เจาะลึก “กัลฟ์” ชูยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้น ดัน AIS ครองตลาดสื่อสารเบ็ดเสร็จ หลังประกาศซื้อกิจการ 3BB

ทำไม AIS จึงประกาศการซื้อกิจการ 3BB ในช่วงเวลานี้?! หากจะทำความเข้าใจต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของ JAS บริษัทแม่และผู้ให้บริการ 3BB และในครั้งนี้เป็นการเดินเกมหมากกลทางธุรกิจ ผ่านวิศวกรรมการเงินหรือไม่

แหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์เปิดเผยว่า หมากกลทางธุรกิจ เอไอเอส ในยุค “กัลฟ์” คุมยุทธศาสตร์แบบเฉียบคม แบบรวบหัวรวบหาง กับการซื้อกิจการ 3BB เพื่อต่อรอง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กดดันดีลควบรวม ทรู-ดีแทค หวังผลให้ กสทช. คิดหนัก เพื่อให้เห็นการมีจำนวนผู้แข่งขันลดลง การแข่งขันจะลดลง ซึ่งสวนทางการการเคลื่อนไหวในตลาดที่เพิ่มความร้อนแรงในการแข่งขันทันที เมื่อตลาดมีผู้เล่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันมากขึ้น

คำถามที่สำคัญคือ หากจะทำความเข้าใจต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของ JAS บริษัทแม่ และผู้ให้บริการ 3BB ที่ขึ้นชื่อในประวัติศาสตร์โทรคมนาคมไทย เรื่องมรดกบาปทิ้งการประมูลคลื่น 900 MHz ที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เคาะประมูลในล็อตที่ 1 ได้ในราคาสูงถึง 75,654 ล้านบาท จนเกิดสมมุติฐาน “ทฤษฎีการสมคบคิด” เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจกับ “ใครบางคน” หรือไม่

และรวมทั้งตั้งข้อสงสัยไปถึงการทำกำไรจาก “ตลาดหุ้น” ที่ดังอึงมี่ไปทั่วทั้งแผ่นดิน ได้มากกว่าเสีย กับกรณียอมให้ กสทช. ยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาท หลังไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก ตีความได้หรือไม่ว่า การเคาะราคาที่ผู้คนมองว่า “บ้าระห่ำ” นั้น มีจิตเจตนาเพื่อลาก “บริษัทผู้เข้าร่วมประมูลบางราย” ให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งนี้เป็นจำนวนมหาศาลหรือไม่

ดังนั้น การประกาศซื้อกิจการครั้งนี้ ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกัน ทำให้เห็นว่า โทรคมนาคม มีความซับซ้อน ซึ่งการซื้อกิจการของ 3BB ในครั้งนี้ ก็มีคำถามไม่ต่างกัน ว่า เป็นการเดินเกมหมากกลทางธุรกิจ ผ่านวิศวกรรมการเงินหรือไม่ เพราะเพียงแค่วันแรก เอไอเอส ก็กำไรส่วนต่างจากราคาหุ้นของ JAS แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว โดยสุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่า เอไอเอส จะต้องการซื้อ 3BB จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เวทมนตร์ทางการเงินทางธุรกิจเท่านั้น ต้องติดตามกันใกล้ชิด

ยุทธศาสตร์ “บันได 3 ขั้น” สู่การเป็นผู้นำตลาดสื่อสารของเอไอเอสนั้น

เริ่มจากบันไดขั้นที่ 1 คือ การเข้ามาของกัลฟ์ที่ข้ามห้วยมาจากธุรกิจพลังงาน ขยายฐานมาสู่ ธุรกิจเทเลคอม เป็นหนึ่งในหลายธุรกิจที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เพราะหากได้โครงสร้างพื้นฐานทั้งพลังงาน และสื่อสารแล้ว จะถือว่ามีความครบครัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นความเคลื่อนไหวของธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างเจ้าแห่งวงการพลังงานอย่าง “กัลฟ์” (GULF) เข้าเทกโอเวอร์หุ้นใหญ่ของอินทัช (INTUCH) ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้ทำการเสนอซื้อหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH

ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มกัลฟ์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน INTUCH ในสัดส่วนรวมกัน 42.25% ขณะที่ INTUCH เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ใน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ทำให้ยุทธศาสตร์ของเอไอเอส มีความคมคายมากขึ้น ส่งผลให้เอไอเอสเปลี่ยนท่าทีจากที่ไม่คัดค้านการควบรวมทรูดีแทค เพราะมองว่า เอไอเอส ก็ยังได้เปรียบ มาสู่ท่าทีการคัดค้านอย่างชัดเจน เป็นธงของผู้ถือหุ้นใหม่ที่ปรับให้เอไอเอสมีเชิงรุกมากขึ้นในการบอนไซคู่แข่งในอุตสาหกรรม

จังหวะการก้าวเข้าสู่ธุรกิจเทเลคอมของ กลุ่มกัลฟ์ จึงเป็นบันไดขั้นแรก และเป็นก้าวสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้ AIS อย่างมีนัยสำคัญ เรียกได้ว่า ติดปีกให้กับเจ้าตลาดผู้ให้บริการมือถือในไทยได้ต่อยอดธุรกิจอย่างก้าวกระโดดด้วยความพร้อมของกัลฟ์ทั้งในด้านเงินทุนและเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวาง

