“สถาพร เอสเตท” ขึ้นคอนโดฯ หรูเยื้อง “วัน แบงค็อก” เดินหน้ารีเฟรชแบรนด์

สถาพร เอสเตท
เดอะ คราวน์ เรสซิเดนท์เซส
บริษัทเก่าแก่หลังทำการ ‘รีเฟรช’ แบรนด์ “สถาพร เอสเตท” (SE) เดินหน้าเปิดคอนโดฯ หรู “เดอะ คราวน์ เรสซิเดนเซส” เยื้องกับโครงการ “วัน แบงค็อก” ชูจุดขายที่ดินฟรีโฮลด์ ใกล้สวน ราคาต่ำกว่า ด้านแผนระยะยาวหลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 บริษัทปรับมาพัฒนาโครงการไซส์เล็ก เหมาะกับดีมานด์ที่ยังชะลอตัว

“สุนทร สถาพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด (SE) เปิดเผยถึงแผนการเปิดตัวโครงการและเป้าหมายปี 2565 ของบริษัท วางเป้าเปิดทั้งหมด 3 โครงการ มูลค่ารวม 3,306 ล้านบาท ได้แก่

  • ดอะ คราวน์ เรสซิเดนท์เซส คอนโดมิเนียมสูง 32 ชั้น จำนวน 183 ยูนิต ทำเลริม ถ.พระราม 4 เยื้องกับโครงการ “วัน แบงค็อก” ราคาเฉลี่ย 250,000 บาทต่อตร.ม. หรือ 6-20 ล้านบาทต่อยูนิต
  • ดิ อิเธอร์นิตี้ โกร์ฟ สายไหม – วัชรพล โครงการบ้านแฝดและบ้านเดี่ยว จำนวน 92 ยูนิต ทำเลห่างจากสถานีคูคต 2 กม. ราคาเริ่ม 5.9 ล้านบาท
  • ดิ อิเธอร์นิตี้ พระราม 9 – วงแหวน โครงการบ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี จำนวน 70 ยูนิต ทำเลทางด่วนด่านทับช้าง ราคาเริ่ม 9 ล้านบาท

โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 2,400 ล้านบาท และเป้ารายได้ 1,280 ล้านบาท

สัดส่วนโครงการเปิดใหม่ปี 2565 แยกตามประเภทแนวราบกับแนวสูง

โครงการไฮไลต์ของปีนี้หนีไม่พ้น เดอะ คราวน์ เรสซิเดนท์เซส เพราะเป็นคอนโดฯ ไฮเอนด์กลางเมือง ซึ่งเป็นตลาดที่ซบเซามากว่า 2 ปี แต่สุนทรเลือกเปิดตัวปีนี้เพราะเชื่อว่าโครงการอยู่ในทำเลที่มีดีมานด์ เนื่องจากคอนโดฯ โดยรอบสวนลุมพินีส่วนใหญ่จะเปิดขายแบบลีสโฮลด์ (เช่าระยะยาว ไม่มีกรรมสิทธิ์) แต่โครงการของบริษัทเป็นฟรีโฮลด์ (มีกรรมสิทธิ์) ในขณะที่ตั้งราคาเพียง 250,000 บาทต่อตร.ม. ราคาถูกกว่าคอนโดฯ ฟรีโฮลด์บนเส้นพระราม 4 ช่วงคลองเตยจนถึงสามย่าน

เดอะ คราวน์ เรสซิเดนท์เซส เกาะทำเลเยื้องกับ “วัน แบงค็อก” หวังได้ดีมานด์จากพนักงานออฟฟิศในอนาคตที่จะเข้ามาในบริเวณนี้เพิ่มอีกหลักหมื่นคน

คอนโดฯ นี้จะเน้นเจาะกลุ่มคนไทยเป็นหลัก เพราะมองว่าตลาดนักลงทุนต่างชาติน่าจะยังไม่ฟื้นเร็วๆ นี้ เนื่องจากชาวจีนถูกสกัดกั้นการนำเงินออกนอกประเทศ โครงการเดอะ คราวน์ เรสซิเดนท์เซส จะเปิดขาย 28 มิ.ย. 65 และคาดว่าจะสร้างเสร็จราวปี 2568

 

รีเฟรชแบรนด์เพื่อเจาะ “ตลาดกลางถึงบน”

