ปัญหาขยะ เป็นปัญหาใหญ่ใกล้ตัว ที่ยังต้องการความร่วมมือในการจัดการอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทยปี 2564 โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะอยู่ที่ 24.98 ล้านตันต่อปี แต่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 9.28 ล้านตัน และนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้แค่เพียง 7.89 ล้านตันเท่านั้น ยังเหลือปริมาณขยะที่ถูกกำจัดไม่ถูกวิธีและตกค้างอีกกว่า 15.26 ล้านตัน ก่อให้เกิดปัญหาการทิ้งขยะลงทะเล จนทำให้ไทยติดท็อป 5 ของโลกด้านปัญหาขยะทะเลในปี 2562 และปัญหาด้านมลพิษ ไปจนถึงปัญหาภาวะโลกร้อน
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ จึงได้จับมือร่วมกับ 10 องค์กร ประกอบด้วย 1.บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC 2.บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP 3.บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด (Unilever) 4.บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด 5.บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด 6.บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด 7.กลุ่มอำพลฟูดส์ 8.บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด 9.บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด และ 10.วัดจากแดง เพื่อร่วมเป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ต่อยอดให้กลายเป็นภาคีด้านการจัดการขยะที่แข็งแกร่งที่สุดในไทย พร้อมทั้งสร้างระบบนิเวศการจัดการขยะครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ เชื่อมโยงตั้งแต่กลุ่มผู้ให้ความรู้ กลุ่มผู้คัดแยกขยะ กลุ่มผู้รับจัดส่งวัสดุ กลุ่มผู้รีไซเคิล กลุ่มผู้รวบรวม กลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์ กลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นกระบวนการ
ตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า หลังจากก่อตั้งภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ต่อยอดโมเดลของโรงเรียนอนุบาลทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้โครงการ CONNEXT ED บูรณาการเรื่องการจัดการขยะเข้ากับหลักสูตรการศึกษา ปลูกฝังให้เยาวชนมีส่วนช่วยคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มารียูส รีไซเคิล จัดการเป็นวัสดุอินทรีย์ สร้างรายได้กลับสู่โรงเรียน โดยมีโรงเรียนในเครือข่าย 2 รุ่นแรก 153 โรงเรียนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ สามารถลดปริมาณขยะ เปลี่ยนไปสู่วัสดุรีไซเคิลได้แล้วประมาณ 108 ตันต่อปี พร้อมทั้งลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนไปได้กว่า 2,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
“เราเริ่มจากการปรับมุมมอง ทำให้ทุกคนตระหนักตรงกันว่า การมีถังขยะจำนวนมาก ไม่ใช่คำตอบ เพราะสุดท้ายภาระจะไปอยู่ที่หลุมฝังกลบ คำตอบที่ดีกว่าสำหรับการแก้ปัญหาขยะ คือแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มองสิ่งที่เคยคิดว่าเป็นขยะ เป็นวัสดุอินทรีย์ เป็นวัสดุรีไซเคิล ปีนี้ เราขยายเครือข่ายโรงเรียนและชุมชนทั้งในและนอก CONNEXT ED เพิ่มเติมจนมีรวมทั้งสิ้น 443 แห่ง มีนักเรียนในเครือข่ายเกือบ 83,000 คน เราจะเปลี่ยนนักเรียนและคนในชุมชนเหล่านี้เป็นทีมแยกขยะและทีมรีไซเคิล พร้อมทั้งร่วมมือกับ 10 องค์กรที่มีความสามารถในการรีไซเคิล อัพไซเคิลขยะแต่ละประเภท เข้ามาช่วยกันเติมเต็มระบบนิเวศ นำระบบแลกพอยท์ธนาคารขยะคุ้มค่าเข้ามาใช้ กระตุ้นให้ทุกคนเห็นประโยชน์ของการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ” ตรีเทพ ย้ำ
