งานเข้าอุตสาหกรรม ‘ชิป’ อีกแล้ว หลัง ‘รัสเซีย’ จำกัดการส่งออกก๊าซสำคัญในการผลิต

หลังจากต่อสู้กับปัญหาคอขวดของซัพพลายเชนที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 ล่าสุด อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป กำลังเผชิญกับปัญหาใหม่ เนื่องจาก รัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ก๊าซที่ใช้ในการผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกได้เริ่มจำกัดการส่งออกก๊าซดังกล่าวแล้ว

ตามข้อมูลของ Bain & Company ระบุว่า ก่อนเกิดสงคราม รัสเซียและยูเครนมีส่วนแบ่งประมาณ 30% ของการส่งออก ก๊าซเฉื่อย หรือ ก๊าซมีตระกูล ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ใช้ในการ ผลิตชิปอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ที่ใช้ในสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่สมาร์ทโฟน เครื่องซักผ้า ไปจนถึงรถยนต์ โดยล่าสุด รัสเซียได้ประกาศระงับการส่งออกก๊าซดังกล่าวไปยังประเทศที่ ‘ไม่เป็นมิตร’

ที่ผ่านมา ปัญหาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถผลิตรถได้ลดลงจนต่ำกว่า 10 ล้านคันเนื่องจากการขาดแคลนชิป แต่ปัญหาก็คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม การที่รัสเซียจำกัดการส่งออกก๊าซฮีเลียมอาจส่งผลกระทบและอาจขัดขวางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมชิป

สำหรับก๊าซเฉื่อยมีบทบาทสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ในกระบวนการที่เรียกว่า การพิมพ์หิน ก๊าซจะควบคุมความยาวคลื่นของแสงที่เกิดจากเลเซอร์ในขณะที่แกะสลักลวดลายลงบนแผ่นเวเฟอร์ซิลิกอนที่ประกอบเป็นชิป โดยช่วงก่อนสงคราม รัสเซียเก็บนีออนดิบเป็นผลพลอยได้จากโรงงานเหล็ก แล้วส่งไปยูเครนเพื่อทำให้บริสุทธิ์ ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตก๊าซชั้นนำตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต

โดยความขัดแย้งได้ก่อให้เกิดความเสียหายถาวร ทั้งในแง่ได้ทำลายแหล่งอุตสาหกรรมและทำให้การส่งออกสินค้าจากภูมิภาคเป็นเรื่องยากมาก อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะรู้ว่าข้อจำกัดในการส่งออกของรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างไร

เพราะการติดตามราคานีออนและก๊าซอื่น ๆ เป็นเรื่องยาก เนื่องจากส่วนใหญ่ซื้อขายภายใต้สัญญาระยะยาว แต่มีการประมาณการจาก Techcet ระบุว่า ราคาสัญญานีออนได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า แล้วนับตั้งแต่เกิดสงครามและจะยังคงอยู่ที่ระดับที่สูงขึ้นในระยะสั้น และจากนี้จะมีผลกระทบต่อสัญญาใหม่อย่างแน่นอน

อย่าง เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของผู้ผลิตชิปรายใหญ่ อย่าง Samsung อาจเจ็บหนัก เนื่องจากเกาหลีใต้ต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ที่ไม่มีบริษัทก๊าซขนาดใหญ่ที่สามารถเพิ่มการผลิตได้ ขณะที่ Micron Technology ผู้ผลิตชิปรายใหญ่อีกรายหนึ่งของโลก กล่าวว่า เห็นราคาก๊าซสูงขึ้น และบริษัทมีวัตถุดิบเพียงพอแค่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

สำหรับประเทศที่ได้ประโยชน์จากจุดนี้คือ จีน เพราะจีนจะกลายเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตที่ ใหญ่ที่สุด รายใหม่ตามข้อมูลของ Sundqvist โดยตั้งแต่ปี 2015 ประเทศจีนได้ทุ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง ซึ่งรวมถึงลงทุนในอุปกรณ์ที่จำเป็นในการแยกก๊าซออกจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นผู้ส่งออกก๊าซเหล่านี้ และอ้างว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้

Source