สถาพร เอสเตทนั้น แต่เดิมใช้ชื่อบริษัท เฉลิมนคร จำกัด สร้างโครงการหมู่บ้านภายใต้ชื่อ “บ้านสถาพร” เกาะทำเลย่านรังสิตจนถึงกรุงเทพฯ โซนตะวันออกมานานกว่า 25 ปี โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งใน กลุ่มธุรกิจทรัพย์สถาพร ซึ่งทำอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง และให้บริการคลังสินค้า-ท่าเรือ

สถาพร เอสเตท
“สุนทร สถาพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด (SE)

ต่อมาเมื่อปี 2561 สุนทร สถาพร ต้องการจะ “รีเฟรช” แบรนด์ด้านอสังหาฯ จึงจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่เป็นบริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด (SE) ปรับเปลี่ยนโลโก้ ภาพลักษณ์บริษัทใหม่หมดจด เพื่อเข้าสู่ตลาดระดับกลางถึงบนเป็นหลัก และวางแผนระยะยาวเตรียมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หลังปรับแบรนด์ บริษัทเปิดตัวโครงการไปแล้ว 3 แห่ง มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท ได้แก่ คอนโดฯ เดอะ เชดด์ สาทร 1, อิเธอร์นิตี้ ทาวน์ พริมโรส วัชรพล และดิ อิเธอร์นิตี้ กรีนวู้ด รังสิต-วงแหวน ทั้งหมดมียอดขายแล้วประมาณ 50% สำหรับโครงการเดอะ เชดด์ สาทร 1 เริ่มโอนกรรมสิทธิ์แล้วปีนี้

 

ดีมานด์ลด ต้องปรับไซส์ตาม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แผนของบริษัทสะดุดไปบ้าง มีการเลื่อนการเปิดตัว และต้องปรับวิธีการทำโครงการ โดยลดขนาดโครงการให้เล็กลงดังที่เห็น จากเดิมเคยพัฒนาโครงการแนวราบใหญ่หลักร้อยไร่ เปลี่ยนมาเป็นโครงการขนาดเล็กหลักสิบไร่ เพราะดีมานด์ตลาดน่าจะยังชะลอตัว จากเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะโตไม่เกิน 3%

ดิ อิเธอร์นิตี้ โกร์ฟ สายไหม – วัชรพล

สุนทรยังกล่าวถึงอินไซต์ผู้บริโภคหลังเกิดโรคระบาดและปัจจัยสภาวะครอบครัวที่เปลี่ยนไป ทำให้มีหลายอย่างที่คนให้ความสำคัญมากขึ้น เช่น

  • ห้องทำงาน จากการ Work From Home หลายคนต้องการห้องทำงานที่บ้าน และหลายบ้านต้องมี 2 ห้อง เพราะทำงานทั้งสามีและภรรยา ทำให้การวางฟังก์ชันบ้านต้องยืดหยุ่นในการปรับให้เป็นห้องทำงานได้
  • ห้องเด็ก/ลูก จากเดิมจะมีหลายห้องในบ้าน เพราะคนมีลูก 2-3 คน ปัจจุบันอาจมีห้องเดียวก็เพียงพอแต่กั้นห้องขนาดใหญ่ เพราะครอบครัวมีลูกคนเดียวกันมากขึ้น
  • การระบายอากาศ โดยเฉพาะในคอนโดฯ กลายเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคใส่ใจ เพราะกังวลเรื่องโรคระบาด
  • งานดีไซน์และฟังก์ชัน ความหรูหราในปัจจุบันไม่ได้เน้นความรู้สึกฟุ่มเฟือย แต่ทุกตารางนิ้วต้องใช้งานได้จริง

ภาวะตลาดที่ดีขึ้นแล้วแต่ยังไม่กลับมาบูม และการปรับตัวหลังโควิด-19 ทำให้สุนทรคาดว่าบริษัทจะมีโอกาสเปิด IPO ได้อีกครั้งอย่างเร็วที่สุดในปี 2568 ในระหว่างนี้บริษัทจะเปิดตัวอย่างสม่ำเสมอปีละ 3 โครงการ มูลค่าราว 3,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อสร้างพอร์ตเตรียมตัวสู่อนาคต