“ซิตี้แบงก์” ดันดิจิทัลแบงก์กิ้งหนุนภาคธุรกิจ EV ไทย ผนึก “BOI” และ “EVAT” ผลักดันการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

Automobile production line. Welding car body. Modern car assembly plant.

ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย นำเสนอแนวทางการบริการด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง เพื่อสนับสนุนการลงทุนทางธุรกิจด้านตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยสำหรับลูกค้าองค์กรและสถาบัน บนพื้นฐานแนวคิดการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG โดยซิตี้แบงก์ในฐานะสถาบันทางการเงินชั้นนำที่มีเครือข่ายทั่วโลก พร้อมเป็นสื่อกลางที่มาช่วยจัดการและสนับสนุนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าสูงสุด ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หลังจากข้อมูลพบว่าแนวโน้มของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นตลาดที่มีศักยภาพสามารถดึงดูดนักลงทุนจากทุกมุมโลก ล่าสุดจัดงานเสวนา “Navigating Thailand EV Ecosystem with Citi” โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) มาร่วมเผยข้อมูลเชิงลึกด้านการลงทุนและแนวโน้มของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

นางสาวราฟาเอล อิราสมุส หัวหน้าสายงานพัฒนาองค์กรและความยั่งยืน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยว่า ในปัจจุบันแนวคิดความยั่งยืนหรือ ESG เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทย มีการนำเอาแนวคิดนี้มาเป็นหลักในการลงทุนอย่างแพร่หลาย โดยจากข้อมูลที่ซิตี้แบงก์ได้ทำการสำรวจลูกค้านักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับ ESG เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่ากว่า 90% มีการนำเอา ESG มาใช้ในแผนการลงทุน และส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการทำ ESG โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยกว่า 65% มุ่งเน้นไปที่การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกกำลังผลักดันเพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังสังคมแบบ Zero-Carbon ในอนาคต ทั้งนี้ ซิตี้แบงก์ในฐานะธนาคารระดับโลกที่มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมเป็นสื่อกลางการลงทุนของลูกค้าองค์กรและสถาบัน ที่จะช่วยจัดการและสนับสนุนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าสูงสุด

ด้าน นางสาวสเตลล่า โช, หัวหน้าฝ่ายลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า  การก้าวเข้าสู่การแข่งขันในตลาด EV โลกถือว่าเป็นภารกิจใหม่ที่ท้าทาย แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ที่มุ่งผลักดันกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจาก 2% ในปัจจุบันเป็น 30% ภายใน 8 ปีข้างหน้า อีกทั้งตลาดยานยนต์ไทยที่มีความแข็งแรงโดยพื้นฐาน โดยมีมากกว่า 1,000 บริษัทที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศน์ทางธุรกิจของยานยนต์ EV  ซึ่งซิตี้แบงก์มองว่าเป็นสัญญาณการเติบโตที่ดีของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในไทย และพร้อมสนับสนุนลูกค้าที่มีความสนใจลงทุนในกลุ่มธุรกิจนี้ บนพื้นฐานการลงทุนอย่างยั่งยืน ด้วยสภาวะในปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตหลายอย่าง ทั้งจากโลกระบาดและวิกฤตสิ่งแวดล้อม ซิตี้มุ่งมั่นที่จะก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปพร้อมกับลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นที่จะทำให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเช่นกัน โดยปัจจุบันซิตี้มุ่งเป้าระดมทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน

นายประกาศิต เพิ่มนาค ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริการบริหารเงินสดเพื่อธุรกิจ บริการการค้าระหว่างประเทศและสินเชื่อการค้า ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า การมาถึงของโลกดิจิทัล (Digitalization) ส่งผลต่อห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจยานยนต์รวมถึงยานยนต์ EV ในแง่มุมของสินค้าและบริการ ทั้งรูปแบบ B2B และ B2C  ซึ่งซิตี้แบงก์ได้มีการจัดสรรบริการทางการลงทุนเพื่อสนับสนุนลูกค้าองค์และสถาบันที่กำลังมองหาโอกาสการลงทุนในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยการนำเสนอการบริการที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจร (end-to-end service) แบ่งออกเป็น 2 บริการหลัก ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการการเงิน (Cash Management) และการบริการด้านการค้า (Trade Service) ในรูปแบบการบริการดิจิทัลแบงก์กิ้ง มุ่งเน้นเชื่อมโยงกับช่องทางการลงทุนแบบ Omnichannel เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล และในขณะเดียวกันยังคงสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนด้านซัพพลายเชนที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่งทางการเงินที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า สำหรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เรียกได้ว่ากำลังเป็นที่น่าจับตามอง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต โดยข้อมูลการเติบโตของตลาด EV ในไทยระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2564 พบว่าอัตราการจดทะเบียนยานพาหนะไฟฟ้าชนิด BEV หรือยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่เติบโตขึ้นกว่า 35 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งประเภทของยานพาหนะไฟฟ้าที่มีการจดทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์และรถยนต์ ทั้งในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV, PHEV และ HEV ล่าสุด ภาครัฐได้กำหนดนโยบาย 30/30 ตั้งเป้าการผลิต ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2573 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และแหล่งลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก โดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะ ตั้งเป้าไว้ที่ 725,000 คัน

ประกอบกับเพื่อกระตุ้นให้ครัวเรือนมีความต้องการใช้รถ EV และให้ภาคธุรกิจหันมาลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทางภาครัฐจึงได้มีการร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึง BOI เพื่อออกนโยบายสำหรับสนับสนุนธุรกิจ EV ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการลดหย่อนภาษี การส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนการผลักดันการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้เกิดการผลิตและการลงทุน EV ในประเทศไทยอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายกว่าการผลักดันยานยนต์ ICE (รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน) แต่ด้วยพื้นฐานตลาดยานยนต์ที่แข็งแรงในประเทศไทย จึงเชื่อว่าการผลิตและส่งออกรถ EV จะไปถึงเป้าหมายตามที่ทางภาครัฐวางไว้ได้ไม่ยาก จากผลการสำรวจล่าสุด พบว่าคนไทยกว่า 40% จะเลือกซื้อรถ EV ในการซื้อรถครั้งต่อไป บวกกับการที่ตลาดยานยนต์ครองพื้นที่ถึง 56.6% ของตลาดในไทย ทั้งยังมีโครงสร้างซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง โดยชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศมากกว่า 80% จึงเชื่อมั่นว่าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทยจะมีอัตราการแข่งขันที่สูสีกับตลาดต่างประเทศได้อย่างแน่นอน นายชนินทร์ กล่าวสรุป

Plugged in charger into an electric car at charge station

ด้าน นายสรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ อุปนายกฯ ฝ่ายอุตสาหกรรม สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ได้กล่าวเพิ่มเติม ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของตลาด EV โลก พบว่าเทรนด์ทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโต ในขณะที่การใช้ยานยนต์ ICE แบบดั้งเดิมกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยคาดว่าอัตราการใช้รถ ICE จะลดลงมากกว่า 2 เท่าภายในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งประเภทยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือยานยนต์ขนาดเล็ก ในปี 2563 อัตรายานยนต์ประเภท 2 ล้อ และ 3 ล้อทั่วโลกอยู่ที่ 260 ล้านคันโดยประมาณ คิดเป็นกว่า 44% ของรถ EV ทั้งหมด และคาดว่าในปี พ.ศ. 2593 รถ EV ชนิด 2 และ 3 ล้อ จะครองส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้าถึง 98% สำหรับข้อมูลในประเทศไทย พบว่ามีการตั้งเป้าจำนวนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าประเภทมอเตอร์ไซค์ไว้ที่ 650,000 คันต่อปี และ 675,000 ต่อปี สำหรับการผลิต ซึ่งครองอัตราส่วนการใช้งานและผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดไทยสูงที่สุด โดยคาดว่าจะบรรลุเป้าภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี ปัจจุบัน ประเทศผู้นำตลาด EV โลกได้แก่ จีน และยุโรป สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่วางแผนจะผลักดันธุรกิจ EV ภายในปีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแนวโน้มตลาด EV ในไทยมีทิศทางที่ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวโน้มตลาดโลก

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย หรือ www.citibank.co.th