อีกทั้งยังมี สิงเทล (Singtel) ยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ ที่ถือหุ้นใน AIS มายาวนาน จากข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ AIS มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 40.44% และ Singtel Strategic Investments Pte. Ltd. จำนวน 23.31%

หลังจากที่ กลุ่มกัลฟ์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน อินทัช เพียงไม่กี่เดือน ก็เห็นผลเชิงธุรกิจทันที เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 GULF ได้ลงนามร่วมพัฒนาธุรกิจกับ Singtel และ AIS รุกพัฒนาธุรกิจ Data Center ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้ง 3 บริษัท โดย GULF มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ และเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวาง

ขณะที่ AIS มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจ Data Center หลายแห่งในประเทศไทย รวมถึงมีประสบการณ์ในการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรมากมาย และ Singtel มีประสบการณ์และความชำนาญในด้านเทคโนโลยีสำหรับ Data Center และมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและหลากหลายทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ระดับโลก

บันไดขั้นที่ 2 ของ AIS เดินเกมธุรกิจ 5G อย่างแยบคาย โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า บอร์ดบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ได้ตัดสินใจเลือกให้ AIS เป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ โดย NT จะแบ่งคลื่น 700 MHz ให้ AIS ครึ่งหนึ่ง หรือ เป็นจำนวน 5 MHz (ตามที่บริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 700 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในย่านความถี่ 738-748 MHz คู่กับ 793-803 MHz ด้วยราคา 34,306 ล้านบาท จาก กสทช.)

ดีลนี้ AIS ยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกสองตัว คือ สกัดผู้เล่นอย่าง NT ให้ออกไปจากตลาดโดยปริยาย ด้วยปริมาณคลื่น 5G ที่ NT มีเหลือน้อยจนไม่สามารถแข่งขันได้ ลดจำนวนคู่แข่งในตลาดโทรคมนาคมไทยให้เหลือน้อยลง และ AIS ยังนำคลื่นของ NT มาต่อยอดธุรกิจ 5G ส่งผลให้ AIS เป็นเจ้าเดียวที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุดในประเทศ ทิ้งห่างจากคู่แข่งอย่างทรูและดีแทคที่แม้จะควบรวมธุรกิจได้สำเร็จก็ตาม อ่านเกมธุรกิจนี้ของ AIS ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ใคร คือ ผู้ยึดครองตลาดโทรคมนาคมไทยตัวจริง

บันไดขั้นที่ 3 ของ AIS กับ ความเคลื่อนไหวล่าสุด กับ เกมธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดย AIS ได้แจ้งรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับ ที่ประชุมบอร์ด เอไอเอส มีมติอนุมัติให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (“AWN”) เข้าซื้อหุ้น ในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (“TTTBB”) จำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 99.87% จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (“JAS”)

โดย AWN จะทำการขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว จาก กสทช. ก่อน และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งหากดีลเทกโอเวอร์ครั้งนี้สำเร็จ ก็จะทำให้ AIS ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ ยึดครองตลาดบรอดแบนด์อย่างสมบูรณ์ในทันที ด้วยฐานลูกค้าทั่วประเทศที่ใหญ่และมากที่สุดในอุตสาหกรรม ที่ประมาณ 5.55 ล้านราย (จากรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 JAS มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์รวม 3.68 ล้านราย และ AIS มีจำนวนลูกค้าบรอดแบนด์รวม 1.865 ล้านราย) มากกว่า ทรูออนไลน์ ที่มีจำนวนลูกค้าบรอดแบนด์ 4.7 ล้านราย ณ ไตรมาส 1 ปี 2565

หากวิเคราะห์ให้ลึกจะเห็นว่า บันได 3 ขั้นของ AIS เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงราวๆ 1 ปีเท่านั้น หลังจากที่ GULF ได้เข้ามาสู่วงการโทรคมนาคม เสมือนติดปีกให้ AIS เดินเกมยึดตลาดโทรคมนาคมไทยได้อย่างแข็งแรงและรวดเร็วตามแนวยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจของ GULF ที่มีฐานกำลังแข็งแกร่ง ทั้งเงินทุนและเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวางในหลายอุตสาหกรรม แต่ที่น่าสนใจคือ ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจทั้งหมดนี้ อยู่ในช่วงเวลาที่สอดคล้องเหมาะเจาะกับยุคเปลี่ยนผ่านที่ธุรกิจทั่วโลก รวมถึงภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และขับเคลื่อนให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อความอยู่รอดและแข็งแกร่งได้พอที่จะลงสนามแข่งขันกับบรรดาธุรกิจข้ามชาติที่แผ่ขยายสินค้าและบริการไปทั่วโลกได้แบบไร้พรมแดน

แม้ว่าการเทกโอเวอร์ 3BB ของ AIS จะยังต้องรอการพิจารณาจาก กสทช. ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นที่ท้าทายการกำกับดูแลของภาครัฐ ว่าจะสามารถควบคุมและดูแลอย่างสมดุลทั้งในด้านประโยชน์ของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่จะอยู่รอดและแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลกได้หรือไม่ ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักวิจัย TDRI นักวิชาการ รวมถึง สภาองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็น่าจะต้องเข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มข้นและจับตาดีลนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ต่างกับที่ได้วิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ดีลการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคเอาไว้ก่อนหน้านี้

Source