านตั้งแต่ในชั้นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่สุดท้าย EIA ก็ผ่านการรับรองแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2564

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเจ้าของร่วมโครงการ THE MET ได้รวมตัวแต่งตั้งทนายเพื่อยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก. กทม.) รวมถึงหน่วยงานรัฐหลายแห่ง โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ตรวจสอบความโปร่งใสในการอนุมัติ EIA

ข้อแย้งของฝั่ง THE MET มองว่า รายงาน EIA ฉบับนี้มีการสำรวจความเห็นชุมชน 400 คนโดยรอบ และมีผู้ตอบแบบสอบถาม 60% ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ 125 สาทร แต่รายงานกลับได้รับอนุมัติ ทำให้ยื่นฟ้องกับศาลปกครองกลางเพื่อขอตรวจสอบความโปร่งใส ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องแล้ว (อ้างอิงที่มา: โพสต์ทูเดย์)

ด้านภัทร์กรตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงประเด็นนี้ว่า บริษัทได้ดำเนินการทำรายงาน EIA ตามขั้นตอน และพยายามออกแบบโครงการให้มีผลกระทบลูกบ้าน THE MET ให้น้อยที่สุด เชื่อมั่นว่าจะสามารถก่อสร้างได้ตามปกติเพราะโครงการทำตามกฎหมาย มีการเว้นระยะห่างระหว่างอาคาร มีทางเข้า-ออกที่เป็นกรรมสิทธิ์