ห้างไซส์เล็ก แต่ยิ่งใหญ่ แม็กซ์แวลู ลูบคมท็อปส์

เมื่อกฎหมายผังเมืองเป็นเหตุ ควบคุมค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่สามารถเปิดสาขาที่มีขนาดเกิน 1,000 ตารางเมตรได้โดยง่าย “มินิ ซูเปอร์มาร์เก็ต” แบบเชนซึ่งใช้พื้นที่เพียง 100-300 ตารางเมตร ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง จึงผุดสาขาเกลื่อนเมือง แม้จะเป็นคนละรูปแบบกับคอนวีเนียนสโตร์ แต่มินิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ก็คือผู้ท้าชิงสำคัญในแง่ของโลเกชั่นและความสะดวกสบาย ทั้งยังตอบสนองผู้บริโภคได้ดีกว่า โดยเฉพาะในส่วนของ “อาหารสด”

เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล (CFR) ในฐานะเจ้าตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตเมืองไทยและมีถึง 4 แบรนด์ คือ ท็อปส์ เดลี่ ท็อปส์ ท็อปส์ มาร์เก็ต และเซ็นทรัลฟู้ด ฮอลล์ แต่แบรนด์ที่คาดว่าเป็นดาวรุ่งและจะกลายเป็นขุมทรัพย์หลักของ CFR คือ ท็อปส์ เดลี่ คือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กใช้พื้นที่เพียง 100-300 ตารางเมตรเท่านั้น แม้จะมียอดใช้จ่ายต่อบิลต่ำเพียง 200 บาท แต่ด้วยความถี่ในการใช้บริการ และจำนวนสาขาที่จะเปิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันมี 102 สาขา (ปี 2554 ตั้งเป้าเปิด 100 สาขา) ปี 2555 ลุยเปิดอีก 200 สาขา และภายใน 4 ปีจะมี 1,000 สาขา

ดังนั้นสัดส่วนยอดขายของท็อปส์ เดลี่ จากปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 8% จะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า โดยท็อปส์ เดลี่มีสาขาทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ทั้งแบบสแตนอโลนตามชุมชน เช่น โชคชัยสี่ พระโขนง และเปิดตามคอมมูนิตี้ มอลล์

ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บอกว่า “เซ็กเมนต์นี้แตกต่างจากร้านสะดวกซื้อ เพราะผู้บริโภคมองเราเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต เขาต้องการสินค้าขนาดปกติและขนาดใหญ่สำหรับใช้ในครัวเรือน ดังนั้นเราจึงไม่มีสินค้าขนาดเล็กพิเศษแบบที่ร้านสะดวกซื้อจำหน่าย”

เธอมั่นใจว่าแต้มต่อของท็อปส์คือ สปอต รีวอร์ด การ์ด ซีอาร์เอ็มที่วางพื้นฐานมานานกว่าใครและพัฒนาด้านคุณภาพของการจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาชิก 5.1 ล้านคน แอคทีฟ 80% และมีลูกค้าระดับพรีเมียมซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วน 35%

อย่างไรก็ตาม การอัพเกรดของไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 2 รายนั้น คือ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า และบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า ส่งผลกระทบต่อซูเปอร์มาร์เก็ตโดยตรง

ถึงแม้ว่าผู้บริหารจะบอกว่าท็อปส์ไม่กลัวเอ็กซ์ตร้า เพราะมั่นใจในคุณภาพ ความสดและความหลากหลาย ทำให้มีลูกค้าพรีเมียมในมือ โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่มีสัดส่วนเฉลี่ยทุกรูปแบบ 20% ขณะที่เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ซึ่งพรีเมียมที่สุดมีสัดส่วน 30-35%

แต่คู่แข่งที่มาแรงในขณะนี้ อย่าง แม็กซ์แวลู (Maxvalu) จากอิออนที่ตีโอบจากพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตก่อนเข้ามาปักหลักใจกลางเมืองด้วยรูปแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ต ที่พัฒนาขึ้นในไทย ภายใต้ชื่อ “แม็กซ์แวลู ทันใจ” จัดเป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขยายตัวสูงสุดตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา กลายเป็นแบรนด์หลักของอิออน กรุ๊ป ที่จะบุกตลาดค้าปลีกไทยแทนที่จัสโก้ซึ่งทยอยปิดตัวลงไปหลายสาขาแล้ว

แมกซ์แวลู ทันใจ ให้บริการ 24 ชั่วโมง เปิดบริการแล้วกว่า 10 สาขาใจกลางกรุง ทั้งซอยสมคิด ชิดลม หลังสวน สีลม เอราวัณ วิลล่า ราชเทวี อโศก ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น Prime Location ที่อยู่อาศัยและแหล่งช้อปปิ้งระดับไฮเอนด์ เรียกได้ว่าเป็นแบรนด์ที่กลมกลืนและดูเป็นหน้าเป็นตาให้กับสถานที่แห่งนั้นๆ ได้อีกด้วย

มาทีหลังแต่จัดหนัก และดูท่าทีว่าโอกาสของแม็กซ์แวลู ทันใจ ยังมีอีกมาก ตามการเติบโตของคอนโดมิเนียมและคอมมูนิตี้มอลล์

มูลค่าตลาดค้าปลีก 680,000 ล้านบาท เติบโต 6.4% (ไม่รวมอาหารสด
โดยปกติสัดส่วนยอดขายอาหารสดคิดเป็น 20% ของยอดขายค้าปลีกแต่ละแห่ง)
เทรดดิชั่นแนลเทรด 55%
โมเดิร์นเทรด 45%
สัดส่วนค้าปลีกโมเดิร์นเทรดมูลค่า 306,000 ล้านบาท (by format)
ซูเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาร์เก็ต 58% +6-7%
คอนวีเนียนสโตร์ 42% +17%