หนึ่งในพันธมิตรภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง พงศ์นรินทร์ ชวนะนิกุล Manager–Recycling Business Development บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ผลิตกระดาษชั้นนำของประเทศ และมีกระบวนการรีไซเคิลที่แข็งแกร่ง มองว่าปัจจุบันยังมีกระดาษที่ไม่สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงการต้นกล้าไร้ถังจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้กระดาษเหล่านี้กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง และสามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สู่สังคม เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้กระบวนการเก็บกลับและการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะรีไซเคิลอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง
ด้าน กิติยา แสนทวีสุข New Venture, Head of Sustainability บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัดกล่าวว่า ประเทศไทยมีกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้หมุนเวียนภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 30,000 ตัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากระป๋องอะลูมิเนียมจะสามารถนำกลับมาผลิตให้เป็นกระป๋องใบใหม่ได้ไม่รู้จบ แต่ไม่ใช่ทุกใบที่จะถูกส่งกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โครงการต้นกล้าไร้ถังถือจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้อะลูมิเนียมใช้แล้วเหล่านี้ สามารถนำกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ ผ่านการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อดีของวัสดุที่มีค่านี้ให้ได้กลับมาใช้ประโยชน์อย่างไม่รู้จบ
วัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการต้นกล้าไร้ถังมีวัตถุประสงค์โครงการสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ต้องการจัดการปัญหาขยะในโรงเรียนและชุมชน รวมถึงการสร้างมูลค่าของวัสดุรีไซเคิลจากกล่องยูเอชที โดยนำมากลับใช้เป็นวัตถุดิบที่ผลิตเป็นสินค้าที่มีประโยชน์และสร้างรายได้กลับไปที่ชุมชน โดยบริษัทฯ ได้สร้างความตระหนักรู้ถึงการจัดการกล่องนมยูเอชที ที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี ก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ประโยชน์อื่นได้อีก เช่น ผลิตเป็นอิฐบล็อกช่องลม, หลังคา, ถังน้ำขนาดใหญ่ ฯลฯ นอกเหนือจะเป็นการช่วยลดปัญหาขยะในโรงเรียนและชุมชนแล้ว ยังช่วยลดรายจ่ายในการกำจัดขยะให้กับชุมชนและเทศบาลอีกด้วย
ด้าน ดร.กฤษฎา โสภา ผู้อำนวยการส่วนงานการตลาด และสารสนเทศ กลุ่มอำพลฟูดส์ กล่าวว่า กว่า 13 ปี อำพลฟูดส์ ดำเนินโครงการกล่องวิเศษเพื่อมุ่งลดปัญหาขยะจากกล่องบรรจุภัณฑ์ยูเอชทีโดยรณรงค์ให้ภาคประชาชน แกะ ล้าง เก็บ ส่งกล่องบรรจุภัณฑ์ยูเอชที นำมารีไซเคิลเป็นโต๊ะเก้าอี้นักเรียน มอบให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ โดยสามารถรีไซเคิลกล่องบรรจุภัณฑ์ยูเอชที ไปแล้วกว่า 30 ล้านชิ้น ผลิตเป็นโต๊ะเก้าอี้นักเรียน กว่า 10,000 ชุด รวมถึงนำวัสดุรีไซเคิลมาสร้างเป็นอาคารเรียนไปแล้ว 2 หลัง อำพลฟูดส์ในฐานนะผู้ผลิตสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ปีละกว่า120 ล้านชิ้น มีความตระหนักและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อม บทบาทของอำพลฟูดส์ ในฐานะภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง จึงเป็นการนำองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในอดีต และอุปสรรคร่วมถ่ายทอด และร่วมหาแนวทางพัฒนา นำเสนอสู่เครือข่าย ฯ เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศจัดการขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว และยั่งยืน
ความร่วมมือและการขยายภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศในสร้างระบบนิเวศการจัดการขยะที่ครบวงจรที่สุด ทุกคนในโรงเรียน ชุมชน จะได้เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธีไปพร้อมๆ กัน เพื่อร่วมกันเดินหน้าพาชุมชนสู่สังคมไร้ถัง อนาคต หากสามารถขยายภาคีสู่โรงเรียน CONNEXT ED ทั้งหมด 5,567 โรงเรียนตามเป้าหมาย ย่อมพลิกโฉมการแก้ไขปัญหาขยะของไทยได้อย่างแข็งแกร่ง
Related